ยาเสพติด : การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ? : โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

ในอดีต การจับยาบ้าได้หนึ่งร้อยเม็ดถือเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้นพาดหัวข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่แทบทุกฉบับ แต่ไม่น่าเชื่อว่าเพียงระยะเวลาไม่กี่ปีต่อมา การจับยาบ้าในจำนวนหลักสิบล้านเม็ดขึ้นไปเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บ่งชี้ว่าปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับการในหลายๆ พื้นที่ให้ข้อมูลแก่ผู้เขียนว่า “ยาบ้า” รุ่นใหม่มีส่วนผสมทั้งยาฆ่าหญ้า ยากันยุงและยาฆ่าแมลง เช่น กรัมม๊อกโซน ฟูราดาล ดีดีที โฟลิดอล ไกลโฟเซต พาราควอต พาราไธออน และฟอร์มาลีน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสารเคมีที่ทำลายระบบประสาท สมองและเซลล์ร่างกายของมนุษย์

ที่สำคัญ ถ้าหากรัฐยังมุ่งเน้นนโยบายไปที่การปราบปรามจับกุมตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดมาจากหน่วยเหนือ โดยเป้าหมายถูกกำหนดเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นนี้ นายตำรวจเหล่านี้ห่วงว่า อีกไม่เกินยี่สิบปีข้างหน้า เด็กและเยาวชนไทยจะตกเป็นทาสยาเสพติดกว่าครึ่งค่อนประเทศ ครอบครัวจะล่มสลาย ชุมชนหมู่บ้านจะล่มสลาย และมีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state)

เนื่องจากยาเสพติดเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อเด็ก เยาวชน สตรี และสถาบันครอบครัว การกระทำความรุนแรงในครอบครัวและอาชญากรรมต่างๆ กว่าร้อยละหกสิบ มีต้นเหตุมาจากยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ตลอดจนนักโทษที่ล้นคุกอยู่ในขณะนี้ กว่าร้อยละ 60 มาจากคดียาเสพติด

Advertisement

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประชาคมยุโรป วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เครือข่ายเฝ้าระวังทางด้านสิทธิมนุษยชน องค์การนิรโทษกรรมสากล และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก เยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัว หลายองค์กร ได้เฝ้าติดตามเก็บข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การที่รัฐเน้นกำหนดเป้าหมายการจับกุมคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ได้เปิดช่องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนในบางพื้นที่สร้างอุปสงค์เทียม (Artificial Demand) และอุปทานเทียม (Artificial Supply) โดยการใช้วิธีแพร่ขจายยาเสพติดสู่เด็กและเยาวชนให้มีฐานผู้เสพเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับยาเสพติดที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และวางสายเครือข่ายผู้ค้ารายย่อยแบบระบบขายตรงตามชุมชนหมู่บ้าน ใครขายแข่งก็ใช้วิธีจับกุมเพื่อตัดคู่แข่งพร้อมทั้งได้ผลงาน

หรือถ้าใครทำตัวเป็นพลเมืองดี แจ้งเบาะแสก็จะถูกกลั่นแกล้งโดยจับกุมในข้อหาอื่นหรือโดยยัดยาบ้าให้ ทำให้การจับกุมเป็นไปตามเป้าหมายที่หน่วยเหนือกำหนดมาทุกครั้ง เจ้าหน้าที่จะได้รางวัลสินบนการจับกุม ได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบ หน่วยงานได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ได้บุคลากรและตำแหน่งเพิ่มขึ้น ได้ขยายหน่วยงานใหญ่โตขึ้น

ในทางธุรกิจ การกำหนดเป้าหมายการขายหรือการตลาดเป็นเรื่องปกติของการประกอบธุรกิจซึ่งหวังกำไรสูงสุด (Maximize profit) โดยพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม เพิ่มลูกค้ารายใหม่ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น นำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ มีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการ แต่การที่รัฐกำหนดเป้าหมายการปราบปรามจับกุมคดียาเสพติดแบบผู้ประกอบธุรกิจนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่คลาดเคลื่อนและถูกบิดเบือน เพราะเป้าหมายสูงสุดของภาครัฐคือการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข (Maximize welfare) แต่นโยบายของรัฐในเรื่องการปราบปรามและจับกุมคดียาเสพติดกลับทำให้บางชุมชนหมู่บ้านที่เคยอยู่กันอย่างมีความสงบสุขมายาวนานและไม่เคยมีปัญหายาเสพติด เริ่มถูกภัยคุกคามจากการขยายฐานผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่ชุมชน กลายเป็นว่านโยบายปราบปรามที่รัฐกำหนด ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายเด็ก เยาวชน สตรี และสถาบันครอบครัวอย่างน่าเศร้าใจ ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของชาติ และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองของตนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (Human rights violations)

Advertisement

ซ้ำร้ายยิ่งนานวันสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดก็ยิ่งเลวร้าย ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” ของกระทรวงยุติธรรม แทนที่จะเป็น “คนใหม่” และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เมื่อกลับเข้าสู่ครอบครัวในชุมชนสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยยาเสพติด ทำให้หวนกลับไปเสพยาเสพติดอีกเป็นจำนวนมาก กลายเป็น “วัฏจักรอุบาทว์” ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไม่จบไม่สิ้น

