การแบ่งผลประโยชน์กับการแบ่งภาระ : วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อมีข่าวว่าประเทศไทยกับกัมพูชาจะรื้อฟื้นการเจรจา เพื่อแบ่งผลประโยชน์จากการผลิตแก๊สธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทย ในบริเวณที่ยังเป็นข้อพิพาทในการแบ่งเขตแดนทางไหล่ทวีปในทะเลกัน หลังจากที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ยกเลิกการเจรจาซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานในการปักปันเขตแดนกับประเทศกัมพูชา ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศไทย

จะนำรูปแบบที่ใช้กับประเทศมาเลเซียที่กำหนดให้บริเวณข้อพิพาทเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อประโยชน์ในการนำแก๊สธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาใช้ โดยไม่ต้องรอให้การปักปันเขตแดนสำเร็จเสียก่อน จึงเป็นข่าวที่น่ายินดีเพราะจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย แทนที่จะปล่อยให้เกิดความสูญเปล่า เพราะต่างฝ่ายต่างใช้นโยบาย “ชาตินิยม” หาเสียงกับผู้คนในประเทศโดยสร้างศัตรูนอกประเทศทุกครั้งที่มีการขัดแย้งกันภายในประเทศ

กรณีกัมพูชาก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อมีการยินยอมให้มีการนำกรณีเขาพระวิหารขึ้นศาลโลก โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบในแง่กฎหมายว่าจะแพ้หรือชนะ เมื่อพิจารณาดูให้ดี จะพิจารณาแต่สนธิสัญญาการปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศส พ.ศ.2505 เท่านั้นไม่ได้ ต้องดูแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาซึ่งฝรั่งเศสใช้ดินสอขีดอ้อมเอาเขาพระวิหารออกจากเขตสันปันน้ำ อันเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตตามธรรมชาติด้วย เมื่อเขาส่งมาให้แล้วฝ่ายไทยก็มิได้เอาใจใส่ทักท้วง จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม

และยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่เป็นการยอมรับว่าเขาพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสในสมัยนั้น

Advertisement

มาในยุคนี้ ยุคที่มหาอำนาจอาณานิคมได้ออกไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งปัญหาในเรื่องเขตแดนไว้ให้กับไทยเกือบจะรอบประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว กัมพูชา มาเลเซียและพม่า ทั้งหมดเป็นสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเสียเปรียบทั้งสิ้น เช่นการใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำเป็นอาณาเขต ถ้าแม่น้ำแยกเป็นหลายสาย ให้ใช้แม่น้ำสายที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นอาณาเขต หน้าฝนก็ไม่เป็นไร แต่พอหน้าแล้งสายที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยแห้งเป็นพื้นดิน ปัญหาก็เกิด ฝั่งพม่าใช้ตลิ่งแผ่นดินเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แม่น้ำให้ใช้ร่วมกันเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ

ปัญหาก็เกิดเมื่อเอกชนฝั่งไทยซึ่งรวยกว่า ถมที่แล้วสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำก็เกิดปัญหา แม่น้ำโขงเมื่อมีการสร้างกำแพงกันน้ำเซาะตลิ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง การสร้างกำแพงกันตลิ่งพังในดินแดนของตนก็ไปทำลายปัญหาให้เกิดขึ้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้เกิดการประท้วงกันอยู่เป็นระยะๆ

ในยามที่ “รักกัน” ปัญหาก็ไม่เกิด เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถนอมรักษาน้ำใจกัน แม้จะมีการละเมิดสนธิสัญญาที่เคยทำไว้กับฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไทยถูกเอาเปรียบและบางทีปฏิบัติไม่ได้ ก็อะลุ้มอล่วยกันไป เช่นเขตแดนที่เขาพระวิหาร ที่ภูชี้ฟ้า ที่ถ้ำติ่งและที่แม่น้ำฝั่งพม่า รวมทั้งที่มาเลเซียด้วย บางแห่งก็ใช้วิธีแลกที่กัน บางแห่งก็ใช้วิธีพูดจากันโดยผู้ปกครองท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดกับเจ้าแขวง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บัญชาการกองทัพของกองทัพพม่า โดยไม่ผูกพันรัฐบาลกลาง

