วิวาทะโรงเรียนชั้นนำ ปัญหาอยู่ที่การสอบหรือเขตพื้นที่บริการ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์คัดค้านแนวคิดที่จะให้โรงเรียนชั้นนำหรือโรงเรียนอีลิท (Elite) รับนักเรียนโดยการสอบเข้า 100% เกิดเป็นประเด็นวิวาทะทางการศึกษาที่น่าร่วมวงเสวนาเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งน่าติดตามว่าในการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2563 เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

เหตุจากความคิดที่ต่อการใช้วิธีสอบเป็นเครื่องตัดสิน ว่าทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ ระหว่างเด็กเก่งกับเด็กไม่เก่ง เด็กที่มีฐานะดีกับเด็กที่ยากจนด้อยโอกาส การสอบทำให้เกิดการกวดวิชา ลูกคนรวยได้เรียนติวต่างๆ นานาย่อมมีโอกาสมากกว่า การสอบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ปิดหนทางเด็กไม่เก่ง เด็กยากจน เป็นการวัดผลระยะสั้นๆ ชั่วครู่ชั่วยามซึ่งไม่ได้ผลอะไรเท่าที่ควร การสอบทำเกิดการทุจริต ยิ่งทำให้คนเก่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก เป็นมุมมองด้านเดียว

แต่หากมองอีกด้าน การสอบทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะให้โอกาสกับทุกคน ไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง รวยหรือจน หากทำให้การสอบบริสุทธิ์ ยุติธรรม การสอบเป็นการวัดความรู้ ความสามารถขั้นต่ำที่คนคนนั้นควรจะมี

Advertisement

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ต้นเหตุเกิดจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่สมดุล การสอบเป็นผลที่ตามมา มุมนี้เป็นทรรศนะอีกด้านหนึ่งที่มีต่อวิธีวัดโดยการสอบ ส่วนจะสอบอย่างไรถึงจะเหมาะ ปรนัย อัตนัย สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ นั่นเป็นรายละเอียดต้องวิวาทะกันต่อไป

อีกสาเหตุหนึ่งของความลักลั่น เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางการศึกษา เกิดจากคุณภาพ มาตรฐานของสถานศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เด็กต้องการเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า

ถ้าทำให้โรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันได้ทั่วประเทศ การสอบแข่งขันก็จะลดความสำคัญลงจนถึงขั้นไม่จำเป็น เพราะทุกคนไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันเข้าโรงเรียนเด่นดัง เข้าโรงเรียนไหนก็ได้เพราะมีคุณภาพไม่ต่างกันมาก

Advertisement

แต่เพราะว่าความเป็นจริง โรงเรียนของเรามีคุณภาพแตกต่างกันมาก นั่นเอง

นอกจากนั้น ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการรับนักเรียนไม่ได้อยู่การสอบเท่านั้น แต่อยู่ที่การกำหนดเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน ที่แบ่งเป็นในเขตกับนอกเขต

แนวปฏิบัติในการกำหนดเขตพื้นที่บริการดังกล่าวนี้ ทำให้เด็กที่อยู่ใกล้โรงเรียนที่มีคุณภาพ อัตราการแข่งขันสูงหรือที่เรียกว่าโรงเรียนชั้นนำ โรงเรียนอีลิท ไม่ว่าเด็กเก่ง ไม่เก่ง ลูกคนรวย หรือลูกคนจน ถือว่าเป็นเด็กในเขตพื้นที่บริการ ย่อมได้เปรียบ

เด็กที่อยู่ห่างไกล ถูกจัดเป็นเด็กนอกเขตพื้นที่บริการ ถ้าจะเข้าโรงเรียนเดียวกันนี้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก

การกำหนดเขตพื้นที่บริการดังกล่าว จึงเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน เป็นความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากถิ่นที่อยู่ของคนอยู่ใกล้ กับคนอยูไกลโรงเรียน

เหตุนี้จึงทำให้เกิดข้อเสนอให้โรงเรียนเด่นดัง เปลี่ยนแปลงวิธีการกำหนดเขตพื้นที่บริการใหม่เป็นเขตบริการทั่วประเทศ เด็กบ้านอยู่ใกล้ อยู่ไกลโรงเรียน เด็กเก่ง ไม่เก่ง ลูกคนรวย คนจน มีสิทธิเสมอภาคเข้าเรียนได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการสอบ การคัดเลือก หรือการจับสลากเป็นเครื่องตัดสินก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหากเด็กในเขตหรือนอกเขต มีจำนวนมากกว่าที่นั่งที่โรงเรียนจะรับได้ ทั้งสองกลุ่มนี้ก็จะผ่านการคัดเลือกโดยการสอบหรือไม่ก็ใช้วิธีการจับสลาก

ฉะนั้น แนวทางนโยบายที่ควรจะเน้น แทนที่จะมุ่งไปที่โรงเรียนดี มีคุณภาพอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นเร่งรัดพัฒนาโรงเรียนที่คุณภาพด้อยลงมาให้ยกระดับสูงขึ้นจนทัดเทียมโรงเรียนชั้นนำในที่สุด

หากทำให้โรงเรียนคุณภาพน้อยมีคุณภาพขึ้น ก็จะจูงใจให้เด็กมาเรียนใกล้บ้านมากขึ้น การกำหนดเขตพื้นที่บริการ ในเขต นอกเขตอย่างที่ผ่านมาก็ไม่จำเป็น

ปัญหาการทุจริต ย้ายสำมะโนครัว รับจ้างเอาชื่อเด็กเข้ามาใส่ทะเบียนบ้าน หรือมาเช่าบ้าน ซื้อคอนโดใกล้โรงเรียนเด่นดังก็ลดลงตามไป

การรับนักเรียนหากไม่ใช้วิธีการสอบเป็นเครื่องมือตัดสิน ก็ต้องใช้วิธีการคัดเลือก จัดสรรกำหนดโควต้า หรือโดยการจับสลาก

แม้กระนั่้นก็ตามวิธีการจับสลาก อาจถูกมองได้อีกว่าไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดมีคำถามว่า ใครบ้างมีสิทธิจับสลาก ทำไมคนนี้มีสิทธิ อีกคนไม่มี

แนวทางปฏิบัติในการรับนักเรียน หากไม่ปรับเปลี่ยนเขตพื้นที่บริการโรงเรียนเด่นดังใหม่ ยังคงใช้เขตพื้นที่เช่นเดิม แม้จะปรับเปอร์เซ็นต์ให้รับเด็กในเขตเพิ่มจาก 60% ถึง 100% ก็ตาม ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมก็ยังดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะเด็กที่อยู่ใกล้ รายรอบโรงเรียนดังก็จะได้เปรียบเด็กที่อยู่ห่างไกล แต่โชคร้ายอยู่ใกล้โรงเรียนไม่เด่นดัง คุณภาพด้อยกว่า นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image