แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ระยะนี้มีเรื่องดีๆ ที่ทำให้พวกเราชุ่มใจชื่นบานหลายเรื่อง เรื่องแรกๆ ก็คือกระแสลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (One-way Plastics) ร้านค้า ร้านอาหารตื่นตัว ลดการใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกหรืองดใช้โฟมบรรจุอาหาร สังคมไทยมักมีอะไรแปลกๆ เสมอ บางทีเราก็ทำอะไรสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้มาตรการกฎหมายมาบังคับ อย่างเช่นการรณรงค์ไม่ใช้เบนซินไร้สารตะกั่วในปี 2536 การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การรณรงค์ไม่มอบเหล้าเป็นของขวัญ หรือกรณีการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ซึ่งก่อนนี้ผู้ผลิตต่างเกี่ยงกันไม่ยอมเลิกด้วยเหตุผลเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่อยู่ๆ ก็พร้อมใจเลิกได้

ทุกวันนี้ เราเริ่มชินกับคำถามของพนักงานเก็บเงินตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า “เอาถุงไหมคะ” และเราก็เห็นผู้คนถือถุงผ้ามาใส่ของเองมากขึ้น ลูกค้าเอาแก้วของตัวเองมาใส่ชา กาแฟกลายเป็นเรื่องปกติจนเริ่มรู้สึกว่าถ้าเรายังคงใช้ภาชนะของร้านประเภท Take away เรากำลังจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมที่ไม่รักษ์สิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการสื่อที่ตรงใจ เข้าใจง่ายและต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ใช่มาแวบๆ แล้วหายไป ปัจจัยที่สองคือกระบวนการรับรู้ของประชาชน เราคงไม่ตระหนักกับปัญหาขยะพลาสติกมากนัก หากเศษพลาสติกเป็นแค่ขยะที่ถูกคลื่นซัดมาเกลื่อนหาดช่วงฤดูมรสุมที่คุ้นเคยมาทุกปี จนกระทั่งเริ่มมีข่าวปลา เต่า บาดเจ็บ ล้มตายเพราะเศษพลาสติกและข่าวที่พบว่ามีเศษและใยพลาสติกขนาดเล็ก (Micro Plastics and Microbeads) ปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหารและกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ สรุปง่ายๆ ว่า พอเริ่มเห็นเงาโลงศพก็เริ่มสำนึกอะไรทำนองนั้น

เวลานี้ เราไปซื้อน้ำขวดเราจะไม่เห็นพลาสติกหุ้มฝาขวดแล้ว มันหายไปจากชั้นวางสินค้า หายไปจากกระบวนการผลิตจริงๆ นี่แหละคนไทย ถึงเวลา อะไรก็ทำได้

ต่อไปการใช้หลอดพลาสติกคงลดลงด้วยแต่จะถึงขั้นหายไปเลยหรือไม่ คาดเดายาก มีร้านอาหารหลายแห่งนำเสนอวัสดุทดแทนหลอดพลาสติก บ้างกลับไปใช้หลอดกระดาษ บ้างเอาผักบุ้ง ไม้ไผ่ ไม้รวกหรือหลอดสแตนเลสที่ทำความสะอาดได้มาใช้ทดแทน จริงๆ แล้วเราควรเริ่มด้วยการลดการใช้ก่อน ไม่ใช่การหาวัสดุทดแทน เราควรปรับพฤติกรรมและออกแบบผลิตภัณฑ์หรือปรับวิธีกินดื่มกันใหม่ ทำอย่างไรเราไม่ต้องใช้หลอดดูดโดยเฉพาะหลอดพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้ทิ่มขวด กล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ หลอดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้แหละมีปัญหามาก ส่วนโฟม มันกลายเป็นผู้ร้ายของสิ่งแวดล้อมไปเสียแล้ว ชาวบ้านตื่นตัวลดและเลิกใช้ภาชนะโฟมจนจะหายไปจากตลาด เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ผลิตภาชนะด้วยวัสดุทดแทนอย่างเช่น กล่องบรรจุอาหารจากกาบหมาก ชานอ้อยหรือจากเยื่อกระดาษ

Advertisement

อันที่จริง เราไม่ได้ปฏิเสธพลาสติกทั้งหมด พลาสติกยังมีความจำเป็น ในชีวิตประจำวันเราต้องใช้พลาสติกมากมาย เพียงแต่ไม่ควรใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นขยะเป็นปัญหา เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่มีชีวิต หลอดพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณภาพดี ทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำได้ก็เป็นประโยชน์ ดีกว่าการใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุธรรมชาติที่ใช้ซ้ำไม่ได้ หรือใช้ได้แค่สองสามครั้งแล้วก็ต้องทิ้ง ต้องหาวิธีกำจัด ถึงแม้มันจะเป็นวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้เมื่อใช้ซ้ำไม่ได้มันก็เป็นขยะเหมือนกัน เราจะกำจัดมันแบบง่ายๆ เทกองไว้เฉยๆ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ได้เช่นกัน

