Parasite ชนชั้นปรสิต อะไรที่เปลี่ยนเราให้เป็นพยาธิ : โดย กล้า สมุทวณิช

 

คอลัมน์ตอนนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเปิดเผยเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง Parasite : ชนชั้นปรสิต

คอลัมน์ตอนนี้จะเขียนถึงภาพยนตร์นอกกระแสเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดในแวดวงคนดูหนังในโลกโซเชียล ที่เชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้ต่อให้ไม่ได้ดูหรือไม่สนใจ ก็น่าจะผ่านพบชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้กันมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กลุ่มเพื่อนของท่านในโลกโซเชียล

ภาพยนตร์ที่กำกับโดย บง จุนโฮ ผู้เคยมีผลงานหนังสัตว์ประหลาดสะท้อนการเมืองเกาหลีอย่าง “The Host อสูรนรกกลายพันธุ์” และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากภาพยนตร์ไซไฟเสียดสีสังคม Okja ของ Netflix การเริ่มต้นฉายของเรื่องนี้เป็นไปตามสูตรของหนังนอกกระแสจากรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ขึ้นชื่อในความ “อาร์ต” และความดูยากสำหรับนักชมภาพยนตร์ทั่วไป ทำให้มันถูกฉายแบบจำกัดโรงและจำกัดรอบ เช่นเดียวกับหนังรางวัลสำหรับผู้ชมเฉพาะทางที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

Advertisement

แต่ความสนุกอย่างจริงจังของมันสำหรับผู้ชมภาพยนตร์ในทุกแนวทุกประสบการณ์ ก็ก่อกระแสปากต่อปาก จนได้โรงฉายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น “หนังในกระแส” ได้ในที่สุด

ภาพยนตร์เล่าเรื่องของครอบครัวคิม ที่ประกอบด้วยพ่อ (กีแท็ก) แม่ (ชุงซุก) พี่ชาย (กีอู) และน้องสาว (กีจอง) ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์กึ่งใต้ดิน ต้องใช้ชีวิตด้วยการหางานไม่ประจำจิปาถะเช่นการรับจ้างพับกล่องพิซซ่าที่ทำไปพอกันตาย จนกระทั่งวันหนึ่งพี่ชายได้รับ “หินนามธรรมแห่งความมั่งคั่ง” มาจากเพื่อนสมัยมัธยม พร้อมด้วยโอกาสการไปสอนพิเศษให้ลูกสาวของบ้านเศรษฐีตระกูลพัค คือการเริ่มต้นของการคืบเคลื่อนเข้าไปเกาะเกี่ยวสูบกินผลประโยชน์จากครอบครัวนั้น ด้วยเส้นสนกลโกงจากไหวพริบของกีอูเองและกีจองน้องสาว

แม้ในตอนที่คอลัมน์นี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ หนังอาจจะหมดรอบฉายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมก็เชื่อว่าหากใครสนใจก็อาจจะหาชมได้ผ่านสื่ออื่น และที่สำคัญคือคอลัมน์นี้ไม่ได้ชวนไปดูหรือวิจารณ์หนัง แต่เป็นการนำเอาข้อคิดบางอย่างที่ได้จากการดูหนังและถกเถียงแลกเปลี่ยนทรรศนะกับมิตรสหายหลายท่านมาเรียบเรียงให้ฟัง แต่กระนั้นก็อย่างที่เตือนไว้ตอนต้นว่า สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

หนึ่งในประเด็นที่คนดูหนังเรื่องนี้แล้วนำไปต่อยอดถกเถียงกันมากที่สุด ก็คือบทสนทนาระหว่างแม่และลูกสาว ว่าคนในครอบครัวพัคนี้ เขาเป็นคนรวยที่ใจดี หรือที่เขาเป็นคนใจดีได้นั้น เพราะเขาเป็นคนรวย.