เพราะรัฐไม่ได้เตรียมชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีที่ปราศจากยาเสพติดเพื่อรองรับผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดกลับสู่ครอบครัวและชุมชน หากปล่อยเนิ่นช้าไปหรือไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุดแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมอื่นๆเพิ่มขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ เรือนจำจะแออัดไปด้วยนักโทษคดียาเสพติดมากขึ้น ประเทศจะเต็มไปด้วยพลเมืองด้อยคุณภาพ ทหารใหม่ที่ถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพจะเป็นกำลังพลที่ไม่มีความพร้อมและศักยภาพพอที่จะป้องกันประเทศ

ในที่สุด ความมั่นคงของชาติและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง

สิ่งสำคัญที่เราควรต้องตระหนักก็คือ เด็กและเยาวชนคืออนาคตของครอบครัว ของประเทศชาติและของโลก สตรีคือแม่ผู้เลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยให้บุตรมีพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และวุฒิภาวะทางอารมณ์ แม่เป็นผู้ประคับประคองค้ำจุนครอบครัว อนาคตของลูก อนาคตของครอบครัว อนาคตของประเทศและอนาคตของโลกจึงอยู่ในมือแม่ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุท่านเทศนาว่า “แม่คือผู้สร้างโลก” ภัยคุกคามจากความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติดและอาชญากรรม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม เป็นฐานรากของสังคม ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวจะทำให้ชุมชนและประเทศอ่อนแอตามไปด้วย รัฐบาลจึงควรกำหนดนโยบายขับเคลื่อนให้ชุมชนหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง และสมาชิกของชุมชนหมู่บ้านมีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลสมาชิกของชุมชน ซึ่งเป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4, 25, 27, 53, 68, 71 และ 78

รัฐพึงบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้นที่สุด ขณะเดียวกัน ภายในประเทศก็ควรจะต้องมีการพิจารณานโยบายการปราบปรามและจับกุมคดียาเสพติดกันใหม่ รัฐควรต้องเน้นนโยบายการป้องกันโดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนหมู่บ้านตามแนวทาง “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฉบับปรับปรุงในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” (Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Women in the field of Crime Prevention and Criminal Justice) และ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” (Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the field of Crime Prevention and Criminal Justice) ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงรณรงค์และร่วมผลักดันจนกระทั่งสหประชาชาติได้ประกาศให้นานาชาตินำไปเป็นแนวทางปฏิบัติหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัวจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติดและอาชญากรรม

ทั้งนี้ รัฐควรกระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนหมู่บ้านทุกพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการดูแลเฝ้าระวังป้องกันมิให้ยาเสพติดเข้าสู่ชุมชนหมู่บ้าน บังคับใช้กฎหมายกับผู้ค้ายาเสพติดทุกรายอย่างเข้มข้น ผู้เสพเดิมก็ควรจะส่งเข้ารับการบำบัดเพื่อจะมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่และป้องกันมิให้มีผู้เสพรายใหม่ ที่สำคัญ รัฐต้องสร้างชุมชนที่ปลอดยาเสพติดให้ได้ เป็นชุมชนที่ไม่มีทั้งผู้เสพและผู้ค้า ทั้งรายเดิมและรายใหม่ เมื่อไม่มีผู้เสพ ผู้ค้าก็ขายไม่ได้ ผู้ผลิตต้องหยุดผลิตซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดเช่นเดียวกับสินค้าและบริการอื่นๆ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรต้องดำเนินนโยบายปูนบำเหน็จรางวัลให้กับชุมชนหมู่บ้านและคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านจนปลอดยาเสพติดหรือในจำนวนที่มากอย่างเด่นชัดในรูปแบบของรางวัลและงบประมาณอุดหนุน เพื่อจูงใจให้ชุมชนนำรางวัลและงบประมาณดังกล่าวไปต่อยอดและจัดการแก้ปัญหาอื่นๆ ของชุมชนหมู่บ้านต่อไป

หากประสบความสำเร็จในวงกว้าง ก็จะช่วยลดภาระของรัฐและทำให้ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นการช่วยคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัวจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติดและอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างมากก็คือ รัฐควรยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด พ.ศ.2561 แล้วให้นำเรื่องเงินรางวัลสินบนค่าตอบแทนคดียาเสพติด รวมถึงคดีค้ามนุษย์ ก่อการร้าย ฟอกเงิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน องค์กรอาชญากรรม อาชญากรรมข้ามชาติ การพนัน และจราจร มาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 เพียงฉบับเดียว เพื่อให้มีการกลั่นกรองตรวจสอบโดยอัยการหรือศาลก่อน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ได้จากการประชุมของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Office on Drugs and Crime) เมื่อเร็วๆ นี้

การขับเคลื่อนภารกิจที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะที่รัฐมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองท้องที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศที่มีพร้อมอยู่แล้ว รัฐบาลจึงเพียงกำหนดนโยบาย มอบหมายภารกิจและจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มอัตรากำลังปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เพื่อทำหน้าที่ประสานงานดูแลภารกิจนี้

โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นแม่งาน มีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ จิตอาสา ภาคเอกชน ประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อน ก็จะเป็นการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติดและอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง
อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2
รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดปราจีนบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image