ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน…ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (10)

นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา แกนนำ “กบฏแมนฮัตตัน” ไม่ขอกลับเข้าประเทศไทย ตั้งใจแฝงตัว ใช้ชีวิตในกลุ่มชาวมอญในพม่าตอนใต้ ใกล้เมืองมะละแหม่ง แต่งงานกับสาวมอญช่างเย็บผ้า

นายทหารแห่งราชนาวีไทยเป็นบุคคลที่มีความรู้ มีคุณค่าต่อชุมชนชาวมอญที่กำลังต่อสู้กับทหารพม่า มีชื่อมอญว่า “ซันเดิง” ได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.หน่วย หน่วยทหารมอญทำการสู้รบกับทหารพม่า….

อดีตนักเรียนกรุงเทพคริสเตียน อดีตผู้บังคับการเรือหลวงศรีอยุธยา ใช้ชีวิต 8 ปีในกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของชาวมอญ ในขณะที่นาวาตรี มนัส จารุภา แทรกซึมกลับเข้าไทยแล้วโดนรวบเข้าคุก

ข้อมูลที่ผู้เขียนไปสืบเสาะ “ตัวตน” ของนายทหารเรือท่านนี้ พบหนังสือ แปดฝนในเมืองมอญ ที่ท่านบันทึกไว้เพื่อชนรุ่นหลัง…

Advertisement

ผ่านมาเกือบ 70 ปี น้อยคนนัก จะเคยได้รับทราบ “บทสนทนา” ของกลุ่มทหารเรือก่อการแบบห้าวสุดขีด ถึงขนาดกล้าจับตัวนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน เพื่อขอต่อรอง ปลดคณะรัฐมนตรีที่แสนจะอื้อฉาว คาวด้วยเรื่องคอร์รัปชั่น…

ย้อนไป 29 มิถุนายน 2494 ราว 15.30 น. เมื่อ นาวาตรี มนัส จี้จับตัวจอมพล ป. บน “เรือขุดแมนฮัตตัน” และนำตัวท่านลงเรือโบ๊ต ไปควบคุมตัวไว้บนเรือหลวงศรีอยุธยาที่กำลังจอดอยู่ท่าวาสุกรี

นาวาเอก อานนท์ นาวาตรี มนัส ควบคุมตัวจอมพล ป. ไว้เพื่อเป็นตัวประกัน บุคคลทั้ง 3 เค้าคุยอะไรกัน…

Advertisement

จอมพล ป. ที่อยู่ในฐานะ “ตัวประกัน” เอ่ยปากถามว่า

“มีอะไรที่ผมจะช่วยคุณได้บ้าง?” นาวาเอก อานนท์ อธิบายตอบจอมพลกระดูกเหล็กให้ทราบเหตุผลที่ต้องจับตัวท่าน ซึ่งมิได้เป็นการกระทำเพื่อผู้ใด หรือเป็นเครื่องมือให้แก่ใครๆ ทั้งสิ้น

จอมพล ป. รับฟังคำอธิบายจาก นาวาเอก อานนท์ฯ และท่านเอ่ยว่า “…ขออย่างเดียวอย่าใช้ปืนเรือ…”

นาวาเอก อานนท์ฯ ให้ความเคารพ รับปาก ยืนยันว่าจะไม่ใช้อาวุธร้ายแรงดังที่ท่านจอมพลขอร้องไว้โดยเด็ดขาด

จอมพล ป. ถามถึงวิธีการเจรจาโดยสันติวิธีเพื่อหาทางออกว่า “กลุ่มทหารเรือ” ที่ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศครั้งนี้จะทำอย่างไรต่อไป..?

ในเวลานั้น คือ ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน พลเอก ผิน ชุณหะวัน ผบ.ทบ. พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ที่คุมกำลังตำรวจทั้งหมด เพิ่งทราบเหตุการณ์ ยึดอำนาจจากสถานนีวิทยุทหารเรือ ประกาศไม่ยอมเจรจากับทหารเรือที่ประกาศล้มรัฐบาล เร่งรีบกำลังจัดกำลังรบ เตรียมชิงตัวประกัน

จอมพล ป. ผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศ ถามต่อไป…” คุณมีสถานีส่งวิทยุในเรืออยู่แล้ว… เอาซี.. ผมจะพูดออกอากาศให้ในนามของนายกรัฐมนตรี และในตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

นาวาเอก อานนท์ฯ บันทึกในหนังสือว่า….

