เสือกับสิงห์ กระทรวงศึกษา : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผู้นำครู 4 ภาคทั่วประเทศพร้อมด้วยเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่ง ประเทศไทย (ส.ค.ท.) เสนอต่อนายณัฏฐพลทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขอให้ยับยั้งการนำเสนอและประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ยกร่างเสนอต่อรัฐบาลที่แล้ว
ในโอกาสเดียวกันผู้นำครูยังได้ยื่นข้อเรียกร้องอื่นอีกรวม 8 ข้อ หนึ่งในนั้น ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฉบับ และคืนสิทธิผู้ได้รับผลกระทบและบริสุทธิ์ เสนอให้ยุบศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค

โดยให้เหตุผลสนับสนุนว่า โครงสร้างนี้ไม่มีส่วนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด มีการทำงานที่ทับซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทั้งสองในระดับพื้นที่ ศึกษาธิการจังหวัดบางคนบ้าอำนาจอย่างหนัก หลงตนเองคิดว่าเป็นนายของ ผอ.เขตและนายของผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งครูทุกคนในจังหวัด

ข้อเรียกร้องนี้ หากเกิดผลในทางปฏิบัติ นั่นเท่ากับการปรับโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดต้องยกเลิกไป ผลไม่เพียงแต่ยุบเลิกกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขตที่ตั้งขึ้นมาในยุค คสช.เท่านั้น

แต่จะเป็นการฟื้นคืนคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ถูกยุบไป กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมากรรมการสองชุดดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุหลัก ทำให้เกิดโมเดล คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขต ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 แต่ในที่สุดก็ถูกเรียกร้องให้ยุบเลิกกลไกที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ทั้งหมด

Advertisement

ปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นมาตามลำดับนี้ ล้วนเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาการศึกษาที่มุ่งเน้นแก้ที่โครงสร้างการบริหารเป็นหลัก สะท้อนความเป็นจริงว่าไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งด้านคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การคิดสร้างกลไกการบริหารโครงสร้างขึ้นมาใหม่ แม้จะสอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยมีจังหวัดเป็นฐาน มีกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเป็นศูนย์กลางการประสานงานก็ตาม

แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติในเมื่อคนไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและแนวทางที่ควรมุ่งการพัฒนาการศึกษาเป็นหลักได้ การมุ่งเน้นแต่ภารกิจเฉพาะด้านบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษาอย่างที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้ยุบเลิกโครงสร้างนี้อีกครั้ง

Advertisement

เป็นสิ่งยืนยันว่า ความขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีผลใช้บังคับ ยังคงดำรงอยู่

ช่องว่างของอำนาจระหว่างเสือกับสิงห์สองกลุ่มนี้ ไม่ได้ถูกแก้ไขให้ทุเลาเบาบางลงเท่าที่ควร

ตลอดสามปีที่ผ่านมานับ ตั้งแต่ปี 2559 ที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับแรก ที่ 10/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ถึงวันนี้ ไม่ปรากฏผลการรายงานถึงพัฒนาการความร่วมมือในด้านพัฒนาการศึกษาของสองกลไกนี้ (เขตพื้นที่กับศึกษาธิการจังหวัด) ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาคมวงการศึกษาและสังคมโดยทั่วไปอย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด

มีแต่ข่าวความขัดแย้งจนถึงขึ้นมีข้อเสนอให้ผู้บริหารตัดสินใจเลือกจะให้ฝ่ายใดอยู่หรือไป เกิดขึ้นเป็นระยะ ล้วนไม่ได้ส่งผลดีต่อการจัดการการศึกษาในระดับโรงเรียนแม้แต่น้อย

สะท้อนถึงการดำเนินงานของส่วนบน หน่วยบังคับบัญชาของสองหน่วยงานนี้ หรือสองแท่งในกระทรวงเดียวกันอย่างชัดเจน ยังคงเป็นไปในลักษณะ หน่วยใคร หน่วยมัน ฝ่ายบริหารสูงสุดไม่สามารถประสานทำให้ความขัดแย้งในระดับพื้นที่ลดลงได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นคำตอบในตัวมันเองว่า ถึงการแก้ปัญหา การปฏิรูปการศึกษาซึ่งเน้นที่โครงสร้าง ไม่สามารถแก้ได้ตรงจุด กลับทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ทิศทางที่ควรจะเป็นต่อจากนี้ นอกจากต้องทำให้ช่องว่าง ความขัดแย้งระหว่างสองกลไกนี้ลดลง กำหนดบทบาทไม่ให้ทับซ้อน เกิดความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้งแล้ว ต้องเร่งทำให้โมเดลโรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอำนาจบริหารจัดการ ทั้งวิชาการ บุคลากร งบประมาณและบริหารทั่วไป เป็นจริงขึ้นมาโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image