อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง ในยุคที่เศรษฐกิจ วิกฤต ผันผวน : โดย ผดุง จิตเจือจุน

อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง ในยุคที่เศรษฐกิจ วิกฤต ผันผวน : โดย ผดุง จิตเจือจุน

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2517 และได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างแพร่หลาย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้ที่ได้ศึกษา รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน จึงสามารถตั้งสติ และทำใจหนักแน่นได้ เมื่อตนนั้นมาประสบเคราะห์กรรมในเหตุการณ์ดังกล่าว จึงสามารถประคองตนประกอบอาชีพ ช่วยตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดจากมรสุมทางเศรษฐกิจด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางเศรษฐกิจ และสังคม

ดังเราได้เห็นผู้ใช้แรงงานในอาชีพต่างๆ ที่ถูกผลกระทบจาก “เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ต่างอพยพกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิม เอาพื้นนา ไร่สวนที่ตนมีอยู่นั้น พลิกฟื้นเป็นแหล่งทำกิน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการปฏิบัติตนตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทำไร่ ทำนา ทำสวนผัก ซื้อหมู ซื้อไก่ มาปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ อยู่อย่างพอกิน พอใช้ ผลิตผลที่มีเหลือก็นำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน และไม่เดือดร้อนต่อการดำรงชีวิต เป็นอยู่อย่างพอเพียง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้รัฐบาลจะมีความพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกจ่ายเงินประชาชน ทุ่มเงินลงไปในท้องถิ่นชนบทในโครงการต่างๆ ไปหลายครั้ง เพื่อหวังจะทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค ให้ประชาชน ชาวบ้าน มีเงินจับจ่ายใช้สอย แต่เศรษฐกิจก็ไม่กระเตื้องขึ้นเท่าไรนัก ยิ่งมาเกิดเทรดวอร์ สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยยิ่งน่าวิตก น่ากลัวจะถดถอยไปอีกนาน

Advertisement

ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทย แต่เดิมแย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่หนักลงไปอีก เงินที่รัฐทุ่มออกมา เพื่อกระตุ้นการบริโภค เพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน เพื่อให้เงินเกิดการหมุนเวียนในตลาด แม้เงินที่ประชาชนนำมาจับจ่ายใช้สอย ในร้านธงฟ้า ร้านค้าประชารัฐ ร้านสะดวกซื้อ และตามห้างร้านค้า สุดท้ายเงินที่ประชาชนซื้อสินค้านั้น ถูกบริษัทของ เจ้าสัว นายทุนใหญ่ดูดเข้ากระเป๋าหมด เงินไม่มีโอกาสหมุนมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับไปหนุนให้เจ้าสัว ร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก ประชาชนมีแต่จะยากจนลง

เสมือนกับเป็นการไปส่งเสริมให้ “รวยกระจุก จนกระจาย” เพิ่มยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้า จนเกิดภาวะดิสรัปชั่น หลายอาชีพต้องเลิกกิจการ หลายบริษัทห้างร้านเริ่มมีการเลิกจ้างงาน การผลิตของประชาชนทั่วไป เช่น พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ แผงลอยถูกบั่นรอนจากรัฐเนื่องจากมีการจัดระเบียบทางเท้า ทำให้การทำมาหากินได้ยากยิ่งขึ้น ประกอบกับอาหารหาบเร่ รถเข็นประเภทข้าวเหนียว หมูปิ้ง ไข่ต้ม ข้าวราดหน้ากะเพรา ฯลฯ ก็ถูกร้านสะดวกซื้อ แย่งอาชีพไปทำกิน ก็มีขายในร้าน จึงมีผลกระทบให้ประชาชนประกอบอาชีพดังกล่าว จำนวนมากเลิกค้าขาย กลายเป็นคนว่างงาน นั่งกิน นอนกินไปวันๆ

Advertisement

ประชาชนที่ว่างงาน ยังหางานทำไม่ได้ ถ้าเป็นคนต่างจังหวัดที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และยังพอมีเรือกสวนไร่นาเป็นของตน ในช่วงที่ตกงานหางานทำไม่ได้ คงจะอยู่ในเมือง ทนภาวะค่าครองชีพและรายจ่ายอื่นๆ ไม่ไหว สู้กลับไปอยู่ต่างจังหวัด ไปตั้งหลักที่บ้านนอก ทำนาทำไร่ ทำสวนผัก โดยนำทฤษฎีเศรษฐกิจของพอเพียงของในหลวง ร.9 ไปใช้ในการดำรงชีวิตจะดีกว่า ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มีทางรอดยาก

ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ส่วนหนึ่งของพื้นที่ดิน ขุดเป็นสระเก็บน้ำ ขอบสระ ปลูกนานาสารพัด พืชที่กินได้ เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา โหระพา ชะอม ฯลฯ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ทำนา ทำไร่ทำสวนผัก ก็จะมีผลิตผลการเกษตรหมุนเวียนไปขายในตลาดได้ทั้งปี มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ฝืดเคือง

