โรงเรียนชั้นนำ และโรงเรียนของชนชั้นนำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐมนตรีศึกษาเสนอความคิดว่า จะปรับปรุงการศึกษาโดยสร้างโรงเรียนชั้นนำหรือโรงเรียนของชนชั้นนำ (elite school หรือ elite’s school) แม้ความหมายของสองคำนี้อาจต่างกัน แต่ในเมืองไทยก็ไม่สู้จะต่างอะไรนัก เพราะลูกหลานของชนชั้นนำก็ได้เข้าโรงเรียนชั้นนำเป็นปกติอยู่แล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เราสร้างโรงเรียนชั้นนำขึ้น ก็เพื่อรับลูกหลานของชนชั้นนำ

อันที่จริง นี่ไม่ใช่นโยบายใหม่เอี่ยมอะไร เราทำโดยไม่พูดชัดๆ ออกมาอย่างนี้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ทั้งผมและรัฐมนตรียังไม่เกิดด้วยซ้ำ คือนับตั้งแต่เราเริ่มจัดการศึกษาตามแนวตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจกว่าจึงไม่ใช่การสร้างโรงเรียนชั้นนำแก่ลูกหลานของชนชั้นนำ แต่คือแนวทางเช่นนี้ต้องปรับเปลี่ยนตนเองมาเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย แนวทางดังกล่าวจึงมีลักษณะซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น เพื่อรักษาหลักการเอาไว้ โดยพยายามทำให้ลักษณะเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่แสดงตัวชัดออกมาให้ระคายเคืองแก่คนส่วนใหญ่

ปัญหาที่น่าสนใจกว่าก็คือ สังคมไทยคงเปลี่ยนไปมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ การจัดการศึกษาเพื่อสืบทอดอภิสิทธิ์ และสถานะของชนชั้นนำแก่ลูกหลานเช่นนี้ จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร ผมหวังว่าการย้อนกลับไปดูที่มาของหลักการศึกษาเช่นนี้ในสังคมไทย อาจทำให้เราพอมองเห็นที่ไปของมันได้บ้าง

นับแต่ระยะเริ่มต้น แกนกลางของหลักสูตรการศึกษาที่รัฐจัดขึ้นลอกเลียนหลักสูตรตะวันตก ในโรงเรียนชั้นนำที่สร้างขึ้นเพื่อรับลูกหลานชนชั้นนำนั้น หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนจะมีความใกล้เคียงกับตะวันตกอย่างมาก เพราะเราใช้ชาวอังกฤษเป็นที่ปรึกษาและครูใหญ่ผู้บริหารโรงเรียน แต่ในโรงเรียนระดับต่ำสำหรับลูกชาวบ้าน อาจเป็นพระภิกษุหรือครูไทยเพื่อสอนความรู้พื้นฐาน (R’s ทั้งสาม-อ่าน, เขียน, คิดเลข)

Advertisement

ไม่ต่างอะไรจากโรงเรียนชั้นนำในข้อเสนอของ รมต.ศึกษาปัจจุบัน

ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การศึกษาแผนใหม่ของไทยในระยะแรกได้รับอิทธิพลจากการศึกษาของอังกฤษอย่างมาก แตกต่างจากญี่ปุ่นในสมัยเดียวกัน ที่สำรวจระบบการศึกษาในโลกตะวันตกหลายประเทศ แล้วออกแบบระบบการศึกษาแผนใหม่ที่ผู้นำญี่ปุ่นคิดว่าเหมาะกับญี่ปุ่นเอง ดังนั้นจึงลอกเลียน “แบบอย่าง” จากหลากหลายประเทศ แต่ก็จะให้มาตรฐาน “ญี่ปุ่น” ในบั้นปลาย

การจัดการศึกษาของไทยในระยะเริ่มแรก จึงเป็นเช่นเดียวกับโรงเรียนหรือหลักสูตรมหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่า “นานาชาติ” ในปัจจุบัน ซึ่งมักไปทำสัญญากับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยบางประเทศ แล้วจัดการเรียนการสอนเหมือนเป็นสาขาของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ซ้ำยังโฆษณาด้วยว่าจะให้ผลผลิตใน “มาตรฐาน” เดียวกัน ส่วนมาตรฐานนั้นจะเหมาะกับสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยอย่างไร ไม่ต้องพูดถึง