Advertisement

กระแสชาตินิยม ซึ่งใช้สื่อมวลชนกระแสหลักเป็นเครื่องมือสามารถทำได้ง่าย เช่นการสร้างกระแส “เราจะเสียดินแดนอีกไม่ได้แล้วแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” ทั้งๆ ที่พื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทยังไม่แน่นักว่าเป็นของใคร หรือศาลโลกตัดสินแล้วว่าไม่ใช่ของเรา หากคู่กรณียอมรับว่าเป็นที่ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกัน

แต่ทางเรามักปิดบัง ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง ไม่ให้การศึกษาแก่ประชาชน เมื่อถูก “ฝ่ายค้าน” ในสภากล่าวหาว่าเป็นผู้ขายชาติ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายนำโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของประเทศคู่พิพาทมาหลายปี พรรคการเมืองฝ่ายค้านพูดทำลายเพียงประโยคเดียวทุกอย่างก็พังทลาย ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แล้วทุกคนก็ลืมพรรคการเมืองดังกล่าว เมื่อต่อมาปรากฏว่าสิ่งที่ตนพูดนั้น “เป็นเท็จ” ก็ทำเฉยเมย ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่ทำความเสียหายให้ประเทศชาติอย่างมหาศาล

การเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์ในเรื่องแก๊สธรรมชาติก็ดี เส้นเขตแดนก็ดี ควรจะรีบทำเสียในช่วงรัฐบาลสืบทอดเผด็จการทหารนี้ เพราะประชาชนคนไทยก็ดี ฝ่ายค้านที่เคยค้านก็เข้าไปร่วมรัฐบาลเสียแล้ว ฝ่ายค้านอีกฝ่ายก็เชย ค้านไม่ค่อยจะเป็นเพราะมาจากอีสานกับเหนือเป็นส่วนใหญ่ อภิปรายแบบ “ลิงหลับตกต้นไม้” ไม่ค่อยเป็น อีกทั้งไปเข้าข้างฝ่าย “เผด็จการทหาร” ละทิ้งอุดมการณ์ “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ไปเสียแล้ว ยอมรับทำงานกับนายกรัฐมนตรีจากรัฐสภาที่มีวุฒิสมาชิก 250 คนอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว การเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมาย เป็นเพียง “พิธีกรรม” ที่ใครๆ ก็รู้ว่าเลือกเสร็จก็ได้นายกฯคนเดิม ระบอบรัฐสภาที่เชื่อมั่นเป็นแบบนี้ไปแล้วก็ยังจะเชื่อมั่นอยู่

คนไทยไม่ได้อะไร แต่คนไทยเสียผู้ที่เคย “เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ที่เคยเข้าใจว่าใช้ชีวิตทั้งชีวิตตั้งแต่สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ทำงานเพื่อระบอบรัฐสภา บัดนี้ก็ต้องเข้าใจเสียใหม่ว่าท่านก็เป็น “นักเลือกตั้ง” เท่านั้น เมื่อยอมมาทำหน้าที่ในสภาฯ ปกป้องระบอบเผด็จการทหารที่ท่านเคยคัดค้าน ไม่ใช่พัฒนาระบอบรัฐสภา เท่ากับถอยหลังอายุตนเองไป เท่ากับลดอายุความคิดของตนเองไปนักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่คนกรุงเทพฯแสนจะชื่นชม กลายเป็นนักการเมืองที่รอวันเกษียณลงจากเวทีการเมืองในฐานะสมุนเผด็จการทหาร ไม่ใช่นักประชาธิปไตย

การเมืองภายในประเทศก็เหมือนการเมืองระหว่างประเทศ การแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างพรรคการเมืองกับกองทัพ ก็ย่อมจะเป็นภารกิจที่ง่ายกว่าการแบ่งภาระกัน โค่นล้มเผด็จการ สถาปนาระบอบประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวอย่างอันดีตั้งแต่ต้นเมื่อมีการสถาปนาพรรคโดยนายควง อภัยวงศ์ ขณะเมื่อต้องแบ่งปันภาระการต่อต้านทหาร จัดให้มีการชุมนุมกัน ถ้ายังไม่แน่ว่าฝ่ายทหารหรือฝ่ายนักศึกษาจะชนะ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์จะเงียบหาย ไม่ปรากฏตัว ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำก็จะปรากฏตัว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะปรากฏตัวเพื่อเอาดีใส่ตัว