แปลงผัก แปลงนาข้าว จะไม่ใช้สารเคมีพิษปราบศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่หันมาทำยากำจัดแมลง และปุ๋ยหมักอินทรีย์ จากธรรมชาติขึ้นมาใช้เอง จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมียาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค

มีเกษตรกรในหมู่บ้าน ตำบล หลายจังหวัด ประสบความสำเร็จมากมาย จากการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการทำเกษตรกรรมจากเคยเป็นหนี้สินเอาที่ดินไปจำนอง ภายในไม่กี่ปี ก็มีเงินไปไถ่ถอนที่ดินจำนองออกมา สามารถกอบกู้ครอบครัวจากฐานะความยากจน กลายเป็นคนมีฐานะขึ้นมา ปลูกบ้านหลังใหม่ มีรถกระบะใช้งาน เป็นต้น

เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินจำนวนน้อยเพียงไม่กี่ไร่ รวมทั้งเกษตรกรที่เช่าที่ดินคนอื่นทำ และไม่สามารถเข้าระบบรวมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ตามเกษตรกรรมแผนใหม่ของรัฐได้ รัฐบาลน่าจะสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรที่มีที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยเหล่านี้ นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปใช้ในการทำนา ทำไร่ ทำสวนผัก เพื่อให้มีผลผลิตเกษตรกรรม หมุนเวียนนำขายยังตลาดได้ตลอดปี

พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชาวนา ชาวสวน ทำปุ๋ยหนักจากพืชธรรมชาติ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการทำน้ำหมักเป็นยาฆ่าศัตรูพืชขึ้นมาใช้เอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการทำเกษตรกรรมลงได้มากทีเดียว

เมื่อชาวนา ชาวสวน เลิกใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชและไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พื้นดินในไร่สวนก็จะเป็นดินที่สะอาดปราศจากสารเคมีพิษ น้ำในท้องนา สระน้ำ ลำคลอง ก็จะเป็นน้ำสะอาดปราศจากปนเปื้อนสารเคมีพิษเช่นกัน ซึ่งเกษตรกรก็สามารถเลี้ยงปลาในท้องนา ในสระน้ำ โดยปลาไม่ตายจากสารเคมีพิษ เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ดังเช่นรัฐบาลอินโดนีเซีย และจีนกำลังส่งเสริมให้ชาวนาในประเทศเลี้ยงปลาในท้องนา เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน พลิกฟื้นจนมีฐานะดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความสุขสู่ท้องถิ่น ชนบท เสมือนหนึ่งเป็นการ “ระเบิดภายใน” เป็นการทำให้รากฐานของชุมชนเข้มแข็ง มีความสุข อย่างยั่งยืน และช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนซึ่งปัจจุบันนี้พุ่งกระฉูดขึ้นสูง 78.6% ของ GDP ให้ลดลง คนจนก็จะลดน้อยลง ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจนที่ถ่างอยู่แคบเข้า

ช่วยให้ประชาชน ชาวบ้าน จะมีอำนาจการซื้อ มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้าบริการ ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในตลาด กระตุ้นช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นไม่ต้องสงสัย ซึ่งถ้าจะเปรียบเกษตรกรดุจรากฐานมั่นคงของแผ่นดิน ดังที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงได้มีพระราชดำรัสไว้ว่า “…เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

สำหรับประชาชนที่อยู่ในตัวเมือง และชานเมือง หากบ้านตนเองนั้นมีพื้นที่ว่างพอจะทำเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว ปลูกผักหลายๆ อย่าง เพื่อไว้กินเอง หรือแบ่งปันเจือจานคนข้างบ้าน หรือหากผักที่ปลูกมีเหลือมาก ก็นำไปขายยังตลาด เป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว

รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้น ให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงดำรงชีวิตในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เลิกอบายมุขทุกอย่าง เลิกใช้บัตรเครดิต อุปโภค บริโภคซื้อใช้เท่าที่จำเป็น ใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวหางานทำเลี้ยงตัวไปพลางๆ จนกว่าจะมีงานทำ เช่นเป็นติวเตอร์รับจ้างสอนเด็กนักเรียน รับซ่อมเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน เป็นต้น

รัฐบาลมอบหมายนโยบายให้ทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ทุกครัวเรือน โดยรัฐบาลจัดงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำจัดซื้อ ดินถุง ปุ๋ยคอกถุง กระถางพลาสติก สำหรับเป็นภาชนะปลูกผัก รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ แจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้สูงอายุ จะได้ใช้เวลาว่างปลูกผักไว้กินเอง เป็นการช่วยผู้สูงอายุมีความสุขทางใจ สุขภาพแข็งแรง ลดรายจ่ายจากการซื้อผักในตลาด อีกด้วย

ผดุง จิตเจือจุน
วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image