Advertisement

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองทำให้เกิดครอบครัวคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในราชการที่ขยายตัวขึ้น และในวงการพาณิชย์ที่จำเป็นต้องเปิดเสรีตามข้อบังคับของสนธิสัญญากับมหาอำนาจ จึงไม่อาจกีดกันมิให้บุตรหลานของคนชั้นกลางเหล่านี้เข้าเรียนได้ ชนชั้นกระฎุมพีแทรกเข้าไปในโรงเรียนชั้นนำก่อน ในที่สุดก็สามารถแทรกเข้าไปในชนชั้นนำจนได้

ทั้งนี้ เพราะฐานทางเศรษฐกิจ-สังคมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามแคบเกินไป (เมื่อเทียบกับเยอรมันหรือรัสเซียในสมัยเดียวกัน) ไม่มีกลุ่มเจ้าที่ดิน, พ่อค้า, นักบวช, หรือชนชั้นนักรบ ซึ่งแยกเป็นอิสระจากระบอบ แต่มีผลประโยชน์ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบอย่างกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อขยายระบบราชการแบบใหม่ หรือกองทัพแบบใหม่ จึงไม่มีกำลังคนในหมู่ชนชั้นสูงเพียงพอจะป้อนตำแหน่งงานใหม่ที่สำคัญเหล่านั้น จำเป็นต้องเปิดให้กระฎุมพีเข้าสู่วงอำนาจมากขึ้นตามลำดับ

โรงเรียนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อฝึกบุตรหลานของชนชั้นนำให้สามารถรักษาการนำไว้ในชนชั้นตนเอง ตั้งอยู่บนจินตนากรรมว่าจะรักษาสังคมที่มีช่วงชั้นตายตัว และไม่เปลี่ยนแปลงไว้ได้ตลอดไป นับว่าไม่สอดคล้องกับจินตนากรรมของกระฎุมพี ที่มองเห็นความก้าวหน้าของตนเป็นสิทธิและเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์ ในที่สุดจินตนาการของชนชั้นสูงก็ล่มสลายลงในความเป็นจริง

ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ซ้ำเป็นส่วนที่สำคัญเสียด้วย บุตรหลานของกระฎุมพีจึงเข้าครอบครองโรงเรียนชั้นนำได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันชนชั้นกระฎุมพีก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เร่งเร้าขึ้น ทำให้กระฎุมพีไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สามารถช่วงชิงบทบาทในฐานะชนชั้นนำได้แล้ว กับกระฎุมพีส่วนใหญ่ซึ่งยังอยู่วงนอก ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม

เพื่อรักษาอภิสิทธิ์ไว้กับวงศ์ตระกูลของตนในหมู่กระฎุมพีชั้นสูง การมีโรงเรียนสองระดับคือระดับนำและระดับสามัญธรรมดาสำหรับคนทั่วไป จึงมีความจำเป็น กระฎุมพีชั้นสูงทำได้สำเร็จโดยใช้เงินและเส้นเป็นเครื่องมือ โดยไม่ต้องกีดกันคนทั่วไปออกจากโรงเรียนชั้นนำอย่างเปิดเผย

ยิ่งสร้าง “คอขวด” ในระบบการศึกษาไว้ที่ระดับต่างๆ มากขึ้น ด้วยการสอบคัดเลือกเข้าเรียน ก็ยิ่งทำให้เงินและเส้นมีอานุภาพมากขึ้นไปด้วย

นโยบายของ รมต.ศึกษาคนหนึ่งในช่วง 14 ตุลา-6 ตุลา เสนอแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการทำให้โรงเรียน “ใกล้บ้าน” มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนชั้นนำ ในการนี้ก็อาจจำเป็นต้องโอนย้ายทรัพยากรคนและอื่นๆ จากโรงเรียนชั้นนำ เข้ามาหนุนโรงเรียน “ใกล้บ้าน” บ้าง ปรากฏว่าก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ เพราะเห็นว่า “ของเขา” (โรงเรียนชั้นนำ) ดีอยู่แล้ว จะไปลดคุณภาพทำไม สิ่งที่ควรทำคือทำให้โรงเรียน “ใกล้บ้าน” ดีเทียบเท่ากับโรงเรียนชั้นนำจะถูกต้องกว่า ส่วนจะทำได้อย่างไรและเมื่อไรนั้น นักวิจารณ์ไม่ได้กล่าวไว้

