พระบิดากฎหมายไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

พระบิดากฎหมายไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

พระบิดากฎหมายไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

พระบิดาหรือองค์บิดากฎหมายไทยเป็นสมัญญานามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สมัญญานามนี้เกิดขึ้นในงานรำลึกบุคคลผู้มีคุณูปการแก่วงการกฎหมายไทย จัดโดยเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ.2497 จากนั้น พ.ศ.2505 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดวันรพีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2505 ถึง พ.ศ.2507 จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์รูปเหมือนของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าศาลยุติธรรม (ศาลฎีกาที่สนามหลวงในปัจจุบัน)

พระราชประวัติส่วนพระองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2417 เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงเป็นลำดับที่ 2 ของเจ้าจอมมารดาตลับ

Advertisement

ด้านการศึกษา

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเจริญวัยขึ้น ได้ทรงศึกษาอักขระภาษาไทยเบื้องต้นกับพระยาศรีสุนทรโวหาร จบแล้วทรงศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้นที่สำนักของครูบาบู รามซามี พ.ศ.2427 เข้าเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และ พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระราชโอรสไปศึกษาวิชาความรู้ยังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยมีพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ และเจ้าพระยายมราช (ขุนวิจิตรวรสาสน์) เป็นผู้พาไปส่งยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน

การศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ 2 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2434 ขณะที่มีพระชันษาได้ 17 ปี ทรงสอบความรู้ผ่านเข้าเรียนวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christchurch College) ทรงใช้เวลาศึกษาวิชากฎหมายเพียง 3 ปีก็สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา Bachelor of Arts.Hons. (B.A.) เกียรตินิยม

Advertisement

เสด็จกลับถึงประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2437 ได้เริ่มเข้ารับราชการที่กรมราชเลขานุการ และทรงค้นคว้ากฎหมายอย่างจริงจังจากตำรากฎหมาย และคำพิพากษาฎีกา ทำให้มีความเชี่ยวชาญทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ

คุณูปการแก่วงการกฎหมายไทย

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจให้กับวงการกฎหมายอย่างอเนกอนันต์ คือ โรงเรียนกฎหมาย และการปฏิรูปการศาล

โรงเรียนกฎหมาย

การตั้งโรงเรียนกฎหมายมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามหลังจากพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2440 โดยมีเจ้าพระยาอภัยราชา (มองซิเออร์ กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์) เนติบัณฑิตชาวเบลเยียม เป็นผู้ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ โรงเรียนกฎหมายนี้ทรงเป็นอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง

สืบเนื่องจากโรงเรียนกฎหมายได้มีการจัดสอบเนติบัณฑิตในปีนั้น ปรากฏว่ามีผู้สอบได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นหนึ่ง 4 คน และเนติบัณฑิตชั้นสอง 5 คน ซึ่งการสอบเป็นเนติบัณฑิตไทยยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

การปฏิรูปการศาล

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงปฏิรูปการศาลไทยที่สำคัญ คือ

1.ระบบศาลและเขตอำนาจศาล ทรงปรับปรุงประเภทและจำนวนศาลที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับภารกิจจำนวน 14 ศาล และมีระบบศาลพิเศษอีก 2 ระบบ คือ ระบบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา และระบบศาลรับสั่งพิเศษ

2.ด้านการพิจารณาความ ทรงยกเลิกจารีตนครบาลที่ถือว่าใครเป็นผู้ต้องหาต้องเป็นผู้ร้าย มีการเฆี่ยนตีในการสืบพยาน และยกเลิกวิธีจับญาติพี่น้องผู้ต้องหามาเป็นตัวจำนำ

3.ความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทรงปรับปรุงระบบการฎีกาให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน เรื่องใดควรฎีกาหรือไม่ควรฎีกา และเร่งรัดการพิจารณาคดีในศาลทุกระดับชั้นให้รวดเร็วขึ้น

4.ความทุจริตของคู่ความและผู้พิพากษา เนื่องจากข้าราชการในสมัยนั้นไม่มีเงินเดือน รับแต่เบี้ยหวัด ซึ่งจ่ายเพียงปีละครั้ง และมีจำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงตนเองกับครอบครัว ทรงปรับปรุงให้ข้าราชการและผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีขึ้น ทำให้แก้ไขปัญหาความทุจริตได้

5.ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี แต่เดิมอำนาจตุลาการ และอำนาจฝ่ายบริหารยังมิได้แยกกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นปัญหาความเป็นอิสระของการพิจารณาคดี โดยทรงปฏิรูปการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และการพิจารณาคดีมีความสะดวกยิ่งขึ้น

6.เอกราชทางการศาล จากข้อกล่าวหาของต่างชาติที่อ้างว่ารัฐบาลไทยใช้การกดขี่ ขาดความเที่ยงธรรมในการตัดสินคดี จึงไม่ยอมขึ้นศาลไทย เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”

ต่อมาพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบการพิจารณาของศาลให้เป็นสากล สามารถแก้ไขและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในที่สุด

