เศรษฐกิจตกต่ำมาแน่ (ภาคสอง) : โดย สมหมาย ภาษี

เศรษฐกิจตกต่ำมาแน่ (ภาคสอง) : โดย สมหมาย ภาษี

เศรษฐกิจตกต่ำมาแน่ (ภาคสอง) : โดย สมหมาย ภาษี

ก่อนอื่นขอทบทวนสาระที่เขียนในภาคหนึ่งของเรื่องนี้สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่ทราบเรื่องมาก่อน คือได้กล่าวถึงว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนมีการเลือกตั้งนั้น เศรษฐกิจรากหญ้าก็ยังโงหัวไม่ขึ้นแถมระดับที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหลาย ต่างก็อยู่ในอาการย่ำแย่กันเป็นส่วนใหญ่

ได้พูดถึงสาเหตุว่า ทำไมเศรษฐกิจตกต่ำของไทยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตอนนี้ที่เห็นๆ กันเต็มตาอยู่ก็คือ ราคาพืชผลหลักของไทยยิ่งตกต่ำลงไปอีก ซ้ำร้ายกว่านั้น ดูเหมือนว่าภาวะฝนแล้งก็เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าเทวดาฟ้าดินท่านไม่เป็นปลื้มกับคนไทยเลย ที่หวังกันว่าเลือกตั้งแล้วฟ้าจะใสขึ้นทุกอย่างจะดีขึ้น ผลที่ออกมาตามที่เห็นๆ กันอยู่ ประชาชนยิ่งท้อแท้กว่าเดิม

คราวที่แล้วผมได้พูดถึงสาเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำที่ไม่ธรรมดายังไม่หมด วันนี้ขอกล่าวเพิ่มเติมอีก 3 ประการ

Advertisement

ประการแรก ในปี 2562 นี้ เราได้เห็นชัดเจนว่า เครื่องยนต์ตัวใหญ่ที่สำคัญที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่แล้วตั้งความหวังไว้มาก คือ การส่งออกของไทย ปรากฏว่าใน 6 เดือนแรกของปี 2562 นี้ มีเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวเท่านั้นที่เป็นบวก คือ มีการเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 5.9% แต่ใน 5 เดือนที่เหลือเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้วติดลบหมดที่สำคัญ เช่น เดือนมกราคม -5.7% มีนาคม -4.9% พฤษภาคม -6.2% เป็นต้น ทั้งหมดเป็นผลพวงจากสงครามการค้าของสองอภิมหาอำนาจทั้งนั้น

ประการที่สอง จากภาพเหตุการณ์เลวร้ายของโลกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประกาศขึ้นภาษีการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์กับประเทศจีน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าเข้าจากจีนอีก 10% มูลค่าสินค้า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป ปรากฏว่าหลังประกาศของทรัมป์ ราคาหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะดัชนีหุ้นทั้งหลายของจีนตกต่ำลงอย่างมาก และตกต่ำต่อเนื่องหลายวัน

ในอีก 3-4 วันต่อมา จีนก็ได้ประกาศแบบกูไม่กลัวมึงออกมาทันทีว่า จะตอบโต้เช่นกันโดยการลดการซื้อและนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ตามมาด้วยมาตรการที่สหรัฐกล่าวหาว่าแทรกแซง ค่าเงินหยวนของจีนก็อ่อนค่าลงค่อนข้างมากจนประธานาธิบดีทรัมป์ต้องร้องลั่น และแล้วในวันที่ 6 สิงหาคม ดัชนีดาวโจนส์และอื่นๆ ของสหรัฐก็ทรุดต่ำลงถึงกว่า 600 จุด ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวกันว่าทำให้มูลค่าหุ้นของเศรษฐีระดับบน 500 คน ของสหรัฐ หดหายไปชั่วข้ามคืนถึงกว่า 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณปี 2563 ของประเทศไทยที่มีจำนวน 3.2 ล้านล้านบาทเสียอีก