ธีรภัทร เจริญสุข คอลัมนิสต์และนักธุรกิจส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่สุดในประเด็นนี้ เพราะจากประสบการณ์ของเขาที่อยู่กับความจนและสังคมคนจนมาตลอดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ก็จริงว่าคนจนแบบในหนังที่แย่งกันเพื่อรับใช้คนรวย แล้วแก่งแย่งเหยียบกันเองนั้นก็มีจริง แต่คนจนที่เป็นคนดีช่วยเหลือกันนั้นยังมีมากมายเช่นกัน จนกระทั่งสามารถยกระดับชีวิตให้ได้ดีขึ้นมาได้ แม้จะไม่เท่ากับคนรวยล้นเหลือ แต่ถ้าช่วยกันสะสม ช่วยกันแบ่งปันและต่อสู้ดิ้นรนในทางที่ถูกก็ไปถึงฝั่งได้ ขอแค่ว่าระบบมันยังพอเปิดทางให้ก้าวขึ้นไปได้บ้าง และเมื่อใครขึ้นไปหายใจได้ก็ช่วยดึงคนอื่นและเรียกร้องให้คนรอบข้างช่วยกันยกระดับขึ้นมา กล่าวโดยสรุปคือ ธีรภัทรเห็นว่า “ความยากจน” ไม่ใช่ข้อแก้ตัวของการที่จะฉ้อฉลใช้กลโกงเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ภาพยนตร์พยายามจะสื่อ

หากจะตอบจากจุดยืน หลักการส่วนตัวที่ผมเชื่อและที่ยืนยันกับคนอื่นเสมอ คือผมเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นมีธรรมชาติที่ดีงามและเห็นอกเห็นใจพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่การที่เราทำเรื่องร้ายหรือเบียดเบียนกัน เห็นแก่ตัวกัน ก็เพราะว่าเรารู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นคง หรือรู้สึกว่าเรากำลังจะประสบความยากลำบากเกินทนทาน และที่สุดคือเราอาจจะตายได้ เมื่ออยู่ในสภาพเช่นนั้น กลไกพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั่วไป คือการเอาตัวให้รอดก่อน และเมื่อนั้นเองที่ธรรมชาติมนุษย์ดั้งเดิมอันดีงามก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นมนุษย์ผู้โหดร้าย แย่งชิง และเห็นแก่ตัว

แต่เรื่องทั้งหมดมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง มันคืออัตวิสัย ที่มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกต่อความว่าตัวเองกำลังจะตาย ทรมาน หรือยากลำบากต่างกัน ซึ่งต่อให้ข้อเท็จจริงตรงกันหมด สมมุติว่ามีหน่วยวัดความหิวโหยที่เป็นค่ากลางแบบภาวะวิสัยเหมือนการวัดอุณหภูมิ สมมุติว่ามีค่าเป็น 100 แต่มนุษย์ที่มีค่าความหิว 100 นี้ ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองทรมานหรือหิวไม่เท่ากัน ความแตกต่างนี้อาจจะเกิดขึ้นจากความอดทนอันเป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมัน รวมถึงมุมมองต่อโลก สังคม สภาวะทางจิต และที่สำคัญที่สุด คือ ระดับของความหวังในจิตใจ

สิ่งเหล่านั้นรวมประกอบกัน จะทำให้ขอบเขตความอดทนของมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันออกไป ภูมิคุ้มกันไม่ให้ใครสักคนจะละทิ้งธรรมชาติอันดีงามของตัวเองแล้วก้าวไปสู่การเป็นมนุษย์ที่เลวร้าย ซึ่งเราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่า “หิริโอตตัปปะ” ก็ได้นั้น จึงแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลหรือแม้แต่สังคม

