การอยู่ในภาวะเขาควาย(Dilemma) ของรัฐบาลในด้านการเงินการคลัง

การอยู่ในภาวะเขาควาย (Dilemma) หรือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านการเงินการคลังของรัฐบาล มาเร็วกว่ากำหนดมาก ที่เร็วอาจเป็นเพราะตัวกระตุ้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และปัจจัยภายนอกประเทศด้านอื่นๆ ที่เข้ามามะรุมมะตุ้มไม่ขาดสาย แต่ถึงแม้ปัจจัยภายนอกจะไม่แรงเหมือนขณะนี้ ประเทศไทยก็หนีภาวะการเงินการคลังที่อยู่ในเขาควายไม่พ้น ทั้งนี้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินการคลังของไทยมันพิการมานานพอสมควรแล้ว ยิ่งนักการเมืองที่คิดสั้นยังเอานโยบายประชานิยมมาใช้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง ก็จะยิ่งเพิ่มความกดดันในเรื่องนี้มากและรุนแรงยิ่งขึ้น

เรามาดูในแต่ละด้านกันให้เห็นชัดๆ โดยจะขอเริ่มด้านการคลังก่อน ด้านนี้ประเทศไทยได้บริหารประเทศด้วยการใช้เงินในโครงการประชานิยมมาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว ยิ่งในรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยแล้ว มีการเพิ่มงบลดแลกแจกแถมอย่างมากมาย การจัดเงินสวัสดิการให้คนจนมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรทำให้มากและทั่วถึงขึ้น แต่ไม่ใช่การช่วยเหลือคนระดับรากหญ้าและยากจน โดยการสร้างหนี้เพิ่มให้เขาเหล่านั้นมากขึ้นทุกวันๆ

การดำเนินนโยบายเช่นนี้ ถ้าทำโดยตัดงบที่ไม่จำเป็น เช่น งบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ด้านทหารซึ่งเป็นงบก้อนใหญ่มาก ถ้ารวมรายการซื้อผ่อนส่งที่มีจำนวนมากด้วยแล้วก็จะเป็นงบที่ใหญ่มากขึ้นไปอีก ถ้าเอาส่วนนี้มาตัดทอนช่วยเหลือคนจนได้ก็จะดูดี อย่างไรก็ตาม การเอางบประมาณมาใช้มาก แต่รายได้แผ่นดินแต่ละปีเพิ่มขึ้นน้อยมาก ก็จะยิ่งสร้างสมภาระหนี้ภาครัฐให้มากขึ้น จะมัวแต่นั่งท่องแต่คาถาที่ว่า หนี้สาธารณะของภาครัฐมีน้อยแค่ 42-43% ของ GDP เท่านั้น มักจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่ แม้หนี้สาธารณะจะดูไม่น่ากลัว ถ้านำหนี้มาแยกแยะให้ดี จะพบว่าเป็นหนี้ในประเทศก้อนมหึมาน่ากลัว เกินกว่าที่ระบบภาษีในปัจจุบันจะรับได้ เหมือนกับเอาคนน้ำหนัก 50 กิโลกรัม มาแบกกระสอบข้าวสาร 100 กิโลกรัม แม้จะพอเดินได้ แต่ขาจะสั่นตลอดทาง อาจล้มฟุบเมื่อไหร่ก็ได้

พูดถึงระบบภาษีของไทย รัฐบาลหน้าใหม่ก็ไม่กล้าเพิ่มอัตรา หรือนำภาษีใหม่มาใช้ จะอ้างว่าภาษีทรัพย์สินที่จะออกมาใช้ในเดือนมกราคม 2563 นี้ อันนี้เป็นภาษีใหม่ที่ออกโดยรัฐบาล คสช. ชุดที่แล้ว แต่ถ้าดูในรายละเอียด ภาษีนี้จะเก็บได้ไม่เกินปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท จะมีสัดส่วนแค่ประมาณเกือบหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น และถ้ารัฐคิดจะออกภาษีใหม่ก็จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี กว่าจะเสร็จ อย่าลืมนะว่าภาษีทรัพย์สินที่กล่าวถึงข้างต้น ใช้เวลาทำนับตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่จะออกมาใช้ในเดือนมกราคม 2563 ยาวนานถึง 5 ปีครึ่งครับ ดูแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เห็นว่ารัฐบาลตกอยู่ในภาวะเขาควายด้านการคลังอย่างเต็มตัว จะเก็บภาษีเพิ่มก็ทำไม่ได้ จะกู้เพิ่มก็ไม่ได้แต่ความต้องการเงินมาใช้จ่ายมีมากขึ้นทุกด้าน ถ้าจะถามว่าแล้วไปกู้เงินจากต่างประเทศมาใส่ เช่น จะกู้จากเจบิคของญี่ปุ่น (JBIC) หรือจากธนาคารโลก (IBRD) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ไม่ได้หรือคำตอบไม่ใช้ไม่ได้ แต่ไม่ควรทำ นอกจากการกู้มาทำโครงการลงทุนระยะยาวของรัฐเท่านั้น

