ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน… ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา(11) โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

กบฏแมนฮัตตัน สงครามกลางเมืองในพระนคร-ธนบุรี ..ทหารบก ทหารอากาศ จับมือกับตำรวจ ใช้กำลังเต็มพิกัดรบกับทหารเรือ “กลุ่มกู้ชาติ” เมื่อ 29-30 มิถุนายน 2494 เพราะทหารเรือจับตัวจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีไปไว้ในเรือหลวงศรีอยุธยา

บทความประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่อุบัติขึ้นในแผ่นดิน ได้รับความสนใจ ติดตามอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายมาร้อยเรียง “เพื่อการศึกษา” มนุษย์ทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ มีภูมิหลัง ทั้งดี-เลว คลุกเคล้ากันไป โลภะ โทสะ โมหะ ..เกียรติยศ อำนาจ เงินตรา มันเย้ายวนเสมอ.. ไม่เข้าใครออกใคร

ข้อมูลที่ขอนำมาเปิดเผย.. “กลุ่มกู้ชาติ” ที่จับตัวจอมพล ป. เป็นตัวประกันและประกาศยึดอำนาจนั้น มีอะไรเป็นแรงจูงใจ….?

ย้อนเวลาไปก่อนกบฏแมนฮัตตัน ..เมื่อ 26 กุมภาพันธุ์ 2492 เกิดเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” ที่ขอนำมาบอกเล่า ฐานข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าฯ โดยสังเขปครับ…

Advertisement

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ราว 20.00 น. นายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มเสรีไทย จำนวนหนึ่ง เดินทางด้วยเรือมาขึ้นฝั่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมกำลัง

ราว 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์พญาไท และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ดังนี้ คือ ดิเรก ชัยนาม เป็น นรม. เป็น รมว.กต. และ รมว.กค. พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน เป็น รมว.กห. และนายทวี บุณยเกตุ เป็น รมว.มท. ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่ได้ประกาศ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนทุกกระทรวง….นี่คือ การยึดอำนาจอีกครั้งที่คนไทยไม่ค่อยทราบ

ฝ่ายยึดอำนาจประกาศตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คือ พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. เป็นหัวหน้าฝ่ายก่อการ พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรอง พลตรี เนตร เขมะโยธิน เป็น ผบ.ทบ. พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วไป และอธิบดีตำรวจ และ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

Advertisement

พร้อมกันนั้น…คณะผู้ก่อการออกคำสั่ง “ปลด” ข้าราชการ 5 คน คือ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ. พลโท กาจ กาจสงคราม รอง ผบ.ทบ. พลตำรวจโท ละม้าย อุทยานนท์ พลตำรวจโท หลวงชาติ ตระการโกศล และพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ ให้ นาวาโท ประดิษฐ์ พูนเกษ ผู้บังคับกองพันนาวิกโยธิน สัตหีบ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดแทน ทั้งยังสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพล

ราว 21.00 น. เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช นายทวี ตะเวทิกุล พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต ได้นำทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ายึดพระบรมมหาราชวัง (บริเวณวัดพระแก้วฯ) และใช้พื้นที่เป็นศูนย์บัญชาการ

ครึ่งวันแรกมีแนวโน้มที่ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จะได้รับชัยชนะ แต่ฝ่ายก่อการ คือ กำลังนาวิกโยธินจากสัตหีบที่นำโดยพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ และพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ มาไม่ทันตามกำหนดนัดหมายที่จะต้องเข้ายึดที่หมาย

ประมาณเวลา 02.00 น.ของวันใหม่ และหลังจากที่พยายามเจรจากันระยะหนึ่ง พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้ทหารบกล้อมพระบรมมหาราชวังและเริ่มโจมตีในเวลารุ่งสว่าง การสู้รบดำเนินอยู่ราว 2 ชั่วโมง ทหารบกนำรถถังชนกำแพงทะลุเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง กระสุนปืนเรือทำความเสียหายศาลหลักเมือง

นาวิกโยธินจากสัตหีบร่วมกับทหารเรือในกรุงเทพฯ ยิงกับทหารบกที่แนวรบราชประสงค์ ต่อมาราว 09.00 น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ปรับความเข้าใจกับทหารเรือ”

เกิดการประนีประนอมระหว่าง พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน กับทหารบกฝ่ายปราบ การสู้รบระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือก็ยุติลงในเวลาประมาณ 10.30 น.ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492

