‘โดนัลด์ ทรัมป์’ตีปลาหน้าไซ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ตีปลาหน้าไซ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ตีปลาหน้าไซ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

แม้การประชุมเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐที่เซี่ยงไฮ้ยังไม่บรรลุสัญญาข้อตกลง แต่วงการธุรกิจในสหรัฐมองว่าเข้าสู่สภาพปกติ และสามารถประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายน

ทว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศอย่างกะทันหันให้ปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนร้อยละ 10 ในวงเงินสินค้า 3 แสนล้านดอลลาร์

เป็นเหตุให้สภาพการณ์แห่งสงครามการค้าต้องเข้าสู่ภาวะสับสนวุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ต่างฝ่ายต่างถูกกล่าวหาว่า “พลิกพลิ้วชิวหา” จึงมากด้วยปัญหา

สร้างความสงสัยคลางแคลงใจแก่ประชาคมโลกมิใช่น้อย

แม้ปัญหาเกิดจากความ “ถ่วงหน่วง” เช่นกัน

Advertisement

แต่เป้าหมายต่างกัน

ต่างกันที่โดนัลด์ ทรัมป์ “ถ่วง” เพื่อประสงค์ต่อผล ผลนั้นคือการเลือกตั้งทั่วไป

ต่างกันที่ประเทศจีน “หน่วง” ก็เพื่อซื้อเวลารอการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเศรษฐกิจ

การที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนครั้งนี้ เป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะว่าเขาได้ตกปากรับคำกับ “สี จิ้นผิง” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น สังคมจึงตายใจและเชื่อว่าไม่มีการปรับเพิ่ม

และแล้วเขาก็ปรับเพิ่ม

เสมอตีปลาหน้าไซ

กรณีเป็นการไม่รักษาคำมั่น ขาดไร้สัจจะ ครั้งแล้วครั้งเล่า

พฤติกรรมไม่ต่างไปจากเด็กเลี้ยงแกะ

หลังจากการประชุม G20 ที่โอซาก้า ดูเหมือนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาทิ

ก่อนการเจรจาการค้าที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน สหรัฐชะลอการขายเครื่องบินรบ F-16 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันรุนแรงที่สุด

นอกจากนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงที่ใช้กำลังในฮ่องกง โดยใช้คำว่า “จลาจล” (riot) ซึ่งต่างกับในอดีตเขาจะใช้คำว่า “ต่อต้าน” (protest) มาพรรณนาว่า “ตำรวจกับประชาชนปะทะกัน”

ส่วนประเทศจีนได้สั่งซื้อสินค้าเกษตร เป็นต้นว่า ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์แช่แข็งและสำลี

ฝ่ายจีนอ้างว่าขั้นตอนการสอบถามราคาทำให้การซื้อขายล่าช้า แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กล่าวหาว่าจวบจนบัดนี้ยังไม่มีการสั่งซื้อ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา

การเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ-จีน ดำเนินไปแล้วรวม 12 ครั้ง เคยมีข่าวออกมาว่า ความขัดแย้งทั้งหลายได้เจรจาตกลงกันเรียบร้อยแล้วคิดเป็นร้อยละ 90 เหลือเพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น แต่การเจรจาเมื่อเดือนพฤษภาคม เกิดการพลิกผัน ล้มเลิกกันไป

ล่าสุด ระหว่างการประชุมที่เซี่ยงไฮ้ และอยู่ในภาวะเข้าด้ายเข้าเข็ม แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็มาเล่นบทเดิมๆ อีกคือ ปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

ถ้ายังเล่นบทเดิม ปัญหาความขัดแย้งที่คาราคาซัง คงไม่มีทางที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากจะเปรียบเทียบว่าปัญหาคือ โรค อุปมาก็คือ โรคที่รักษาไม่หายขาด

หากพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียด บัดนี้จีน-สหรัฐได้เข้าสู่ภาวะความขัดแย้งทุกรูปแบบ

ความขัดแย้งทางการค้าดูเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป กล่าวคือออกนอกลู่นอกทาง ตั้งแต่ “หัวเว่ย” ถึง “ไต้หวัน” ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

ฉะนั้น การที่ “ทรัมป์” พูดหลายครั้งว่าจะให้บรรลุสัญญาโดยรวมแห่งประวัติศาสตร์ นั้น

จึงเป็นไปมิได้

“โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เคยพูดหลายครั้งว่า ประเทศจีนได้ถ่วงการเจรจา เพื่อหวังให้เลือกตั้งทั่วไปปีหน้า หวังให้คู่ต่อสู้ของเขาชนะ แล้วทำการเจรจาใหม่

ประเทศจีนเป็นไปตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ยากแก่การคาดเดา

แต่พฤติการณ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “ทั้งจีนและสหรัฐกำลังเล่นบทถ่วงหน่วง” เป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งที่จีนต้องการในขณะนี้คือ “เวลา” เพื่อทำการพัฒนาไฮเทคโนโลยีและรอการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเศรษฐกิจ

สหรัฐมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่อง “ใหญ่สุด” สำหรับอเมริกันชน

ประวัติศาสตร์ยืนยัน โอกาสที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะครองแชมป์อีกวาระหนึ่งค่อนข้างสูง และจากการสำรวจประชามติ ปรากฏว่าเสียงสนับสนุนก็สูงเช่นกัน

ประเด็นที่เขาได้รับความนิยมคือ ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ฟุตเวิร์ก” การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ ผลปรากฏเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ โดยมีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของ “ทรัมป์” เขาจึงพยายามกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ย ในที่สุดก็ลดลงร้อยละ 0.25 แต่เขาก็ยังไม่พอใจ และกำลังทำการกดดันให้ลดอีก

เป็นวิธีการ “เรียกแขก” ของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเขากำลัง “ปูทาง” เพื่อไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป

“คอนเฟิร์ม”

หากสภาพเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง ก็ต้องย้อนมองปัญหาปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้า ย่อมต้องเป็นเหตุให้สินค้าบริโภคปรับขึ้นราคาไปด้วย

และคงหนีไม่พ้นปัญหาเงินเฟ้อ

มาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของ “โดนัลด์ ทรัมป์” นอกจากทำกับจีนแล้วยังขยายวงกว้างไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น

กรณีดูเหมือนเป็นการ “สวนทาง” กับการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป

“โดนัลด์ ทรัมป์” ย่างเข้าปัจฉิมวัยนานแล้ว เข้าข่ายคำว่า “Senility” ที่อเมริกันชนนิยมพูดกันอันอาจเกิดการตัดสินใจผิดพลาดได้สำหรับคนเข้าสู่วัยชรา หรือแก่หง่อมส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้กล่าวหาจีนมาโดยตลอดว่า จีนทำการ “หน่วง” เพื่อซื้อเวลาในการรอให้พรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้ง และทำการเจรจาต่อไป

ส่วนจีนกล่าวหาสหรัฐว่า “ถ่วง” เวลา เพื่อทำการยุยงให้ธุรกิจในจีนถอนตัวออกไปตั้งที่เวียดนาม และในเวลาเดียวกันก็ข่มขู่เวียดนามว่า จะปรับขึ้นภาษีศุลกากร

จึงเป็นเหตุให้บรรดาธุรกิจเกิดความสับสนวุ่นวาย

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาของสองประเทศมหาอำนาจนั้น

มิได้ดำรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกติกา

การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ดำรงอยู่ภายใต้ภาวะที่ไม่แน่นอน จึงมากด้วยปัญหา และเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง อุปมาเสมือนกับ “หนังภาคต่อ”

หากมิใช่ “ภาคสุดท้าย”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image