ฎีการาชบุรี

นอกจากพระราชประวัติของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ที่ปรากฏในงานวิชาการด้านกฎหมายทั่วไปแล้ว ยังมีผลงานสำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือการเขียนคำพิพากษา คือ “ฎีการาชบุรี” ซึ่งในแต่ละปีทรงเป็นเจ้าของสำนวนและทรงเป็นองค์คณะในคำพิพากษารวมหลายร้อยคดี

ตัวอย่างคำพิพากษาที่กรมหลวงราชบุรีทรงเป็นเจ้าของสำนวน

คำพิพากษาที่ 10 ปี ร.ศ.117

คดีระหว่าง เล็ก โป๋ แฉ่ง โจทก์ คล้าย จำเลย คดีนี้กรมหลวงราชบุรีทรงวางหลักกฎหมาย เรื่องอายุความมรดกว่า “กำหนดเวลา 1 ปี ในมรดกกินความถึงระยะเวลาที่ยังเป็นเด็กในเวลาที่บิดามารดาถึงแก่กรรม และถ้าหาได้ละทิ้งที่มรดกไม่ ถึงเกินกำหนด 1 ปี ก็ฟ้องแบ่งได้”

คำพิพากษานี้แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม มิใช่ยึดบทบัญญัติในกฎหมายเพียงสถานเดียว

คำพิพากษาที่ 156 ปี ร.ศ.118

คดีนี้ทรงวางหลักกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเกี่ยวกับองค์คณะผู้พิพากษาไว้ กล่าวคือ คดีดังกล่าวพระยาราชพงษานุรักษ์และนายเต็กเป็นผู้พิพากษา แต่หลวงสมัครลงชื่อแทนพระยาราชพงษนุรักษ์ข้าหลวงพิเศษ กรมหลวงราชบุรีทรงวินิจฉัย “หน้าที่ตุลาการไม่เหมือนหน้าที่อื่น เมื่อพระยาราชพงษานุรักษ์นั่งพิจารณาไม่ได้จะหาผู้อื่นมาทำหน้าที่แทนไม่ได้เหมือนกัน เพราะดังนี้ความที่ได้ชำระมาก็เหมือนกับนายเต็กผู้เดียวได้พิจารณา จำเลยจึงไม่มีอำนาจฎีกาอยู่เอง ให้ส่งสำนวนลงไปยังศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษพิจารณาต่อไป”

คำพิพากษานี้สอดคล้องกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 26 และ 29 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ องค์คณะของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และการทำคำพิพากษาจะมอบให้ผู้อื่นทำแทนไม่ได้

คำพิพากษาที่ 214 ปี ร.ศ.118

คดีระหว่าง อำแดงท้อ อำแดงเชย อำแดงอุ่ม โจทก์ จีนคูอาน จำเลย กรมหลวงราชบุรีทรงวินิจฉัยว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบคำที่ใช้ในคำพิพากษา (ของศาลแพ่งผู้เขียน) นั้น เพราะยกสัญญาขึ้นเป็นข้อบังคับใหญ่โตเกินไป คือยกสัญญานั้นขึ้นเป็นข้อบังคับชั่วกัลปาวสาน ไม่มีทางใดที่จะแก้ไขข้อความฤาทำลายข้อสัญญานั้นได้เลย ผิดกับความประสงค์ของการที่เป็นไปทุกวัน สัญญานี้ใช้ได้แต่ในระหว่างผู้ที่ลงชื่อด้วยกันเท่านั้นเองจะมัดลูกหลานเหลนต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุฉะนี้ในระหว่างโจทก์แลจำเลยที่ไม่ได้เป็นผู้ลงชื่อฝ่ายใด จะขอให้อ้างข้อความในสัญญานี้เป็นข้อบังคับไม่ได้”

แนววินิจฉัยนี้ พ.ศ.2540 ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสอดคล้องต้องกันในการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน

จากตัวอย่างคำพิพากษาทั้งสามนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและทรงมีปัญญาลึกล้ำในการคิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล อันเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกฎหมายในทุกภาคส่วน

กิจกรรมร่วมรำลึก

วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เรียกว่า “วันรพี” นักกฎหมายและผู้ที่อยู่ในวงการกฎหมาย ต่างร่วมจัดกิจกรรมวางพวงมาลาหน้าพระรูปของพระองค์ท่านที่ศาลจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนติบัณฑิตยสภาชวนเชิญร่วมวางพวงมาลา หน้าพระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ณ ศาลฎีกา สนามหลวง (สถานที่เดิม ภายหลังปรับปรุงบริเวณแล้ว)

กำหนดเวลาตั้งแต่ 07.00-10.00 น. จะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ และที่เนติบัณฑิตยสภา ถนนกาญจนาภิเษก มีการจำหน่ายหนังสือกฎหมายของสำนักพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 3-9 สิงหาคม ศกนี้

อนึ่ง มีกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหากฎหมายระดับมัธยมศึกษาชิงทุนการศึกษา จัดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ขอเชิญโรงเรียนมัธยมศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กรุงเทพมหานค

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image