พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน นั่งสมาธิส่งกระแสจิตไปดูเจ้าคุณอุบาลีฯ และจำพรรษาที่วัดสระปทุม (8) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ตอนนั่งสมาธิส่งกระแสจิตไปดูเจ้าคุณอุบาลีฯ : เมื่อรุ่งเช้าวันนั้นเป็นวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันปลอดโปร่งที่สุดแล้ว ท่านคงบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามปกติ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านนั่งกำหนดพิจารณาความละเอียดอยู่ในถ้ำสิงโตนั้น ได้ระลึกไปถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ณ ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ว่า ท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่วัดนั้นก็ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง บนธรรมาสน์ ในเวลานั้นเป็นเวลาราว 23.00 น.เศษ นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และกำลังพิจารณาถึง
ปฏิจสมุปบาทว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปทาน อุปทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อเป็นชาติก็ต้องมีราชา มรณโสกะ ปริเทวะ โทมนัสสะ โทมนัสสะ อุปายาสะ และการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์นี้เหตุมาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อยังมีชีวิตอยู่ตราบใด ก็จะต้องมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตราบนั้น

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็ได้คำนึงถึงพระพุทธเจ้า ที่ทรงพิจารณาถึงปฏิจสมุปบาทว่า พระองค์ท่านได้ทวนกระแสกลับดูตัวอวิชชา ท่านจึงได้เริ่มทวนกระแสว่า เพราะเหตุใดท่านจึงต้องแก่ ตาย โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้รำพัน คับแค้นแน่นใจ เพราะความพลัดพรากจากของชอบใจ พลาดหวัง ท่านได้พิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะได้เกิดมาเป็นอัตภาพแห่งมนุษย์ จะต้องประสบความเป็นเช่นนี้ทุกคน อัตภาพ คือ ความเกิดขึ้นมาจากอะไร ก็มาจากภพ คำว่า ภพ ก็คือ สัตว์ทั้งหลายที่พึงอาศัยอยู่ ขณะนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในภพ ซึ่งมันเป็นผลมาจากอะไรก็เป็นผลมาจากอุปาทาน คือ ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตเศร้าหมองติดพันอยู่กับสิ่งใด ด้วยเหตุแห่งการยึดมั่น จิตก็จะไปก่อกำเนิด ณ ที่นั้น เช่น บุคคลที่ทำจิตไปในทาง ฌาน เพ่งอยู่ในความละเอียด คือ ไม่มีรูป ก็จะไปเกิดในภพเป็นอรูปภพ เพ่งอยู่ในความละเอียดในรูป ก็จะไปเกิดในภพ คือ รูปภพ และถ้าได้ฝึกจิตเป็นธรรมดา ก็จะไปเกิดในกามภพ เช่น มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต นรก เป็นต้น สุดแล้วแต่จิตจะไปประวัติกับอะไร ก็จะไปถือกำเนิดในสิ่งนั้น สุดแต่กรรมของตนที่จะประวัติเห็นดีไป ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็พิจารณาไป ก็ได้ถอยกลับมาจากที่ว่า ก่อนอุปาทานนี้มาจากอะไร คือ มาจากตัณหา คือ ความทะเยอทะยานอันความทะเยอทะยานนี้ คือ กามตัณหา ทะเยอทะยานในกามคุณ คือ ความใคร่ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ความทะเยอทะยานในภาวะ คือ ความมีความเป็น ต้องการอยากรูปสวยรวยทรัพย์ ต้องการอยากเป็นคุณหญิงคุณนาย ต้องการอยากมียศถาบรรดาศักดิ์ ทะเยอทะยานในวิภาวะ คือ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น คือ ไม่อยากมีความทุกข์ ความอดอยากปากแห้ง ไม่อยากเสื่อมจากยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ตนกำลังเฟื่องฟูอยู่ ความทะเยอทะยานเหล่านี้ก็มาจากเวทนา คือ ความเสวยทุกข์ เสวยสุข ทุกข์ที่เกิดเป็นขึ้นมาแล้ว และได้รับผลอยู่ทุกกาลเวลาแห่งความเกิดขึ้น ได้รับอันเนื่องมาจากความได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ขณะที่เสวยทุกข์นั้น ก็ต้องการแต่ความสุข เป็นต้น แต่ผลหาได้มีแต่ความสุขไม่ต้องมีทุกข์ด้วย ความเสวยสุขเสวยทุกข์นี้เนื่องมาจาก อายตนะ คือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธัมมารมณ์ เช่น มีตาไปเห็นรูป ก็เกิดความสุขทุกข์ หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจกระทบอารมณ์ เกิดความสุขทุกข์ ก็นับเนื่องมาจากนามรูป เพราะนามกับรูปที่ก่อกำเนิดขึ้นมาเป็นคน คนเรานี้มีนามกับรูป จึงจะเป็นตัวขึ้นมาได้ ท่านเจ้าคุณ
อุบาลีฯ ท่านได้พิจารณาถอยรุ่นปฏิจจสมุปบาท มาจนถึงรูปนามนี้แล้ว ท่านเกิดความสงสัยว่า ถอยจากรูปนามยังมีวิญญาณและสังขาร แล้วจึงขึ้นต้นด้วยอวิชชา และวิญญาณสังขารนี้ก็มีแล้วในนามรูป เหตุไฉน จึงมามีสังขารและวิญญาณโดยเฉพาะของตัวมันอีก เมื่อท่านสงสัยแล้ว ก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น