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามจะสื่อออกมานั้นก็ไม่ได้ผิดอะไรนัก แต่มันก็อาจจะไม่ใช่บทสรุปที่อธิบายได้ทุกกรณี เพราะคนจนไม่จำเป็นที่จะต้องเลวร้ายขนาดนั้น แม้ว่าจะเจอความลำบากเดือดร้อนในระดับเท่าๆ กัน เราจึงได้เจอคนจนที่เป็นคนดีมีน้ำใจ และคนจนที่เอารัดเอาเปรียบ ลักขโมยและฉ้อโกงได้ แม้ในสังคมเดียวกัน สภาวะแวดล้อมเดียวกัน

“คนจน” ที่ยังรักษาความดีมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์อยู่ได้นั้น พวกเขาอาจจะยังมีความเชื่อว่า ตัวเองยังไม่จนมุม ยังไม่ถึงกับตาย หรือยังไม่ลำบากเดือดร้อนหรือคับแค้นจนเกินทนทานพวกเขาจึงยังรักษาความดีเอาไว้ได้ จนถึงวันหนึ่งที่เขาพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ความร่ำรวยจึงอาจจะเป็นแค่ “ตัวช่วย” ให้เป็นคนดีได้ง่ายขึ้น เพราะหากจะกล่าวอย่างยอมรับความจริง คือทรัพย์สินเงินทองนั้นสร้างความสะดวกสบายและความมั่นใจได้พอที่บุคคลที่มีจิตใจปกติจะรักษาธรรมชาติดั้งเดิมอันดีงามไว้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด คนรวยที่คดโกงเอารัดเอาเปรียบนั้นก็ยังอาจจะมี หากเขารู้สึกว่าทุกอย่างที่เขามีนั้นยังไม่ช่วยสร้างความมั่นใจหรือคลายความหวาดกลัวในอะไรบางอย่างแก่เขาได้ หากผมจะแทรกเข้าไปในบทสนทนาของแม่กับลูกสาวในเรื่องนี้ได้ ผมอาจจะขออนุญาตเถียงเธอว่า ไม่ใช่เพราะเขารวยเขาจึงนิสัยดีหรอก แต่เพราะความรวยทำให้เขายังรักษาความดีในจิตใจของเขาได้ง่ายขึ้นมากกว่า

ประเด็นต่อมาที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง คือเรื่องของ “โอกาส” นั่นเพราะว่าการที่เรารู้สึกว่าเรายังมี โอกาสอยู่ ทำให้เรามี “ความหวัง” และความหวังนั้นก็จะหล่อเลี้ยงจิตใจที่ประสบกับความลำบากยากจนให้ยังทนทานรักษาธรรมชาติอันดีงามของเราต่อไปได้โดยไม่กลายร่างละทิ้งไปสู่ธรรมชาติที่ชั่วร้าย

ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่า “โอกาส” นั้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” แต่โอกาสที่จะได้เลื่อนสถานะทางสังคมนั้น จะต้องมาจากการศึกษาเชิงสถาบัน อย่างเป็นทางการโดยมีประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยระดับครีมของประเทศนั้น ซึ่งในหนังก็กล่าวถึงคนกลุ่มที่จบมหาวิทยาลัยชั้นรอง ต่อให้จบปริญญาได้ก็อาจจะต้องไปเป็นคนขับรถ ไม่สามารถที่จะเลื่อนชั้นยกระดับความเป็นอยู่ขึ้นมาได้

นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวชายหนุ่ม (กีอู) นั้น ยอมที่จะรอสอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบใหม่ เสียดีกว่าเรียนมหาวิทยาลัยดาดๆ เพื่อจะจบมามีชีวิตที่ไม่สามารถพาตัวเองและครอบครัวออกมาจากชั้นใต้ดินได้

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้นั้นเป็นเรื่องจริงจังจนเหมือนล้อเล่น ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการสอบทุกอย่างจะต้องถูกควบคุม แม้แต่การปิดน่านฟ้าไม่ให้มีเที่ยวบินเพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวนในการสอบฟัง ธุรกิจต่างๆ รวมถึงการก่อสร้างก็ต้องหยุดดำเนินการ ทุกฝ่ายเข้าใจเด็กนักเรียนผู้เข้าสอบ เพราะทุกคนในสังคมต่างก็ทราบดีว่า นี่ไม่ใช่เพียงการสอบ แต่มันคือการชิง “ตั๋วทอง” ที่เบิกไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น บุคคลชั้นนำในประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร ผู้พิพากษา ล้วนแต่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นตรียอดที่มีตัวย่อว่า SKY (Seoul national Korea และ Yonsei)