เรื่องดีๆ อีกเรื่อง คือความตื่นตัวในการจัดการกับขยะเศษอาหาร ไม่นานมานี้ กระทรวงมหาดไทยปูพรมให้ท้องถิ่นจัดการกับขยะเศษอาหารโดยการใช้กรีนโคน (ถังตัดก้น-ฝังดิน-มีฝาปิด) เวลานี้ในต่างจังหวัด แทบทุกชุมชนหรือในโรงเรียนของท้องถิ่นมีการติดตั้งกรีนโคน ชาวบ้านและเด็กๆ แยกขยะเศษอาหาร ถ้าไม่เอาไปเลี้ยงสัตว์ก็จะเอาไปใส่ลงในกรีนโคน ทำไปถูกบ้างผิดบ้าง ทำแล้วได้อะไรออกมาหรือติดตั้งแล้วได้ใช้งานจริงหรือไม่ เวลานี้ยังไม่มีการสรุปผล แต่ที่เห็นว่าเป็นผลของโครงการนี้คือชาวบ้านและเด็กๆ ได้รับรู้เรื่องการแยกขยะและการใช้ประโยชน์จากขยะ ดูเหมือนว่าคนต่างจังหวัดจะรู้เรื่องการแยกขยะมากกว่าคนกรุงเทพฯเสียแล้ว

แต่เรื่องที่ต้องแก้ไขคือการสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะเศษอาหารด้วยกรีนโคน โดยเฉพาะในโรงเรียน ควรให้เด็กๆ เข้าใจการใช้กรีนโคนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ความจริงแล้วต้นแบบของกรีนโคนเป็นการแปรรูปขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหมักด้วยจุลินทรีย์ที่ใช้อากาศ ผลที่ได้จะเป็นปุ๋ยหมักหรือ Compost แต่พอเอาต้นแบบมาดัดแปลงโดยไม่เข้าใจ เอาถังตัดก้นหรือเจาะรูแล้วฝังลงไปในดิน เมื่อเทเศษอาหารที่มีความชื้นหรือน้ำมากๆ น้ำยังขังอยู่ในกรีนโคน สิ่งที่เกิดขึ้นข้างในถังกลายเป็นการย่อยสลายที่ไม่ใช้อากาศ หรือจะเรียกว่า “เปื่อยไปเอง” ก็พอได้ บวกกับความสับสนน่างงเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องปุ๋ยหมัก น้ำหมัก น้ำอีเอ็ม ปุ๋ยน้ำ สารพัดศาสตร์ ผิดๆ ถูกๆ จนทำให้การแปรรูปขยะเศษอาหารได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลก็มาก ทำแล้วเจอปัญหาจนเลิกทำ สุดท้ายการส่งเสริมที่ตั้งใจไว้ก็ล้มเหลว

Advertisement

ความเข้าใจที่ถูกต้องในการแปรรูปขยะเศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย ทำให้การทำปุ๋ยเป็นเรื่องสนุกสนาน น่าติดตาม เพราะเป็นเรื่องที่เราสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้จุลินทรีย์เติบโตและทำงานอย่างเต็มที่ ระหว่างการทำงานของจุลินทรีย์จะเกิดความร้อน ไม่มีกลิ่นเน่าของขยะเศษอาหารแต่ขยะเศษอาหาร ขยะอินทรีย์จะถูกย่อยจนเป็นปุ๋ย เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถแปรรูปขยะเศษอาหาร ใบไม้กิ่งไม้หรือวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ให้เป็นปุ๋ยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กรีนโคน เราออกแบบวิธีการเองได้ จะกองไว้ก็ได้ ใส่เข่งก็ได้ ใส่ตะกร้าก็ได้ ล้อมคอกก็ได้หรือจะทำเป็นเสวียนสานไม้ไผ่ก็ได้ ขึ้นกับสภาพพื้นที่และความสะดวกของเราเอง ทำปุ๋ยโดยไม่ต้องใช้แบบพิมพ์เขียวเดียวกันทั่วประเทศ

ใครสนใจเรื่องการทำปุ๋ยหมัก สนใจการทำงานของจุลินทรีย์อย่างถูกต้องที่เป็นวิทยาศาสตร์ จุลินทรีย์แบบไหนทำปุ๋ยได้อย่างไร สนใจที่จะเอาขยะเศษอาหารมาใช้ประโยชน์ช่วยลดปัญหาขยะ ลองเข้าไปในเฟซบุ๊ก “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง” ที่เป็นสังคมดิจิทัลแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์กันอย่างคึกคัก มีตั้งแต่เริ่มทดลองทำ แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยกันแนะนำ จนถึงทำแบบมืออาชีพ สามารถทำได้ตั้งแต่ใช้พื้นที่มุมเล็กๆ ในห้องคอนโดตึกสูงในเมืองจนถึงขนาดทำเป็นโรงงานบรรจุถุงขาย มีเรื่องราวแปลกจากประสบการณ์จริงแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน

เรื่องดีๆ เหล่านี้ ทำให้เราเริ่มเห็นทางสว่าง และถ้าท้องถิ่นได้ขยับปรับตัวอีกสักหน่อย เอาจริงเอาจัง ตรงไปตรงมา ปัญหาขยะก็ไม่ยากเกินกว่าจะแก้ ถึงเวลา อะไรก็ทำได้ นี่แหละคนไทย

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image