แก้รัฐธรรมนูญ ด้วยแว่นสีขาว : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พรรคอนาคตใหม่เดินหน้าตามที่ประกาศหาเสียงไว้ ไม่เพียงแค่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามกระบวนการที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ แต่เดินสายเปิดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ล่าสุดจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยหัวข้อ จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองจนทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่ ชั้นเชิงสูงอย่างประชาธิปัตย์นั่งไม่ติด ต้องรีบออกตัวเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมวิปรัฐบาล และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา

เมื่อทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลต่างชิงไหวชิงพริบ ประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องติดตามจึงมีว่า งานนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แนวทางการแก้ไขจะปรากฏออกมาอย่างไร

แก้ตรงตัวบทมาตราที่เกี่ยวข้องเลยทันที หรือเพียงแค่แก้บทที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่ทำได้ยากแก้ให้ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่แก้ไข ส่วนจะแก้ในรายละเอียดรายมาตราอย่างไรขึ้นอยู่กับผลการประชุม

Advertisement

เพียงแค่วิธีการแก้ไขที่ว่านี้ก็มีแนวโน้มว่างานนี้จะไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะหลายฝ่ายมีแนวทางแตกต่างกัน ขณะที่กระบวนการแก้ไขต้องกระทำในที่ประชุมรัฐสภาซึ่งมีอีกกลุ่มอำนาจหนึ่ง คือสมาชิกวุฒิสภามีบทบาทอำนาจโดยตรง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเงื่อนไขทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากลำบาก

เพราะมาตรา 255-256 บัญญัติว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 750 คน คือ 376 คน ในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ 250 คน คือ 84 คน

วาระที่สาม ต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

พิจารณาจากกระบวนการตามนี้แล้ว เงื่อนไขของความสำเร็จส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่ท่าทีของวุฒิสมาชิกด้วย ซึ่งล่าสุด พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เสนอความเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจากประชาชน ต้องไปถามประชาชนว่าต้องการหรือไม่

แม้เป็นเพียงความเห็นเดียวก็ตามและแม้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องมีการทำประชามติก็ตาม แต่ข้อเสนอนี้เกิดผลทางการเมืองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินไปในเวลานี้อย่างแน่นอน

อย่างน้อยสุดทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าควรทำประชามติหรือไม่ ทำอย่างไร คำถามประชามติเพียงแค่ควรแก้หรือไม่ควรแก้ ควรมีคำถามพ่วงลึกลงไปถึงเนื้อหาเลย แก้เรื่องอะไร มาตราไหนบ้าง หรือไม่ เป็นต้น

ติดตามสถานการณ์ที่ค่อยๆ ปรากฏท่าทีของแต่ละฝ่ายออกมาบ้างแล้วนี้ เริ่มสะท้อนภาพสองภาพในเวลาเดียวกันคือ ความขัดแย้งกับความร่วมไม้ร่วมมือ สังคมไทยกำลังอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างโอกาสกับวิกฤต อีกวาระหนึ่ง

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมกันบริหารสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปให้เกิดความสงบเรียบร้อย การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หากตรงกันข้ามไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ กลับกลายเป็นความขัดแย้ง เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกครั้ง สถานการณ์การเมืองไทยกลับยิ่งจะเลวร้ายลง

เหตุการณ์จะคลี่คลายไปในทางใด เงื่อนไขจึงขึ้นอยู่กับความเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขครั้งนี้ หากต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งแข่งขันเอาดีใส่ตัว ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก ไม่สามารถทำให้รัฐสภามีบรรยากาศของความเป็นเจ้าภาพร่วมได้แล้ว ความหวังของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็จะเลือนรางเต็มที

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่เพียงแค่ทดสอบความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในการบริหารความขัดแย้งจนทำให้เกิดผลในทางบวกได้หรือไม่เท่านั้น

แต่พิสูจน์ความสามารถของทุกภาคส่วนในสังคมไทย คนไทยทั้งมวลเลยทีเดียว ว่ามีพลังมากพอที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งนี้ยุติลงด้วยดี เรียบร้อย ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังทำคลอดออกมาอีกไม่นาน

หนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่บทสรุปที่ว่านี้ก็ด้วยการใส่แว่นสีขาว มองคนอื่นในแง่ดีให้มากเข้าไว้ เลิกสร้างวาทกรรมที่นำไปสู่ความเกลียดชังนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image