แสดงว่ากระฎุมพีส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่า โรงเรียนชั้นนำได้ส่วนแบ่งทรัพยากรเหนือโรงเรียนทั่วไป ความเสมอภาคทางคุณภาพการศึกษาจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอีก ตำแหน่งงานดีๆ ที่มีค่าตอบแทนสูง ต้องการการศึกษาที่แตกต่างจากที่โรงเรียนชั้นนำจัดให้ เช่น ควรรู้ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น, หรือเกาหลี) ดีเยี่ยม เพื่อเป็นฐานให้สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ รวมทั้งเส้นสายที่บุตรหลานกระฎุมพีชั้นสูงพึงสานไว้แต่ต้น ก็แตกต่างไปจากเดิม มีลักษณะเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น

นี่คือที่มาของความคิดสร้างโรงเรียนชั้นนำของ รมต.ศึกษาคนปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมาแล้ว เป้าหมายที่แท้จริงของนโยบายคือปรับเปลี่ยนโรงเรียนชั้นนำให้มี “มาตรฐาน” อย่างเดียวกับโรงเรียนนานาชาติ (ส่วนจะสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่ามาตรฐานที่มีอยู่เดิมนั้นยกไว้ก่อน) ซึ่งจะตอบสนองต่อความต้องการของกระฎุมพีชั้นสูงมากกว่า

เป้าหมายของนโยบายไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปคุณภาพการศึกษา หรือสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแต่อย่างไร ส่วนที่ท้วงติงว่า จะเป็นการดึงเอาทรัพยากรส่วนรวมไปใช้ตอบสนองความต้องการของคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วนั้น เอาเข้าจริง โรงเรียนชั้นนำก็ดึงเอาทรัพยากรส่วนรวมไปใช้เช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่นโยบายใหม่ของ รมต.ไม่ปิดบังอำพราง
เท่านั้น

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสังคมไทยนั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความไม่เสมอภาคในแทบจะทุกด้านที่เป็นอยู่ในประเทศ เรามีทุนผูกขาดอยู่กับคนไม่กี่ตระกูลตลอดมา อำนาจทางการเมืองกระจายไปอย่างไม่เท่าเทียมแก่คนข้างน้อย วัฒนธรรมที่ได้รับยกย่องให้เป็นของชาติ คือสมบัติของคนเพียงหยิบมือเดียว ฯลฯ

สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่สืบมาจนไม่นานมานี้ที่ประชาชนจำนวนมากระดับมวลชนเข้ามาเรียกร้องความเสมอภาคในมิติต่างๆ เกิดแนวคิดที่แยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน นั่นคือระหว่างแนวคิด “ชนชั้นนำนิยม” (elitism) และ “เสมอภาคนิยม” (egalitarianism)

ระบบการศึกษาที่แบ่งโรงเรียนเป็นสองประเภทคือ “ชั้นนำ” และ “ทั่วไป” จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็คงต้องซ่อนเงื่อนของความต่างให้แนบเนียนยิ่งขึ้นเท่านั้น แม้แต่ใช้การสอบคัดเลือกเพื่อรับนักเรียนเพียงอย่างเดียว (อย่างที่ข้าราชการกระทรวงศึกษาเสนอ) ก็ยังไม่แนบเนียนพอ เพราะในปัจจุบัน ใครๆ ก็รู้แล้วว่าความสำเร็จในการสอบคัดเลือกเกิดขึ้นจากอานุภาพของเงินอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนโรงเรียนชั้นนำเป็นโรงเรียนนานาชาติเลย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อยในสังคมที่การต่อสู้ระหว่างแนวคิดสองอย่างดังกล่าวกำลังเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

การใช้ทรัพยากรสาธารณะเพื่อสร้างและจุนเจือโรงเรียนชั้นนำสำหรับอภิสิทธิ์ชน คงทำได้ยากขึ้นตามลำดับข้างหน้า ชนชั้นนำจำเป็นต้องลงทุนในการศึกษาของบุตรหลานตนเองมากขึ้น เช่นส่งเข้าโรงเรียนเอกชนในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งก็จะเหมือนกับชนชั้นนำในสังคมอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image