การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่จังหวัด ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง หรือรวมศูนย์อำนาจตลอดกาล

คําแถลงในโยบายของคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ประกอบด้วย นโยบายหลัก 12 เรื่อง และนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในรอบ 1 ปีนี้นั้นจะเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีปรากฏว่าเป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศรวมทั้งเร่งด่วน ซึ่งเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีการก่อตัวและขับเคลื่อนมาหลายครั้งตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2556 มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองเชียงใหม่มหานครต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถไปต่อได้เนื่องจากมีการยุบสภาและยึดอำนาจเกิดขึ้น ทำให้แนวคิดที่จะมีจังหวัดปกครองตนเอง เช่น ปัตตานี ระยอง ภูเก็ต และอื่นๆ ต้องหยุดชะงัก

และในปี พ.ศ.2558 เป็นช่วงเวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องแผนการให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง และร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. … เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 โดยมุ่งหวังให้เป็นกฎหมายกลาง แต่ก็เงียบหายไปจนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ก็ไม่ได้กล่าวถึงการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชัดเจนเหมือนฉบับก่อนจึงไม่เห็นหนทางในการไปสู่ “จังหวัดปกครองตนเอง”

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีความกังวลของกลุ่มคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ เช่น เป็นการแบ่งแยกรัฐ นายอำเภอมีอยู่หรือไม่ กำนันผู้ใหญ่บ้านจะยังคงอยู่หรือไม่ นักเลงจะครองเมืองหรือไม่ ฯลฯ ถ้าหากพิจารณารูปแบบการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกรงกลัวกันนั้น ในตัวอย่างของกรุงเทพมหานครก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. … ที่เสนอโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีสาระสำคัญบางประการ ที่ควรศึกษาดังนี้

Advertisement

1.โครงสร้างการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 สภาจังหวัดปกครองตนเอง

(1) กำหนดให้สภาจังหวัดปกครองตนเองมีหน้าที่สำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและร่างข้อบัญญัติ การควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และการส่งเสริมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับสภาพลเมือง ทั้งนี้ สมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี โดยการกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องคำนึงถึงเขตพื้นที่และจำนวนประชาชน (ร่างมาตรา 17 – ร่างมาตรา 20, ร่างมาตรา 23 และร่างมาตรา 29)

Advertisement

(2) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองที่สำคัญ เช่น ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และมีการกำหนดให้สมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของจังหวัดปกครองตนเอง และกำหนดการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองไว้ในกรณีต่างๆ เช่น สภาจังหวัดปกครองตนเองมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น (ร่างมาตรา 22, มาตรา 24 และร่างมาตรา 25)

(3) กำหนดให้มีสำนักงานกิจการสภาจังหวัดปกครองตนเองเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากสำนักงานจังหวัดปกครองตนเอง ทำหน้าที่ธุรการของสภาและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสภา (เร่งมาตรา 28)

ส่วนที่ 2 ผู้ว่าการจังหวัด

(1) กำหนดให้ผู้ว่าการจังหวัดมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้เขตจังหวัดปกครองตนเองเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระไม่ได้ โดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการจังหวัดด้วย (ร่างมาตรา 32 และร่างมาตรา 36)

(2) กำหนดให้ผู้ว่าการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น กำหนดนโยบายและการบริหาร

จังหวัดปกครองตนเอง พิจารณาและออกประกาศ ประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดปกครองตนเอง เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของจังหวัดปกครองตนเอง เป็นต้น โดยเหตุที่จะทำให้ผู้ว่าการจังหวัดจะพ้นจากตำแหน่งที่สำคัญ คือ การที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัดปกครองตนเองได้เข้าชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และเพื่อให้การบริหารงานในระหว่างที่ไม่มีผู้ว่าการจังหวัดขาดความต่อเนื่อง ให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปกครองตนเองปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการจังหวัดเท่าที่จำเป็นได้เป็นชั่วคราว (ร่างมาตรา 38 – ร่างมาตรา 41)

ส่วนที่ 3 สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง

(1) กำหนดให้สมาชิกสภาพลเมือง ประกอบด้วย บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ โดยมีสมาชิกสภาพลเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี ซึ่งเป็นออกแบบโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น โดยสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ การตัดสินใจทางการเมือง การจัดทำบริการสาธารณะ จัดประชุมสมัชชาพลเมือง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการเสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกำหนดให้สภาพลเมืองสามารถมีหนังสือให้ผู้ว่าการจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใด ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของสภาพลเมืองได้ (ร่างมาตรา 44 – ร่างมาตรา 46)