เมื่อได้เป็นเจ้ากระทรวงใหญ่ๆ ก็จะไม่ตัดสินใจทำอะไร เพราะทำอะไรก็มีผิดมีถูก แต่ไม่ตัดสินใจทำอะไรไม่มีผิดแม้ไม่มีถูกก็ตาม แต่จะให้ปลัดกระทรวงดำเนินการไป ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงเกษตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นโยบายทางเศรษฐกิจจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในที่สุดก็เป็นผู้นำในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายการเมือง สมควรได้รับสมญานามว่าเป็นพรรค “อนุรักษนิยม” อย่างแท้จริง ยิ่งกว่าพรรคทอรี่ของอังกฤษด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสยามประเทศนี้เกิดจาก “นายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น

ส่วนที่มาจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็เห็นจะมีแต่นาย ปรีดี พนมยงค์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น นอกนั้นยังไม่เห็น

จึงกลายเป็นเรื่องขัดตัวเองอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “paradoxy” ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยน่าจะมีผลงานสำคัญๆ มากกว่า เพราะมีแรงกดดันจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นเพราะอยู่ได้ไม่นาน เข้ามาเป็นช่วงๆ ขาดความต่อเนื่องจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ บัดนี้ในตำราเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองไทยควรให้เด็กท่องเอาไว้ว่า “ระบอบการปกครองของประเทศไทย เป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร และระบอบที่สืบทอดมาจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร” ระบอบรัฐสภาไม่เหมาะสมกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่ในชนชั้นสูงและชนชั้นกลางระดับสูง

ระบอบการปกครองของประเทศไทยควรจะบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชารัฐศาสตร์ไปทั่วโลก ให้เป็นแม่บทสำหรับระบอบการปกครองระบอบเผด็จการทหารและระบอบที่สืบทอดอำนาจกระทรวงการปกครองแบบเผด็จการทหาร มีพรรคการเมืองแบบพรรคนาซี มีสภาผู้แทนราษฎรหลอกๆ มี ส.ส.หลอกๆ เอาไว้เป็นไม้ประดับ ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพกว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกับระบอบการปกครองของยูโกสลาเวียของนายพลติโต หรือระบอบการปกครองของประธานาธิบดีนายพลฟรังโกของสเปน หรือระบอบการปกครองของระบอบนายพลเดอ โกลของฝรั่งเศส ไม่ต้องพูดถึงระบอบเผด็จการในทวีปแอฟริกา ซึ่งประเทศไทยควรอยู่ในระดับการพัฒนาการเมืองในระดับนั้น

ระบอบการเมืองประเภทนี้จะมีเสถียรภาพประมาณ 10 ปีบวกลบ แล้วก็จัดให้มีเลือกตั้งเสียทีหนึ่ง แล้วก็บ่อนทำลายให้ประชาชนเบื่อหน่าย แล้วก็ปฏิวัติอยู่ในอำนาจ 4-5 ปีก็จัดเลือกตั้งสืบทอดอำนาจ รอประชาชนเดินขบวนในท้องถนน แล้วก็มีประชาธิปไตยสุดกู่ซึ่งก็ใช้ไม่ได้ แล้วก็ปฏิวัติอยู่ในอำนาจ 4-5 ปี ร่างรัฐธรรมนูญ มีเลือกตั้ง 4-5 ปี แล้วก็ปฏิวัติ

หลักสูตรโรงเรียนนายร้อย จปร. ควรปรับปรุงให้เรียนวิชาทหารน้อยลง เรียนรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ และประวัติศาสตร์หลังปี 2475 มากขึ้น เพื่อนๆ หลายคนที่เรียนจบที่นั่นมาก็เคยปรารภไว้อย่างเดียวกัน เพราะออกไปจะต้องทำงานการเมืองมากกว่าการรบ แต่เรื่องร่ำรวยทหารไทยโดยเฉลี่ยรวยกว่าทหารประเทศข้างบ้านทั้งสิ้น

ซื้ออาวุธจากอเมริกายุโรปไม่ได้ก็ซื้อจากจีน แล้วก็อ้างว่าราคาต่ำกว่าด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกไปรบกับใครที่ไหนทั้งสิ้น มีเพียงเอาไว้ปราบปรามกันเองใน 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่บัดนี้เมื่อมีการเลือกตั้งก็ซื้ออาวุธจากอเมริกาได้แล้ว

สังเกตดูการแบ่งปันภาระไม่มีใครอยากพูดถึง ถ้าจะต้องช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนากว่า ถ้าจะต้องช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้กว่า เพราะหดหู่ ไม่เบิกบานใจ เวลาน้ำมันราคาขึ้นโอเปครวมกันได้ แต่จะแตกกันเมื่อราคาลดลง

เราจึงไม่ค่อยได้ยินการแบ่งปันภาระกันเลย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image