อยู่มาวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม จ.ลพบุรี เพราะโดยปกติแล้วท่านจะไปที่นี่บ่อยๆ ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มาก จนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างกว่า 12 วา และวันนั้นเป็นวันที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้มาที่เขาพระงามตามปกติ ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯก็ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯมา ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯก็ได้ถามขึ้นว่า

เมื่อคืนวันที่ 10 ค่ำที่แล้ว คือ เดือน 8 นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 23.00 น. เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมา แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตนเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่นฯว่า “ก็ท่านอาจารย์ว่าอย่างไรเล่าที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม” ท่านอาจารย์มั่นฯจึงตอบว่า “ได้” แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า “ปฏิจจสมุปบาท ข้อที่ว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้น และในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกัน ดังนี้ คือ สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับ สังขาร-วิญญาณของนามรูป สังขารวิญญาณของนามรูปนั้นเป็น สังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม-วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม-วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระ อยู่ภายใต้อำนาจของ ‘กรรม’ มี ‘อวิชชา’ เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธานอาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะ
ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม-วิญญาณกรรม ทั้ง 2 นั้น สืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้ จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือ ให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้น เพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียดและพึงจะรู้จริงได้ คือ เมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความจริง ต้องมีตาภายใน คือ กระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้นที่จะเข้าไปรู้จริงได้”

Advertisement

เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า “อ้อเราเข้าใจแล้วท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการและแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง”

หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้น ท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านอาจารย์มั่นฯให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า…

ตอน มาจำพรรษาที่วัดสระปทุม กรุงเทพฯ : “ท่านอาจารย์มั่นฯเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้ว จึงไปศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ เถิดเธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่าน
อาจารย์มั่นฯ” ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้กล่าวเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายอยู่เสมอ ทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรม สนใจในท่านอาจารย์มั่นฯมากขึ้น ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน ในปีนั้นเป็น พ.ศ.2457 ท่านก็ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯให้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษา เพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม ท่านก็พยายามมาที่วัดบรมนิวาสทุกๆ วันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังธรรมแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็จะให้เข้าไปหาท่านอยู่ 2 ต่อ 2 และขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯตลอดระยะเวลาในพรรษา ในตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าว่า

Advertisement

“วัดสระปทุมมีอาจารย์สอนกัมมัฏฐานอยู่องค์หนึ่ง เป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ท่านสอนแบบอานาปานสติ คือ ให้ตั้งใจอยู่ที่ลม แล้วกำหนดตั้งใจ เช่น ครั้งแรกให้ตั้งอยู่ที่กระหม่อม เมื่อดีแล้วก็ลดลงมาที่หน้าผาก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่ปลายจมูก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่หน้าอก เมื่อดีแล้วก็ตั้งอยู่ที่สะดือ กำหนดลม พร้อมกับบริกรรมว่า พุทโธๆ ให้นับพุทธ 1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-20-30-40-50-60-70-80-90-100 แล้วทวนกลับ 100-90-80-70-60-50-40-30-20-10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 ทวนไป ทวนมา ท่านได้สังเกตดู คนบางคนได้รับความเย็นใจมากพอสมควร นับว่าเป็นทางที่เกิดความสงบได้ แต่ท่านเล่าว่ามันเป็นการเกินความจำเป็นที่จะกำหนดเช่นนั้น เพราะเมื่อเรามีความสงบแล้ว ก็ควรปล่อย แล้วรักษาแต่สติให้คงอยู่ ไม่ต้องนับแต่เมื่อท่านสังเกตดูเหตุการณ์แล้ว ท่านก็ไม่ว่าหรือตำหนิอะไรที่นั้น แม้เขาจะทำอยู่เช่นนั้น ก็ไม่เห็นบาปกรรมอะไร เป็นกุศลแก่เขาอย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อผู้ใดบำเพ็ญภาวนา ก็เป็นเหตุเป็นบ่อเกิดกุศลผลบุญอย่างที่บุคคลจะพึงกระทำได้ยาก การที่ท่านเดินไปวัดบรมนิวาสทุกวันพระนั้น แม้เส้นทางจากวัดสระปทุมดูเหมือนจะไกลมิใช่น้อย แต่กลับเป็นใกล้ เพราะขณะที่เดินไป ท่านภาวนาไปด้วย ในวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินไปนั้น กำหนดจิตสงบลง ปรากฏว่าเดินเหมือนกับแผ่นดินยุบลงไป แลดูไปทุกอย่าง ที่ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าตัวตนเดิน เหมือนกับชั่วอึดใจเดียวก็ถึงวัดบรมนิวาส