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะเขาควาย คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้ครัวเรือน (Household Debt) ซึ่งก็คือหนี้ของประชาชนโดยทั่วไป ไม่ใช่หนี้ของธุรกิจ ได้แก่ หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งหนี้บัตรเครดิต และตลอดจนหนี้หรือเงินกู้ในการบริโภค จากการเปิดเผยเมื่อต้นเดือนกันยายน ของท่านเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คุณทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 นี้ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนี้ คือสิ้นไตรมาส 4 ปี 2561

หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ เมื่อเทียบกับ GDP ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 16,318,033 ล้านบาท จะมีสัดส่วนถึง 78.7% สูงขึ้นเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย 22 ประเทศ และอยู่ในลำดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบว่าไตรมาส 2 ปีนี้ หนี้เสียในระบบธนาคารหรือหนี้เอ็นพีแอลจากสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10%

หนี้ครัวเรือนของไทย 12.97 ล้านล้านบาท ที่คิดเป็น 78.7% ของ GDP นี้ ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวเลขเท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ของประเทศไทยนั้นไม่ใช่ ยังมีมากกว่านี้อีกอย่างน้อย 5-6% ของ GDP ที่เกิดจากหนี้นอกระบบ ที่พวกเจ๊หรือเสี่ยที่มีเงิน หรือข้าราชการที่ร่ำรวย หรือนายตำรวจที่เป็นระดับเศรษฐีมักทำมาหากินด้วยอาชีพให้กู้นอกระบบแก่ทั้งคนจนและไม่จนกันทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อรวมแล้วจะมีหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 85% ของ GDP ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย หรือเทียบกับ 74 ประเทศทั่วโลก เราจะต้องอยู่อันดับ 1 แน่ เห็นแล้วต้องตกใจ ไม่ต้องคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้าจะให้ความเห็นก็บอกได้เพียงว่า ถ้าเราได้รัฐบาลที่ดีมีความสามารถจริงๆ มีผู้นำที่เก่งและรู้เรื่องเศรษฐกิจจริง ก็จะต้องใช้เวลาในการแก้ไขไม่น้อยกว่า 7-8 ปี

Advertisement

ในด้านการเงินก็ไม่น้อยหน้ากว่าด้านการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะเขาควายเช่นกัน ซึ่งมีทางแก้ไขได้น้อย ไม่ว่าในการลดดอกเบี้ย หรือการบีบให้ค่าของเงินบาทอ่อนลง สภาวะทางด้านการเงินการคลังตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยรวยเงินตราต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำจนโงหัวไม่ขึ้น และอาจถดถอยลงไปอีกในปีหน้า เครื่องยนต์หลักคือการส่งออกของไทยชะลอตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มถดถอยและติดลบแทบตลอดในช่วงปี 2562 นี้ ทีท่าจะถดถอยต่อไปอีกในปีหน้า แต่เงินบาทกลับแข็ง เพราะการไหลของเงินตราต่างประเทศยังเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันฐานะการคลังของประเทศกลับเปลี้ยลงทุกขณะ และเป็นไปได้มากที่ปีหน้าการคลังของรัฐบาลจะมีอาการกระตุก แล้วก็จะมีอาการกระอักตามมา

ในภาวะบีบคั้นด้านอัตราดอกเบี้ย และการแข็งตัวของเงินบาท ก็มีปรากฏการณ์ที่เริ่มเห็นชัดว่าเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ กิจการ SME หรือธุรกิจขนาดย่อมที่มีพลังเหลืออยู่ไม่กี่ราย ส่วนใหญ่พยายามประคองตัว ธุรกิจใหญ่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ก็ส่อเค้าจะแย่ มีธุรกิจอีกหลายอย่างกำลังแย่ลง ไม่รู้ว่าจะมีอาการกระตุกและกระอักให้เห็นอีกเท่าไหร่ ซ้ำร้ายกว่านั้นหนี้ครัวเรือนก็อยู่ในภาวะร่อแร่และแก้ไขยาก จึงเป็นไปได้ยากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยอมให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเห็นตัวเลขของเอ็นพีแอลที่ไม่น่าดูเสียเลยและมีทีท่าว่าเอ็นพีแอลกำลังจะมาแรงกว่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งพยายามใช้มาตรการด้านการเงิน แทบจะหมดอาวุธแล้วก็ยิ่งทำอะไรไม่ออก ตรงกันข้ามกลับต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น น่าเห็นใจนะครับ สถานการณ์ด้านการเงินการคลังอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นภาวะที่อยู่ในเขาควายก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้วครับ

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image