Advertisement

นี่แหละสงครามการค้าระดับโลก แล้วประเทศไทยจะมีอะไรเหลือ เลิกเสียทีที่จะพูดปลอบใจประชาชนว่า ประเทศเราคงไม่ถูกกระทบมาก ไม่น่าเป็นห่วงมาก นักการเมืองที่พูดแบบนี้แน่นอนเป็นพวกไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ระหว่างนี้ก็ไม่ได้คิดไม่ได้ทำสิ่งใดที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่พอคิดได้ก็เป็นของเดิมๆ คือ การสั่งให้รัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนเหลือให้จ่ายให้หมดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีก 4 เดือนเศษ

ฟังอย่างนี้ชาวบ้านเขาก็เห็นว่าดี แต่พวกผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายต่างก็ได้แต่ส่ายหัวและยิ้มด้วยมุมปาก เพราะเขารู้ดีว่างบที่ยังเบิกจ่ายไม่หมดนี้ส่วนใหญ่ได้ผูกพันใช้จ่ายในอนาคตแล้วอาจจะ 3 เดือน 6 เดือน และถึง 12 เดือนข้างหน้า ไม่สามารถมาเร่งจ่ายได้ในตอนนี้นะพี่

ประการที่สาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ ไม่ใช่แค่สงครามการค้าเท่านั้นที่จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ถดถอย เหตุการณ์ทางด้านการเมืองที่ส่อเค้าว่าจะทำให้โลกนี้ร้อน และเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีกก็ปะทุขึ้นอย่างมาก เช่น การประท้วงของชาวฮ่องกงที่มีต่อจีนผืนแผ่นดินใหญ่ที่ลากยาวร่วม 2 เดือนมาแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงอย่างไร หรือการขัดแย้งในเรื่องของแคว้นแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานและมีจีนข้องเกี่ยวด้วย ปรากฏว่ามีการคำรามกันฟ่อๆ ว่าจะเกิดเป็นสงครามกันขึ้นเมื่อใดก็ได้ ตลอดจนการบาดหมางในเชิงลึกระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ และกับอังกฤษ

นอกจากนี้ ในที่อื่นๆ อีกหลายประเทศล้วนแต่มีปัญหาการขัดแย้งให้ได้ยินได้ฟังกันมาก เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ล้วนแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับนักลงทุน และจะบั่นทอนความเป็นอยู่ที่สงบของมวลมนุษยชาติทั้งนั้น

กลับมาดูการเตรียมรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกันต่อ คราวที่แล้วได้เสนอแนะไปว่าให้รัฐบาลหยิบยกมาตรการด้านการคลังมาใช้ให้เข้ม จริงจังและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณแผ่นดินปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทนั้น รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะต้องเข้าไปตรวจตราให้ละเอียดก่อนถูกเสนอเข้าสภาผู้แทน รัฐมนตรีที่ตั้งใจจะทำงานทั้งหลายจงอย่าเอามือไปแค่แตะถาดงบประมาณที่ถวายมาเหมือนพระเพียงเท่านั้น แต่ต้องใช้เวลาไปดูให้ลึกตั้งแต่ตอนนี้ มิฉะนั้นประเทศก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง นโยบายที่ท่านหาเสียงมาก็จะไม่เกิด

อย่างไรก็ตาม การใช้แต่นโยบายการคลังอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ อย่าได้ไปคิดว่ามีงบตั้ง 400,000 ล้านบาท ที่เตรียมไว้แจกคนจนอยู่แล้ว ทฤษฎีแจกเงินในปัจจุบันนี้เหมือนกระสุนที่มันด้านไปหมดแล้ว ใช้ไปก็ไม่สามารถเพิ่มพลังต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เท่าใด ผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือเสี่ยผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายเท่านั้น ส่วนรากหญ้าก็ยังแห้งเหี่ยวตามเดิม ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เลิกเงินสวัสดิการคนจนนะครับ เลิกไม่ได้ เพราะเงินสวัสดิการนี้ก็เหมือนกัญชาที่หยอดใต้ลิ้นนั่นแหละ เมื่อหยอดให้นอนหลับได้ในคืนแรก คืนต่อๆ ไปเลิกลำบากเลิกแล้วจะต้องโหยหากันแน่

ในภาวะเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำนโยบายการเงินมาใช้ด้วย นโยบายการเงินหลักๆ ได้แก่ นโยบายเรื่องดอกเบี้ยและนโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนเรื่องรองๆ ลงไปนั้นก็มีเรื่องการดูแลสภาพคล่องด้านปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และเรื่องประจำวัน ก็มีการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ดีที่เอื้อต่อผู้ประกอบธุรกิจด้านต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ต้องกำหนดมาตรการด้านการเงินให้เป็นไปตามนโยบายนั้นก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่อิสระจากนักการเมือง เรื่องนี้สำคัญนะครับ ขอให้นักการเมืองอย่าคิดเข้าไปยุ่มย่าม

ต้องยอมรับว่าผู้บริหารธนาคารกลางของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามออกระเบียบวินัยให้สถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความเสี่ยงด้านการเงิน ขณะเดียวกันก็มีการผ่อนคลายให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่าแค่นั้นยังไม่พอ ควรที่จะลืมตาสูดลมเข้าปอดอย่างเต็มแรง แล้วหันมาดูการส่งเสริมความมั่งคั่งและยั่งยืนที่แท้จริงของเศรษฐกิจชาติเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนให้จงมากกว่านี้

สิ้นเดือนมิถุนายนที่แล้ว ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่ถึง 215,808 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 6.6 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณปี 2563 ถึงเท่าตัว หรือประมาณเท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้า 10 เดือน ปกติแค่ 5 เดือนก็มากพอแล้ว การมีเงินสำรองสูงของธนาคารกลางติดอันดับต้นๆ เป็นเวลานานโดยไม่คิดทำอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่าที่ทำอยู่ควรมีออกมาบ้าง

การลดอัตราดอกเบี้ยทางการของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลง 0.25% ให้เหลือ 1.50% เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนี้ถูกแช่แข็งมาเกือบ 4 ปี นับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องมากของ กนง. แต่ถ้าได้ทำเร็วกว่านี้ ไม่ตามหลังประเทศอื่นอย่างที่เห็น ก็น่าจะได้รับคำสรรเสริญที่มากกว่านี้

ซึ่งปกติการเพิ่มลดดอกเบี้ยทางการไม่ใช่คิดจะทำกันง่ายๆ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเขามีกรอบของการรักษาอัตราเงินเฟ้อที่เรียกว่า Inflation Target อยู่ ซึ่งขณะนี้เป้าหมายกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ว่านี้จะต้องรักษาให้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 บวกลบ 1.5 แปลว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศจะต้องถูกดูแลไม่ให้ลดต่ำกว่าร้อยละ 1 และไม่ควรเกินร้อยละ 4.0 ซึ่งก็ถือเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้รัฐมนตรีคลังให้ความเห็นชอบด้วย แต่อัตราของเราเช่นนี้ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่นัก อยู่เฉยๆ ไม่ต้องออกแรงก็อยู่ในกรอบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กรอบนี้ก็ไม่เป็นเกณฑ์อันเดียวที่ธนาคารกลางต้องยึดถือ

สรุปแล้ว กล่าวได้ว่าความปั่นป่วนหลายต่อหลายเรื่องในประกาศต่างๆ ในโลกทุกวันนี้ที่แผ่มากระทบประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บวกกับความมะงุมมะงาหราของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาต่างๆ บวกกับความไม่รักสามัคคีกลมเกลียวของคนไทย เชื่อได้ว่ารัฐบาลนี้จะพยายามอย่างไร ก็คงหนีไม่พ้นการได้เห็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกลางปีหน้าเป็นแน่แท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image