เช่นนี้ แม้ว่าพี่ชายจะมีความรู้ภาษาอังกฤษระดับที่บอกว่าจบมาจากต่างประเทศคนก็เชื่อ หรือน้องสาวมีความสามารถทางศิลปะและคอมพิวเตอร์กราฟิก รวมถึงอาจจะมีจิตวิทยาการรับมือกับเด็กพิเศษด้วย ซึ่งอาจจะเป็นความรู้ประเภทเรียนด้วยตัวเอง ผ่าน Google หรือ YouTube หากในสังคมที่การศึกษาเชิงสถาบันยังเป็นปราการอันเข้มแข็ง ความรู้ก็ไม่อาจสู้ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำได้

เราก็ไม่อาจรู้จริงๆ ว่า ในสภาวะที่โอกาสถูกปิดตายด้วยการศึกษาเชิงสถาบันเช่นนั้น มันทำให้ผู้คนยอมแพ้และเลือกใช้วิธีการหลอกลวงต้มตุ๋น เพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ต้องการจะได้มาหรือไม่ หรือมันเป็นเพียงข้อแก้ตัวของผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอ ไม่อาจธำรงธรรมชาติอันดีงามของตัวเองเอาไว้ได้ มันยากที่จะตอบหรือฟันธงลงไปได้ง่ายดายนัก

และเมื่อครอบครัวนี้พร้อมใจกันก้าวลงสู่หุบเหวแห่งความชั่วร้าย เมื่อโกหกหลอกลวงได้เรื่องหนึ่ง และหลุดไหลต่อยอดพัวพันรุงรังอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องทำทุกอย่าง ทำอะไรก็ได้เพื่อปกปิดไม่ให้เรื่องโกหกหรือการหลอกลวงของตนเองนั้นถูกขับไขออกมากลางแจ้งก็เริ่มต้นขึ้น พวกเขาทำทุกอย่างแม้แต่ฆ่าคนจนคนอื่นที่อาจจะเป็นเสี้ยนหนาม และอาจจะทำให้อะไรต่างๆ ที่พวกเขาดิ้นรนต่อสู้มาทั้งหมดล่มสลายไป

อันที่จริงสังคมเราก็เป็นเช่นนี้ เราไม่เลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดในเกม คือการที่ครอบครัวคนจนทั้งสองครอบครัวนั้นต่างช่วยกันปกปิดความลับและบาดแผลให้กันและกัน อยู่ร่วมกันไปภายใต้ฐานรากของความมั่งคั่งที่คุ้มเกล้าพวกเขาอยู่ แต่มนุษย์ยากจนทั้งสองฝ่ายกลับเลือกทางที่ตัวเองจะชนะทั้งหมดแบบกินรวบ เพื่อนำไปสู่บทสรุปสุดท้ายว่าผลลัพธ์ของเกมออกมาเป็นศูนย์ พร้อมกับชีวิตของผู้คนทุกฝั่งฝ่าย โดยไม่มีใครได้อะไรเลยทั้งสิ้น

บางครั้งปัญหาที่แท้จริง ซึ่งก็เหมือนปัญหาสังคมทั้งหลายนั่นแหละ มันอาจจะเป็นเพราะเราขาดความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์เสมอกันในคนอื่น มนุษย์ที่หิวโหยหวาดกลัวรักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน และเริ่มต้นจิตเดิมด้วยความดีงามพิสุทธิ์ อย่างน้อยก็ก่อนที่เราแต่ละคนจะได้แรกรู้จักกับความหิวโหยและหวาดกลัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image