ในวันนั้นเป็นเวลากลางวัน ขณะที่ท่านเดินออกจากวัดบรมนิวาสไปถึงถนนหลวง ขณะที่กำลังเดินไปอยู่นั้น ท่านเล่าว่า เวลานั้นจิตกำลังดูดดื่มในอรรถปฏิบัติมากทั้งเดินไปทั้งเจริญอสุภกัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ขณะนั้นได้มองเห็นหญิงแขกคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ข้างหน้า ประเดี๋ยวเดียวผู้หญิงแขกคนนั้น ปรากฏว่ามีร่างกายอ้วนขึ้นทุกที นึกแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ก็ได้มองดูไปเรื่อยๆ หนักเข้ามันมิใช่อ้วนเสียแล้ว นั่นคือ ทั้งตัวกำลังพองเน่าขึ้นอึด อันจะให้เป็นของน่าเกลียดนั้นเอง พอมันขึ้นเต็มที่ของมันแล้วก็เปื่อยเน่า มีน้ำเลือดและน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แล้วมีพวกหมู่หนอนชอนไชและแมลงวันไต่ตอมไปมาน่า
เกลียดจริงๆ ในที่สุดเลือดเนื้อและหนังเอ็น ก็ได้เปื่อยเน่าย่อยยับไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกติดต่อกันไว้เท่านั้น แล้วก็ได้เห็นโครงกระดูกนั้นเดินไม่ได้ จะปรากฏเป็นชายหรือหญิง
ก็หาไม่ จึงได้เกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ก็เพราะท่านมิได้ตั้งใจที่จะพิจารณาให้ร่างกายนั้นเป็นอสุภอะไร เพียงลืมตามองดูธรรมดาๆ เท่านั้น แต่มันก็สามารถเป็นไปได้ จึงได้นึกถึงประวัติของพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล นัยว่าท่านกำหนดเอา กายคตาสติ เป็นอารมณ์เหมือนกัน วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่นั้น สามีภรรยาคู่หนึ่งเกิดทะเลาะกัน ฝ่ายภรรยาก็หลบหน้าสามีไป ได้เดินทางผ่านมาพบกับพระเถระองค์นั้นเข้า เบื้องต้นหญิงคนนั้นเข้าแล้ว ได้ปรากฏเห็นเป็นร่างกระดูกไปทั้งตัว แล้วก็เห็นเป็นร่างกระดูกเดินได้ จึงมิได้รู้จักว่าคนคนนั้น เป็นหญิงหรือชาย”

ครั้นเมื่อสามีเขาตามมาพบพระเถระแล้วถามท่านว่า ได้พบผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้หรือไม่ ท่านจึงบอกเขาไปว่าได้เห็นแต่ร่างกระดูกร่างหนึ่งเดินผ่านไป แต่ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย

ตั้งแต่วันนั้นต่อมา ท่านจึงได้รู้เรื่องว่า การเจริญอสุภ เมื่อเป็นไปแก่กล้าแล้วสามารถเห็นเป็นอสุภไปได้ทั้งนอกและใน จึงได้หมดความสงสัยในเรื่องนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าให้ฟังว่า “ตามข้างทางจากวัดบรมนิวาสไปวัดสระปทุมในสมัยนั้น เป็นทุ่งนาบ้าง เป็นสวนบ้าง แม้แต่ที่วัดบรมนิวาสเอง ก็มีแต่หนามหวายเกิดอยู่เต็มบริเวณ” (ติดตามตอน กลับไป จ.อุบลราชธานี…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image