นายปรีดี พนมยงค์ หลบหนีออกนอกประเทศ

เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น คือ เหตุการณ์กบฏวังหลวง ที่ฝ่ายก่อการที่เป็นทหารเรือยอมเจรจายุติการนองเลือด

ถ้าเป็นมวย ก็ถือว่าเป็นมวย “ยกที่ 1” ที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่งก่อการเพื่อยึดอำนาจการปกครอง รบกับทหารบกดุเดือด

ผู้เขียนจะนำกบฏวังหลวง มานำเสนอในโอกาสต่อไป

ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลจอมพล ป. กองทัพบก กองทัพอากาศ และตำรวจ ตั้งข้อระแวงสงสัย สืบข่าว จับตาและ “ชะลอการเติบโต” ของกองทัพเรือ เป็น “หัวเชื้อ” บ่มเพาะความอึดอัด ของบรรดานายทหารเรือที่มีต่อรัฐบาลทหาร

กบฏวังหลวง ก่อร่างสร้างความบาดหมาง มีเหตุทะเลาะวิวาทแบบเลือดเดือดระหว่าง “ทหารเรือ” กับ “ตำรวจ” หลายเหตุการณ์ สะสมบ่มเพาะอุณหภูมิพร้อมที่จะระเบิด…

และต่อมาอีก 2 ปี….นาวาเอก อานนท์ฯ และนาวาตรี มนัส จึงจับตัว จอมพล ป.ก่อกบฏแมนฮัตตัน…ถือว่าเป็นมวย “ยกที่ 2”

กลับมาที่เหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน ในช่วงเวลาที่ทหารเรือคุมตัวจอมพล ป. ไว้ในเรือหลวงศรีอยุธยา …เกิดการสนทนาเปิดใจ ระหว่าง นาวาตรี มนัส และจอมพลกระดูกเหล็ก ที่น้อยคนจะได้ทราบ…

นาวาตรี มนัส จารุภา ได้บันทึกบทสนทนาในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ไว้อย่างชัดเจน เมื่ออยู่กันสองต่อสอง ดังนี้…

จอมพล ป. ถาม “ในการการกระทำครั้งนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยหรือเปล่า”

ตอบ “ไม่มี”

ถาม “แล้วหลวงประดิษฐ์ (นายปรีดี พนมยงค์) ร่วมด้วยหรือเปล่า”

ตอบ “ไม่ได้ร่วม”

ถาม “ได้ซับซิดี้ (เงินสนับสนุน) จากใคร ?”

ตอบ “พวกที่ทำงานครั้งนี้เป็นพวกคนหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ไม่เคยได้รับเงินทองอุดหนุนจากบุคคลหรือคณะใดๆ มีแต่เงินเดือนของตัวเอง แม้แต่ตัวของผมเองก็มีเงินติดกระเป๋าอยู่ในขณะนี้เพียงพันสองร้อยบาทเท่านั้น”

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ได้ฟังแล้วก็นิ่งอยู่ขณะหนึ่ง แล้วก็พูดว่า “เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้วก็ให้โล่งใจมาก”

ถามต่อไปว่า.. “เหตุใดพวกคุณถึงคิดทำการเช่นนี้ขึ้น”

ตอบ… “ที่พวกผมทำขึ้นก็เพราะว่า รัฐบาลคณะนี้มีความเหลวแหลกมากมาย รัฐมนตรีในคณะหลายคนทำความชั่วร้าย ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของราษฎรส่วนรวม ตลอดทั้งบุคคลหลายคนในคณะรัฐประหารก็ได้ใช้อภิสิทธิ์แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าพรรคพวกตนเองเช่นเดียวกัน”

จอมพล ป. ถามต่อ “แล้วพวกคุณทราบได้อย่างไร มีหลักฐานอย่างไร”

ตอบ “พวกผมทราบจากท่านผู้ใหญ่ในวงราชการ จากบุคคลในคณะรัฐประหาร และจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของประชาชน”

จอมพล ป. ถาม “การที่จะไปเชื่อข่าวอย่างนั้นดูจะไม่แน่นอน โดยเฉพาะพวกหนังสือพิมพ์ ถ้ามีจริงก็ควรจะได้จัดการกันตามกฎหมาย”

นาวาตรี มนัสกล่าวตอบ… “เรื่องอย่างนี้ไม่สามารถจะจัดการได้ตามกฎหมาย ในเมื่อผู้กระทำผิดยังมีอำนาจอยู่ และข่าวต่างๆ นั้น พวกผมเชื่อว่าท่านผู้ใหญ่และเชื่อบุคคลในคณะรัฐประหารซึ่งล่วงรู้ข้อเท็จจริง ข่าวทางหนังสือพิมพ์พวกผมไม่ได้เชื่องมงายไปทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรับฟังจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นหลักเป็นฐาน เสนอข่าวตรงไปตรงมาไม่บิดเบือนความจริง”

