ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ประเทศไทยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เกี่ยวพันและครอบคลุมในอีกหลายมาตรา แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยไว้ในแทบว่าทุกกรณี

ตั้งแต่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

ประการสำคัญคือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมย กฎ หรือข้อ บังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

ขณะเดียวกัน เมื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติไว้ว่า พระมหกษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้น คืออำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เนื่องจากพระมหากษัตรนิย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

Advertisement

ดังนั้น ไม่ว่าบทบัญญัติใดหรือกรณีใดอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อรับผิดชอบในทุกกรณีนั้น

การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัส หรือพระราชดำริใดพระราชทานแก่คณะบุคคลหรือบุคคล เป็นการให้พร ให้กำลังใจเพื่อนำไปปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการอื่นใดให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และถูกต้อง

เมื่อคณะบุคคลหรือบุคคลใด เข้าเฝ้าเพื่อการใดก็ตาม พระมหากษัตริย์จะทรงทราบและ/หรือจะพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือพระราชดำริ แล้วแต่กรณีในฐานะทรงเป็นประมุข

Advertisement

ดังกรณี เมื่อนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามมาตรา 161 เสร็จแล้วพระมหากษัตริย์จึงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น มีความตามที่นายกรัฐมนตรีได้นำมาแสดงกับปวงชนชาวไทยผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้รับรู้ถึงพระบรมราโชวาทนั้นให้ได้ทราบโดยทั่วกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราโชวาทว่าอย่างไร ทั้งนี้ข้อความในพระบรมราโชวาทตอนท้ายคือ

“ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีด้วยความถูกต้องต่อไป” ตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้

การถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่นายก รัฐมนตรีและ / หรือคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ เป็นคนละกรณีกับการพระราชทานพระราชดำรัส ซึ่งนายกรัฐมนตรีนำข้อความที่ได้รับพระราชทานพร้อมลายพระหัตถ์ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน นำมาแสดงต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชน

นั่นเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องนำใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นสิริมงคลและเป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจสืบไป พร้อมต้องนำไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องเพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ตามคำถวายสัตย์ฏิญาณ

ส่วนกรณีการร้องเรียนต่อคณะผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องแล้วส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไปขอรับ

ระบอบประชาธิปไตยคือปวงชนชาวไทยเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนดีอย่างนี้ครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image