ผิดพลาดโดยบริสุทธิ์-สถานการณ์สมมุติ ยุบสภา : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตํานานการเมืองไทยกำลังมีศัพท์บัญญัติใหม่ขึ้นมาอีกวลีหนึ่ง คือ ผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ หลังจากที่เคยมีวลีที่สร้างความฮือฮามาแล้วสมัยคณะรัฐประหาร รสช. จดจำกันมาจนถึงวันนี้ คือ เสียสัตย์เพื่อชาติ

ครับ สถานการณ์ที่กำลังดำเนินไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญมรสุม เป็นผลจากการกล่าวถ้อยคำ
ถวายสัตย์ปฏิญาณ ข้อความไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาทักท้วงก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า อาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มีผลให้สถานะการเป็นรัฐบาลไม่สมบูรณ์ สิ่งที่ดำเนินไปแล้ว การแถลงนโยบายก็ดี การมีมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่างๆ ก็ดี เป็นโมฆะ

หากมีการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมูญให้วินิจฉัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาจส่งผลถึงสถานะของรัฐบาลต่อไป

Advertisement

ท่าทีตอนแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้แนวทางความสงบสยบความเคลื่อนไหว คิดว่าอีกไม่นานเหตุการณ์คงจะจบลง แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านไม่หยุดการกดดัน จน พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดโดยไม่เจตนา ขอโทษคณะรัฐมนตรี และขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว

กรณีก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เสียงเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจนยังดังต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้

พล.อ.ประยุทธ์จะรับผิดชอบอย่างไร ด้วยวิธีการใด สังคมกำลังติดตามการตัดสินใจ พร้อมกับการคาดเดากันไปต่างๆ นานา รวมทั้งมีข้อเสนอให้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้ากล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วน จากนั้นก็บริหารราชการแผ่นดินต่อไป

Advertisement

ถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกแนวทางอย่างไร ขณะที่เสียงเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงดังไม่หยุด

ยังไม่ทันจะเกิดความชัดเจนเกิดสถานการณ์แทรกซ้อนขึ้นมา พรรครัฐบาลแพ้เสียงพรรคฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในการลงคะแนนเสียงญัตติยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งฝ่ายค้านเสนอให้บรรจุข้อความการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลาง เป็นสัญญาณบอกเหตุถึงความสั่นคลอนของเสถียรภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ติดตามมาด้วยพรรคเล็กกลุ่มต่ำสิบ 2 พรรคประกาศเปลี่ยนแปลงท่าทีจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ หากเป็นจริง ไม่กะล่อน ปลิ้นปล้อนเพื่อต่อรองตำแหน่ง ย่อมกระทบต่อการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เหตุการณ์กำลังเข้มข้น พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกหนทางใดในการแก้ไข ระหว่างขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้ากล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ลาออก หรือไปไกลถึงขั้นยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่

โดยเฉพาะยุบสภา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเร็วเกินไป และโต้แย้งว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบเป็นความผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของสภา แม้จะเกิดกรณีรัฐบาลแพ้โหวต และการเปลี่ยนท่าทีของพรรคเล็ก ก็ตาม

หากรัฐบาลเลือกแนวทางยุบสภามีหวังถูกโจมตีหนักขึ้น จะส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน โอกาสที่จะได้รับเลือกกลับมาในจำนวนเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมจึงเป็นไปไม่ได้เลย มีแต่จะน้อยลง

หนทางยุบสภาจึงเป็นความเสี่ยงทางการเมืองอย่างยิ่ง ยกเว้นแต่ พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจ เพราะเดินหน้าต่อไม่ไหวจริงๆ

ขณะที่การลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาซาวเสียงหาตัวนายกรัฐมนตรีใหม่ จะเป็นคนเดิมหรือคนอื่น ก็แล้วแต่ จึงเป็นอีกสถานการณ์สมมุติที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด

กระนั้นก็ตามในเมื่อสัดส่วนระหว่างพรรครัฐบาล กับฝ่ายค้านยังดำรงอยู่เช่นเดิม แนวทางนี้ก็ไม่ได้ทำให้เสถียรภาพมั่นคงขึ้น รัฐบาลใหม่ก็ยังคงต้องเผชิญมรสุมลูกแล้วลูกเล่าต่อไป

ขณะที่มุมมองของพรรคฝ่ายค้านเห็นว่า การที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เป็นผลมาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ทำให้โครงสร้างพรรคการเมืองในสภาเต็มไปด้วยพรรคเล็กจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นตามลำดับ

แต่ขณะที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เพราะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมด

เงื่อนไขดังกล่าวอาจเป็นชนวนความขัดแย้งทำให้วิกฤตแก้รัฐธรรมนูญมีโอกาสกลับคืนมาอีกครั้ง

ภาพการเมืองสมมุติทั้งหลายที่ว่ามานี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจ อย่างแน่นอน

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก ไม่ยุบสภาวันนี้ วันหน้าก็หนีไม่พ้น ยกเว้นแต่เกิดรัฐประหารล้มกระดานอีกครั้งและเริ่มต้นกันใหม่ คราวนี้จะใช้เวลานานกว่า 5 ปี หรือนานยิ่งกว่านั้น วันเวลาในอนาคตเท่านั้น คือคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image