บทสนทนาข้างต้น เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ…ไม่ยากที่จะเข้าใจ ท่านผู้อ่าน วิจารณ์ วิเคราะห์ ศึกษาได้ด้วยตัวเองนะครับ…

หลังจากนั้น จอมพล ป. จึงสนทนากับ นาวาเอก อานนท์ ในเรือหลวงศรีอยุธยา …เอ่ยปากขอกระดาษกับปากกา.. นาวาเอก อานนท์เข้าไปก้มกราบ จอมพล ป.

จอมพลกระดูกเหล็ก ถึงแม้จะถูกจับตัว แต่ฝีมือการร่างแถลงการณ์ก็ยังมีสติ สละสลวย ครอบคลุมประเด็น…

ในนาทีแห่งความเป็น-ความตาย จอมพล ป. ร่างแถลงการณ์ว่า…

“…ด้วยวันนี้ คณะกู้ชาติ มาเชิญและขอร้องให้ข้าพเจ้าปรับปรุงคณะรัฐบาลและบุคคลในการบริหารประเทศ….ชี้แจงต่อข้าพเจ้าว่าไม่ปรารถนาจะทำการรัฐประหารหรือให้เกิดการสู้รบแต่อย่างใด…ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอร้อง ทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจ ซึ่งเป็น
ผู้ถืออาวุธจงได้ร่วมกันรักษาความสงบของบ้านเมือง…ส่วนการจะปรับปรุงประการใดต่อไปนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะให้เป็นไปในทางเจรจาต่อกันด้วยดี…ข้าพเจ้าจะได้พยายามทำอย่างดีที่สุดที่จะให้การพูดตกลงกันเป็นไปด้วยความสงบทุกประการ…”

จอมพล ป. อ่านแถลงการณ์ อัดเสียงลงเทป แล้วนักข่าวหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ชื่อ นายชีพ คงเวียง รับอาสาบึ่งรถนำไปเปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุทหารเรือถนนพระราม 4

ฝ่ายรัฐบาลเริ่มเห็นภาพสถานการณ์…นายกรัฐมนตรีโดนจับตัวไป…ประชาชนชาวสยาม “งงแล้ว-งงอีก”

การเจรจาต่อรอง ทั้ง 2 ฝ่ายใช้สถานีวิทยุเป็นหลัก ฝ่ายรัฐบาลออกแถลงการณ์มากกว่า 30 ฉบับ กลายเป็นสงครามน้ำลาย ประชาชนชาวไทยหยุดงานฟัง “มวยตู้” แบบตื่นเต้น เร้าใจ ประชาชนชาวฝั่งธนฯ มีจุดยืนชัดเจน เชียร์ทหารเรือออกหน้าออกตา ขนข้าวปลาอาหารให้ทหารเรือสู้ตาย

วิทยุกระจายเสียง คือ โซ่ทองคล้องใจ…ไม่ฟังไม่ได้

วิทยุกระจายเสียงรัฐบาลออกแถลงการณ์ของกองทัพอากาศฉบับที่ 8 ที่สยดสยอง ทำให้ จอมพล ป.“มีหนาว-ขนลุกตั้งชัน”

ทหารอากาศระบุว่า จะใช้กำลังทางอากาศถล่มเรือหลวงศรีอยุธยา…“ทั้งนี้ ขอให้ ฯพณฯ ยอมเสียสละ เพื่อปราบปรามผู้กบฏต่อบ้านเมือง…”

แปลเป็นภาษาไทยว่า… กองทัพอากาศจะทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยา ถึงแม้จอมพล ป. ยังอยู่ในเรือ….ขอให้ท่านเสียสละ..

แถลงการณ์ฉบับนี้ จอมพล ป. ไม่เคยลืมตราบชั่วนิรันดร์ และในที่สุด 30 มิถุนายน 2494 ราว 15.30 น. เครื่องบินกองทัพอากาศ ก็มาทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่จอมพล ป. ยังอยู่ข้างในเรือ…

ตอนต่อไปจะเป็นตอน อวสาน…ใคร อะไร อย่างไร ทำไม ? โปรดติดตามนะครับ…

ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก ทหารเรือ กบฏแมนฮัตตัน โดย นิยม สุขรองแพ่ง และ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล โดย นาวาตรี มนัส จารุภา

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image