“…จอมพลแปลก พิบูลสงคราม มิได้เจรจาพาทีกับพวกเราอย่างเชลย แต่แสดงความคิดเห็นออกมาอย่างกับ ชายชาติทหาร พูดภาษาเดียวกับทหาร ไม่มีท่าทีร้อนรนหรือกระวนกระวายใจแม้แต่น้อย…”

“เรือศรีฯ (หมายถึง ร.ล.ศรีอยุธยา) มีเพียงเครื่องส่ง-รับวิทยุครับผม… เรากระจายเสียง (ข่าว) ออกจากเรือไม่ได้” อานนท์ฯ ตอบ

“งั้นก็อัดเทป… มีไหมล่ะ? แล้วนำออกไปกระจายเสียง” ท่านจอมพล ป. ออกความเห็น

นาวาเอก อานนท์ฯ ยังคงจำถึงอิริยาบถของท่านจอมพลและการโต้ตอบซักถามในระหว่างท่านกับตนได้อย่างที่ไม่มีวันที่จะลืม

เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป… จอมพล ป. กล่าวว่า …” ขอกระดาษให้ผมสักแผ่น..จะได้ร่างคำปราศรัย”

อีกราว 30 นาที เครื่องอัดเสียงก็มาถึงเรือหลวงศรีอยุธยา

จอมพล ป. ที่ถูกจับเป็นตัวประกันบนเรือ จรดปากการ่างคำแถลงการณ์ด้วยตัวเอง เพื่อจะอ่านอัดเสียงและส่งไปออกอากาศทางสถานีวิทยุ กองสัญญาณทหารเรือ อยู่บริเวณถนนพระราม 4 (พื้นที่ตรงนี้ต่อมาทหารบกยึดพื้นที่ สร้างโรงเรียนเตรียมทหาร)

นายกรัฐมนตรี อดีตนายทหารปืนใหญ่ ผู้สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ยังไม่ทราบว่า การประกาศยึดอำนาจครั้งนี้ ใครบัญชาการ จึงหันไปสอบถามว่า “คณะของคุณ?”

“คณะกู้ชาติครับผม” นาวาเอก อานนท์ฯ ตอบ.. จอมพล ป. หันกลับไปร่างแถลงการณ์ต่อ แล้วส่งต้นร่างคำปราศรัยมาให้นาวาเอก อานนท์ฯ

“คุณพอใจแล้วหรือยัง… จะเพิ่มจะเติมอย่างไรก็บอกมา… อ่านดูเสียก่อน” จอมพลกล่าว พร้อมทั้งยื่นกระดาษคู่ร่างมาให้อานนท์ฯ

นาวาเอก อานนท์ฯ ก้มกราบจอมพล ป. กล่าวขอบคุณ

คําปราศรัยของท่านจอมพลแปลกฯ ที่อ่านอัดเทป แล้วออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงที่กองสัญญาณทหารเรือนั้น เป็นคำประกาศของท่านจอมพลเองในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ร่างขึ้นด้วยตนเอง โดยมิได้มีการขู่เข็ญบังคับ หากแต่ท่านจอมพลมีเจตนารมณ์ที่จะมิให้เกิดนองเลือดในแผ่นดิน….

“คณะกู้ชาติ” จับจอมพล ป. มาเพียงเพื่อจะให้เปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลเท่านั้น

ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง… พอจะได้ข้อมูลว่า นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา นาวาตรี มนัส จารุภานาวาตรี ประกาย พุทธารี และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ คือแกนนำ ทั้งหมดอยู่ในเรือหลวงศรีอยุธยา ก่อนโดนทหารอากาศทิ้งระเบิดใส่

นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง อาสานำเทปเสียงจอมพล ป. ไปส่งสถานีวิทยุทหารเรือ ถนนพระราม 4

หลังจากรัฐบาลได้ฟังเสียงจอมพล ป. ทางวิทยุกระจายเสียง สถานการณ์ที่ขมุกขมัว สับสน เริ่มเกิดความกระจ่าง ประชาชนเริ่มอลเวง แตกตื่น นักเรียน ข้าราชการเผ่นกลับบ้าน…

ฝ่ายผู้ก่อการใช้สถานีวิทยุทหารเรือ ออกแถลงการณ์ตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ที่ถูกจับตัว

การยึดอำนาจทุกยุคสมัย เครื่องมือหลักที่ต้องใช้ คือ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ ที่ต้องเดือดร้อน ถูกทหารยึดทุกครั้งไป…

… ฝ่ายรัฐบาลประกาศกร้าว ไม่ยินยอมตามคำเรียกร้องของกลุ่มทหารเรือ รัฐบาลใช้สถานีวิทยุของ กรมการรักษาดินแดน (รด.) ตอบโต้และออกคำสั่งให้ นายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการนายกรัฐมนตรี

ประชาชนคนไทยงงเป็นไก่ตาแตก..นี่มันเล่นอะไรกันวะ ?

