บทนำ : พิษของ‘อภินิหาร’

เสียงพรรครัฐบาล ซึ่งเกินครึ่งของสภาผู้แทนฯมาเล็กน้อย เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลนี้ ทำให้มีข่าวดึง ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านและพรรคอื่นๆ มาเข้าร่วมตลอดเวลา อาทิ การดึง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่ง ส.ส.ที่ตกเป็นข่าวออกมาปฏิเสธ หรือกรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูป เพื่อให้ ส.ส. 1 คนมาร่วมพรรคพลังประชารัฐ อีกทางหนึ่งยังพยายามแก้ปัญหาด้วยการให้ ส.ส.ที่ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องลาออก ขยับอันดับถัดไปขึ้นแทน เพื่อให้มี ส.ส.อยู่ในสภาตลอดเวลา

พรรคพลังประชารัฐก็จะใช้สูตรเดียวกัน เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ขอให้ 5 รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลาออกจาก ส.ส. แต่รัฐมนตรีแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าถ้าเป็น ส.ส.จะได้ทำงานได้ดีกว่า หากทิ้งไปการประสานต่างๆ อาจจะติดขัด และรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ทั้ง 5 คน คงยังไม่ถึงขั้นลาออก ส.ส.

การเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.ไปพร้อมกันย่อมมีข้อดีหลายเรื่อง ปมสำคัญอยู่ที่ว่า การลาออกจาก ส.ส.เพื่อเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว ล่อแหลมที่จะ “ขาลอย” หากต้องพ้นจากรัฐมนตรี โอกาสหลุดออกจากวงจรการเมืองมีสูง โดยเฉพาะในพรรคที่มีปัญหาการเมืองภายใน อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่รัฐบาลมีปัญหาเสียงปริ่มน้ำ การลาออกจาก ส.ส.ถือเป็นการยอมเสียสละ เพื่อแก้ปัญหาให้พรรครัฐบาลมีจำนวนเสียงมากขึ้น ลดสภาพปริ่มน้ำลงไปบ้าง ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของรัฐบาลโดยรวม อาการของรัฐมนตรีที่เสียดายเก้าอี้ ส.ส.จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

กรณีของพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนความยุ่งยากที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูก ที่เรียกกันว่าเป็นอภินิหารของกฎหมายที่ดีไซน์พิเศษ หากกฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานปกติ ผลแพ้ชนะเลือกตั้งจะชัดเจนมากกว่านี้ ฝ่ายชนะเลือกตั้งจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้ แต่เมื่อมีการดีไซน์ไว้ เปิดช่องให้ใช้ชัยชนะที่คลุมเคลือไปตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จึงเกิดสภาพทุลักทุเล แม้แกนนำประกาศจะนำพารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปีก็ตาม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image