ทิศทางมหาวิทยาลัยไทย ภายใต้ร่มเงากระทรวง อว. : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ทิศทางมหาวิทยาลัยไทย ภายใต้ร่มเงากระทรวง อว. : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ทิศทางมหาวิทยาลัยไทย ภายใต้ร่มเงากระทรวง อว. : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการบริหารจัดการด้วยการผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมกระจายอยู่ทั่วประเทศในหลากหลายต้นสังกัด แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เดิมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ภายหลังที่มหาวิทยาลัยได้ย้ายรังจากถิ่นเก่าไปสู่ร่มใหม่ภายใต้ชื่อ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ทำให้สังคมต้องกลับมาจับตาอีกครั้งว่าบรรดามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าสู่รังใหม่จะมีความต่างหรือความเหมือนกับการอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับกระแสดิสรัปชั่นทำให้มหาวิทยาลัยทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนต่างประสบปัญหาที่คล้ายกันคือการขาดแคลนจำนวนผู้เรียนหรือนักศึกษาที่มีตัวเลขแตกต่างและแปรเปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก

Advertisement

ด้วยการเปลี่ยนแปลงหรือกระแสดิสรัปชั่นดังกล่าวจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยจะก้าวข้ามกระแสของการเปลี่ยนแปลงไปได้จำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยที่หลากหลายเข้ามาเป็นแรงหนุน

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเสริมเติมเต็มให้มหาวิทยาลัยเดินไปสู่ทิศทางหรือเป้าหมายดังที่กำหนดไว้คงจะเป็นแรงเสริมจากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงต้นสังกัด และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชารัฐบาลได้มอบหมายให้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้ามากำกับการบริหารจัดการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

ทุกครั้งเมื่อมีเสนาบดีเข้ารับตำแหน่งใหม่ย่อมทำให้สังคมจับตาและอยากเห็นคือวิสัยทัศน์ ตลอดจนเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กร ที่สำคัญกระทรวง อว.ถือได้ว่าเป็นกระทรวงใหม่ที่มีการเอาคนและงานจากหลายภาคส่วนมาควบรวมเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ สำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ในประเด็นวิสัยทัศน์และจุดยืนการบริหารจัดการพลันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมมาครั้งนี้จะเจาะลึกทำงานทันทีไม่มาโชว์วิสัยทัศน์แล้ว ตอนนี้ขอบเขตงานของ อว.กว้างมากขึ้น ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม ความยากจนทุกเรื่องมีความท้าทายมากขึ้นและประชาชนก็คาดหวังมากสิ่งที่ผมจะทำคือนำพลังของกระทรวงนี้ซึ่งมีปัญญาชนระดับดอกเตอร์ในมหาวิทยาลัย ในสถาบันวิจัยให้แสดงศักยภาพออกมาตอบโจทย์ของประเทศ โดยหน้าที่ผมคือตั้งโจทย์ให้ชัดและให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกับประเทศและประชาชน มหาวิทยาลัยกับสถาบันวิจัยก็ปรับบทบาทตามโจทย์ที่เรามีโดยอาศัยงบประมาณมาเกลี่ยให้ตอบโจทย์ประเทศให้ได้”

และเมื่อกล่าวถึงมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของความรับผิดชอบในการบริหารจัดการรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมมีแนวคิดผลักดันให้กระทรวง อว.เป็นกระทรวงการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม ซึ่งก็คือบทบาทของมหาวิทยาลัย”

สำหรับประเด็นของการเปลี่ยนแปลงหรือกระแสแห่งปรากฏการณ์ดิสรัปชั่นที่ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีกล่าวว่า “หลายคนบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวผมว่าอย่าไปโทษเขา ผมจะไม่พูดเรื่องเก่ามองว่าช่วง 10-20 ปีนี้ มหาวิทยาลัยปรับตัวช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งผมกลับมองวิกฤตนี้เป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะไม่สอนแค่ 4 ปีอีกต่อไป แต่จะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฐานผู้เรียนจะมีทั้งวัยเรียนอายุ 18-21 ปี จำนวน 2.2 ล้านคน วัยทำงาน 38 ล้านคนที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีหลักสูตรสำหรับผู้ที่ต้องการก้าวไปสู่อาชีพใหม่ๆ ในอนาคต เช่น ยูทูเบอร์หรือคนที่ต้องเติมทักษะเพื่อจะได้อยู่ในอาชีพเดิมได้ต่อไป และกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 11 ล้านคนที่ยังต้องทำงานหลังเกษียณ ซึ่งต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เหล่านี้คือโอกาสของสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต้องมองว่าโอกาสมาแล้วต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส”

เมื่อกล่าวถึงมหาวิทยาลัย วันนี้จะพบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะบริหารจัดการเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ตลอดจนรากเหง้าของการจัดตั้งแต่เมื่อมหาวิทยาลัยก้าวเข้าสู่รังใหม่เสนาบดีที่กำกับจึงดำริที่จัดแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อให้ตอบโจทย์ของประเทศ ประกอบด้วย

