ส่งออก ท่องเที่ยว หัวจักรรายได้ สะดุดค่าเงินบาท

ส่งออก ท่องเที่ยว หัวจักรรายได้ สะดุดค่าเงินบาท

ส่งออก ท่องเที่ยว หัวจักรรายได้ สะดุดค่าเงินบาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันที่ 26 สิงหาคม ที่ระดับ 30.58 บาทต่อดอลลาร์

แข็งค่าขึ้นจากช่วงสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์

ส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี

Advertisement

และแทบจะเป็นสกุลเงินเดียวในเอเชียที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ในระยะสั้น ยังจะมีการไหลเข้าของเงินทุนในตราสารหนี้อีกครั้ง เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่เมื่อเงินบาทไม่อ่อนค่าตามเงินหยวน ก็ทำให้นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนระยะสั้นในประเทศไทย

Advertisement

นอกจากนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกระแสการโอนเงินเพื่อเข้ามาลงทุนตรงในบริษัทไทย

เงินบาทจึงแข็งค่ายิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาค

ฟังดูเหมือนดี

เพราะประเทศที่ค่าเงินแข็งย่อมแสดงว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะต้องแข็งแกร่ง

จึงมีคนต่างประเทศเชื่อมั่น เชื่อใจ หอบเงินเข้ามาลงทุน จนกระทั่งผลักดันให้ค่าเงินในประเทศแข็งตัวขึ้น

แต่ความจริงของประเทศไทยเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ดูจากคำให้สัมภาษณ์ข้างบนก็จะเห็นได้ชัด

ว่าการแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้นกับปัจจัยเศรษฐกิจพื้นฐาน

แต่เกิดขึ้นเพราะ “การเก็งกำไร” ของนักลงทุนต่างประเทศ ที่เห็นส่วนต่างของดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ

ถามว่าเมื่อค่าเงินแข็งตัวโดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

อะไรจะเกิดขึ้นตามมา

คำตอบก็คือ-ปัญหา

ปัญหาของภาคเศรษฐกิจที่อาศัยรายได้จากเงินตราต่างประเทศ

ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์วิเคราะห์ปัญหาของภาคการท่องเที่ยวไทยที่สร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี

ว่ากำลังอยู่ในภาวะทรงกับทรุด

ด้วยปัญหาเฉพาะหน้า 3 ประการ

ข้อแรก นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวน้อยลง

ข้อต่อมา การปรับตัวไม่ทันธุรกิจในโลกดิจิทัล

และข้อสุดท้าย ค่าเงินบาทแข็งตัวกว่าใครๆ ในภูมิภาค

ส่วนในระยะยาว การเน้นการท่องเที่ยวแบบไม่มียุทธศาสตร์รองรับ และความอ่อนด้อยในการปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

จะทำให้อะไรที่เคยคิดว่าเป็น “เสน่ห์” เมื่อ 20-30 ปีก่อน กลายเป็น “ของเชย” ไปแล้วสำหรับโลกยุคใหม่

และนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชา ปรับตัวได้ดีกว่า จนอัตราการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเลขสองหลักมาหลายปี

หนึ่งในปัญหาเฉพาะหน้า

คือค่าเงินบาท

ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองถึงขั้นที่รัฐบาลต้องควักกระเป๋าขุดเงินกว่า 300,000 ล้านบาท ออกมาโปรยหว่าน

โดยหวังว่าจะพยุงหรือประคองเศรษฐกิจมิให้ตกต่ำกว่านี้

แต่ส่วนที่เป็นการ “หารายได้” เพื่อฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจหลุดจากหลุมดำได้อย่างแท้จริง กลับถูกแตะต้องน้อยมาก

และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ช่องทางในการแสวงหารายได้ตีบตัน อย่าง “ค่าเงินบาท”

ก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงน้อยมาก

ตราบเท่าที่รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ยังอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ประชาชาติหรือจีดีพี

การแข็งค่าหรืออ่อนตัวของค่าเงินบาทแต่ละสลึงเฟื้อง ล้วนแล้วแต่มีความหมายอย่างยิ่ง

ยิ่งการแข็งค่าของค่าเงินเกิดจากการเก็งกำไร ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือลงทุนในเศรษฐกิจพื้นฐาน

ยิ่งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว

รัฐบาลคิดหาทางออกอย่างไร

ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดหาทางออกอย่างไร

สังคมไทยจะหาทางออกอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image