(2) กำหนดให้มีสำนักงานสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเองรับผิดชอบงานธุรการของสภาพลเมือง ตลอดจนสำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องที่อยู่ในหน้าที่ของสภาพลเมือง พร้อมทั้งจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของสภาพลเมืองเพื่อเสนอต่อผู้ว่าการจังหวัด สภาจังหวัดปกครองตนเอง และสมัชชาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง (ร่างมาตรา 4)

2.การกำหนดหลักการทั่วไปของจังหวัดปกครองตนเอง

(1) กำหนดให้การปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดปกครองตนเองมีสองระดับคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน ได้แก่ จังหวัดปกครองตนเองมีเขตพื้นที่การปกครองครอบคลุมทั้งจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ได้แก่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลมีเขตพื้นที่การปกครองบางส่วนของจังหวัด นอกจากนี้ยังกำหนดให้จัดตั้งสภาพลเมืองขึ้นภายในจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ร่างมาตรา 12)

(2) กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นในจังหวัดปกครองตนเอง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานแผนและทิศทางการพัฒนาองค์กรปกครองท้องถิ่น” ประกอบด้วย ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเองผู้แทนสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง ผู้แทนเทศบาลและผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทำหน้าที่ประสานอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานแผนและทิศทางในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณระหว่างจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและสภาพลเมือง โดยให้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการดังกล่าวในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ได้กำหนดข้อพิจารณาเพื่อเป็นหลักการของการประสานอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้ว่า การกำหนดโครงการ แผนงานและทิศทางการพัฒนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด จะต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ อนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองประโยชน์ของพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก (ร่างมาตรา 13)

(3) กำหนดหลักการพื้นฐานทั่วไปในเรื่องอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเองซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน โดยกำหนดให้จังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่นเฉพาะในส่วนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งพื้นที่การปกครอง ครอบคลุมทั้งจังหวัด หรือภารกิจที่จังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้จัดทำจะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและการลงทุนซึ่งเทศบาลไม่สามารถดำเนินการได้เอง หรือหากเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการจะไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการให้จังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้ทำ หรือให้การสนับสนุนภารกิจของเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ตามที่มีการร้องขอ หรืออาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นตามความตกลงร่วมกันกับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ส่วนรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเองนั้น กำหนดไว้ในหมวดว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง (ร่างมาตรา 14)

(4) กำหนดหลักการพื้นฐานทั่วไปในเรื่องอำนาจหน้าที่ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตพื้นที่ และมีอำนาจขอให้จังหวัดปกครองตนเองสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะหรือภารกิจอื่นที่จำเป็น หรืออาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นตามความตกลงร่วมกันกับจังหวัดปกครองตนเอง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง (ร่างมาตรา 15)

ส่วนร่างรายละเอียดของ พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. … มีทั้งหมด 135 มาตรา 10 หมวด และบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย
(1) หมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป
(2) หมวด 2 ว่าด้วยจังหวัดปกครองตนเอง
(3) หมวด 3 ว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง
(4) หมวด 4 ว่าด้วยการบริหารเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล
(5) หมวด 5 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
(6) หมวด 6 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับจังหวัดปกครองตนเองและจังหวัดปกครองตนเองกับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
(7) หมวด 7 ว่าด้วยการคลังและรายได้
(8) หมวด 8 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน
(9) หมวด 9 ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ
(10) หมวด 10 ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง
(11) หมวด 11 บทเฉพาะกาล

สาระสำคัญบางประการที่ยกมาเป็นประเด็นให้เห็นว่า โครงสร้างของการบริหารจังหวัดปกครองตนเองมีลักษณะอย่างไร และระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปกครองตนเอง มีกี่ระดับ และมีหน้าที่อย่างไร

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก Website ภายใต้หัวข้อ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการในงานและประชาชนมาแล้ว โดยมุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจในระดับพื้นที่จังหวัด พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรเดินต่อเพื่อให้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เรียกว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” โดยดำเนินการลักษณะนำร่องควบคู่กับการวิจัยพัฒนา และประเมินผล ในพื้นที่จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ปัตตานี ระยอง หรือชลบุรี นครราชสีมาหรือขอนแก่น ปทุมธานี หรือนนทบุรีและเพชรบุรี โดยใช้ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. …

ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดทำเป็นกรอบในการดำเนินงาน ในส่วนของการศึกษานั้นกรณีที่มีรูปแบบการบริหารจัดการจังหวัดเกิดขึ้น จากการศึกษาวิจัย เรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยวนิดา แสงสารพันธ์ (2559) โดยทุนสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีข้อเสนอแนะรูปแบบในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษานิติบุคคลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความคล่องตัว และเป็นอิสระ อาจเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนี้

1.ดำเนินการตามข้อเสนอต่อกรณีการจัดการศึกษา โดยท้องถิ่นขนาดใหญ่ หรือการจัดการศึกษา

โดยจังหวัดในรูปแบบ “จังหวัดจัดการตนเอง”

2.ดำเนินการตามข้อเสนอต่อกรณีการจัดการศึกษาโดยนิติบุคคลที่มีความคล่องตัวและไม่เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

แนวดำเนินการตามข้อเสนอนี้จะเห็นว่ารูปแบบที่ 1 ระบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสามารถเข้าไปอยู่ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นการกระจายอำนาจตรงไปที่โรงเรียนให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลซึ่งในการปฏิรูปการศึกษา ในรอบแรกก็ได้ดำเนินการตามแนวนี้แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งให้ย้ายอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. มาสู่หน่วยตัดสินใจใหม่ ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค สำนักงานศึกษาธิการภาคและคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ก.ศ.จ.) ทำยุทธศาสตร์จังหวัดและดูแลในพื้นที่ของตนเป็นรูปแบบกระจายอำนาจการจัดศึกษาไปสู่ราชการส่วนภูมิภาค หากจะยังคงรูปแบบนี้อยู่ควรนำข้อเสนอจากการวิจัยในเรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่: บทเรียน ทางเลือกและเงื่อนไขความสำเร็จโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2559) มาปรับ/พัฒนาระบบที่กำลังดำเนินการอยู่ดังนี้

1.รัฐควรปฏิรูปการศึกษาอย่างรอบด้าน ได้แก่ ปฏิรูปความรับผิดชอบของหน่วยตัดสินใจ ระบบข้อมูลและการประเมินสถานศึกษา หลักสูตรและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ระบบพัฒนาครู และการค่อยๆ เปิดโอกาสให้โรงเรียนรับบทบาทมากขึ้น ตามความพร้อมและสมัครใจ

2.หน่วยตัดสินใจระดับต่างๆ นับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับกลาง และระดับโรงเรียนควรสร้างแนวร่วมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้ามาสนับสนุนการศึกษามากขึ้น (All for education)

3.ปฏิรูปข้อมูลและสารสนเทศที่ดีให้สามารถบริหารบุคลากรในเขตพื้นที่ขนาดใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและในระยะยาวรัฐควรจะกระจายบทบาทด้านบุคลากรมาสู่ระดับภูมิภาคและระดับโรงเรียนมากขึ้น

4.โรงเรียนใดในจังหวัดมีความพร้อมและสมัครใจ ก.ศ.จ. อาจจะเริ่มนำร่องให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารตนเองได้มากขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลที่เป็นร่างกฎหมายการบริหารจัดการจังหวัดปกครองตนเองและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในเชิงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสู่ส่วนภูมิภาคเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลควรตัดสินใจในการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมทั้งด้านการปกครองและด้านการศึกษาเนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยและร่างกฎหมายที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากกลุ่มคนต่างๆ สามารถปฏิบัติได้ในรัฐบาลชุดนี้ไม่ควรมีคณะทำงานเพื่อศึกษาอีกแล้วเพราะสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและใช้เวลารอคอยต่อไปโดยไม่มีกรอบเวลาเริ่มต้น

นักปกครองท้องถิ่น สภาท้องถิ่นทุกประเภท สมาคมต่างๆ ของประชาชนรวมถึงนักการเมืองทุกระดับร่วมคิดร่วมทำให้มีจังหวัดปกครองตนเอง และการจัดการศึกษาโดยรูปแบบจังหวัดจัดการตนเองในประเทศไทย เป็นไปได้ไหมไม่ต้องรออีก 20 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image