กลุ่มแรก มหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้แห่งอนาคตที่จะก้าวไปสู่ระดับโลกเช่น จุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล ม.เกษตรฯ ม.เชียงใหม่ เป็นต้น กลุ่มที่สอง คือมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมและนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ กลุ่ม 3 พระจอมเกล้าฯและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในขณะที่กลุ่มที่สามประกอบด้วย มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ ชุมชนฐานราก ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีลู่วิ่งของตนเอง มีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันและจะมีศักดิ์ศรีเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยจะพบว่าในหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐหรือกระทรวงที่รับผิดชอบจะให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นอันดับแรก ในขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนไม่ค่อยที่จะได้รับเหลียวแลมากนัก ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเอกชนต่างเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของการพัฒนาการศึกษาชาติ และเหนืออื่นใดผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนถือได้ว่าเขาเหล่านั้นต่างเป็นผู้ที่หาญกล้าและเสียสละเพื่อเข้ามาพัฒนาคนพัฒนาชาติไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยของรัฐ

ต่อกรณีของความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนนั้น ดร.วัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนายกสมาคม สสอท. ได้เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์ฝ่ายข่าวการศึกษาหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ความตอนหนึ่งว่า “ความเท่าเทียมกันของสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แม้ว่าโดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติแนวนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐเองที่กำหนดว่าเอกชนต้องมีบทบาทที่สำคัญพึงได้รับการดูแลให้มีความเสมอภาคกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เข้ามาจัดการศึกษา แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เนื่องจากการตีความก็ดี หรือแนวคิดอะไรบางอย่างที่ทำให้บางส่วนของภาครัฐมองการศึกษาเอกชนนั้นไปอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งบรรดาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนเอกชนอยากจะขอให้เข้าใจว่าการจัดการศึกษาของเอกชนเป็นส่วนที่แบ่งเบาภาระของรัฐได้พอสมควร” (มติชนออนไลน์ 4 มกราคม 2562)

จากความเหลื่อมล้ำหรือไม่เท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนดูเหมือนว่าปัญหาหรือกำแพงที่ขวางกั้นกำลังจะได้รับการดูแลแก้ไขเมื่อรัฐมนตรี อว. เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ภายใต้สมาชิก 75 แห่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และจากการพบปะกันในวันนั้น รมว.อว.ได้กล่าวให้ยาหอมกับมหาวิทยาลัยเอกชนไว้อย่างน่าสนใจหลายเรื่องดังความตอนหนึ่งว่า

“เท่าที่ดูศักยภาพมหาวิทยาลัยเอกชนเห็นว่ามีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ 3 ด้านคือ ด้านการทำงานการศึกษาต่างประเทศ ทั้งการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน และการรุกออกไปสอนที่ต่างประเทศ ด้านการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมโดยยกระดับวิสาหกิจขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย อว.ในการนำองค์ความรู้ไปยกระดับชุมชน ทั้งนี้ให้มหาวิทยาลัยเอกชนหารือกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อน และด้านการเป็นต้นแบบในการควบรวมหลักสูตร การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยและการเรียนออนไลน์ รวมถึงให้ไปดูเรื่องการเปิดหลักสูตรระยะสั้นให้คนทุกช่วงวัยเข้ามาพัฒนาตนเอง หรือเรียกว่าปริญญาจิ๋วเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (มติชน 2 สิงหาคม 2562 หน้า 21)

สาระสำคัญในการประชุมร่วมนอกจาก รมว.จะให้แนวคิดสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสมาคม สสอท. ยังได้เสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการให้กระทรวงและรัฐบาลเข้ามาดูแลมหาวิทยาลัยเอกชนใน 5 ประเด็น อาทิ 1.การจัดตั้ง Business Industry University หรือมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ 2.การพัฒนาอุดมศึกษานานาชาติ 3.การรวมบุคลากรด้านไอซีทีเพื่อทำการวิจัยให้แก่ภาครัฐและเอกชน 4.ให้ อว.ลงทุนทรัพยากรด้านการเรียนรู้ เช่น อินเตอร์เน็ต เพื่อให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่และเล็กสามารถถึงฐานเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง และ 5.ให้ อว.แก้กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงประเด็นหรือปัญหาที่มหาวิทยาลัยเอกชนได้รับและต้องการที่จะให้มีการทลายกำแพงที่ขวางกั้นนอกเหนือจากที่นายก สสอท.คนปัจจุบันได้นำเสนอต่อ รมว.อว.ในที่ประชุมแล้วก่อนหน้านั้นเมื่อทราบว่า รมว.อว.จะร่วมประชุมกับ สสอท. ดร.วัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้สะท้อนมุมมองในประเด็นที่จะมีการเสนอให้กระทรวง อว.ดำเนินการอาทิ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 และโครงสร้างของกระทรวงรวมทั้งบทบาทของ อว.กับโครงสร้างใหม่ที่จะมีส่วนสนับสนุนมหาวิทยาลัยเอกชนในด้านใดบ้าง

นอกจากนั้น อธิการบดีคนดังกล่าวยังเสนอให้มีการแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำของกฎระเบียบต่างๆ ในการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐกับมหาวิทยาลัยเอกชน อยากให้มีการปรับปรุงยกเลิกให้เท่าเทียมกัน ซึ่งนโยบายของ รมว.อว.ที่ได้ประกาศว่าจะลดการบังคับสั่งการมหาวิทยาลัยรัฐก็อยากให้ปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยเอกชนเช่นเดียวกันไม่ว่าเรื่องการปลดล็อกเรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) และการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์..ฯ (ไทยรัฐ 30 กรกฎาคม 2562 หน้า 12)

วันนี้ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเข้าสู่ร่มเงาใหม่หรือไม่ก็ตาม ปัญหาที่ทับถมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งปัญหาอันเนื่องมาจากกระแสดิสรัปชั่นจะเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่มหาวิทยาลัยจะต้องขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและก้าวข้ามสู่การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image