ทหาร ตำรวจ เริ่มเคลื่อนกำลังพล รถเกราะรถถัง ปืนใหญ่ ปรากฏเพ่นพ่านตามท้องถนนในพระนคร ปวงชนชาวไทยมีที่พึ่งเพียงอย่างเดียว คือ วิทยุกระจายเสียง คนไทยรุ่นก่อนเรียกว่า ฟังมวยตู้ และหนังสือพิมพ์รายวันที่ต้องอดทนคอยวันรุ่งขึ้น…

กระสุนนัดแรก ของสงครามกลางเมือง กบฏแมนฮัตตัน เกิดจากทหารเรือ 13 นาย นำกำลังไปยึดโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ตำรวจรถเกราะอันเกรียงไกรของ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ นำรถเกราะ “สแตกฮาวน์” (Staghound) จำนวน 3 คันที่ซื้อมาใหม่เอี่ยม เข้าตีกลุ่มทหารเรือที่ยึดโรงไฟฟ้า… ทหารเรือยิงโต้ตอบ แล้วถอนตัวหนี

ตัดตอนกลับมาที่ชีวิตของ นาวาเอก อานนท์ฯ ครับ

ต้องยอมรับว่า นาวาเอก อานนท์ฯ รักษาสัจจะที่ให้ไว้กับจอมพล ป. ว่าจะไม่ใช้ปืนเรือ ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงแต่อย่างใด เนื่องจากวันรุ่งขึ้น (30 มิถุนายน 2494) กองทัพอากาศส่งเครื่องบินกองทัพอากาศไทย 2 ลำ มาทิ้งระเบิดใส่ที่ตั้งของทหารเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาพังพินาศ ไฟไหม้หลายพื้นที่ รวมทั้งเรือรบอีก 1 ลำที่จอดอยู่หน้าคลังเชื้อเพลิงของกองทัพเรือจมไป 1 ลำ

ขณะที่บัญชาการอยู่บนเรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งหากจะใช้อาวุธบนเรือยิงอากาศยานของกองทัพอากาศไทยด้วยกัน ก็สามารถทำได้ หากแต่ความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ก่อหายนะทรัพย์สินของชาติ ไม่ต้องการความบอบช้ำแก่บ้านเมือง จึงไม่สั่งการให้ยิงปืนเรือแต่อย่างใด…

เมื่อเห็นว่าการยึดอำนาจส่อเค้าล้มเหลว เนื่องจากทหารเรืออีกหลายหน่วย “ไม่มาตามนัด” และที่เลวร้ายที่สุด คือ เรือหลวงศรีอยุธยา ที่ลอยเท้งเต้ง เป็นเป้านิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาโดนระเบิดจากเครื่องบินเต็มพิกัด ไฟลุกไหม้ นาวาเอก อานนท์ฯ และนาวาตรี มนัสฯ ยังมีน้ำใจสั่งการให้นายทหารเรือ 2 นายคือ เรือโท ชอบ ศิริวัฒน์ และเรือตรี มาโนช ทุมมานนท์ พาจอมพล ป. กระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา ว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งรอดตายจากกระสุนของทหารบก ตำรวจ ที่ประเคนใส่เรือหลวงศรีอยุธยาเหมือนห่าฝน

เมื่อขึ้นฝั่งรอดตาย จอมพลชาวนนทบุรีถึงกับรำพึงถึง “การคิดเล่นไม่ซื่อ” ของฝ่ายปราบที่ไม่สนใจชีวิตตัวประกัน

ชีวิตของ จอมพล ป. ในฐานะตัวประกันที่มีค่าสูงสุดในเวลานั้น ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระโดย นาวาเอก อานนท์ฯ ซึ่งถ้ากลุ่มผู้ก่อการจะ “ใจดำอำมหิต” ลั่นไกสังหารจอมพล ป. โยนทิ้งแม่น้ำ ก็คงเป็นเรื่องขี้ผง

หากแต่ นาวาเอก อานนท์ฯ นาวาตรี มนัสฯ และนายทหารอีก 2-3 นายก็ยังมีมโนธรรม มิได้จองล้าง อาฆาตไปไกลถึงขนาดนั้น

ผู้เขียนเอง ก็มิได้มีวาสนาฐานะอะไรที่จะไป “ชื่นชม-ติเตียน” ใครในเหตุการณ์เสี้ยววินาทีนั้น…คงเป็นวิจารณญาณของท่านผู้อ่านและชนรุ่นหลัง…

ตอนต่อไป…จะย้อนไปเปิดเผย การสนทนาระหว่าง นาวาตรี มนัสฯ แกนนำกบฏแมนฮัตตัน และ จอมพล ป. ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว

จอมพล ป. แสดงความเป็นลูกผู้ชายยอมรับว่าการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น “มีปัญหา” รวมทั้งความทะเยอทะยานของผู้มีอำนาจในเวลานั้นที่ทับซ้อน ซ่อนคม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image