ควันปืนตะวันออกกลาง : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ในขณะที่ “โมฮัมเหม็ด ซารีฟ” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน เดินทางไปนครนิวยอร์กวันที่ 20 กันยายน เพื่อเตรียมการให้นายกรัฐมนตรีฮัสซัน รูฮานี เข้าร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติในปลายเดือนกันยายนนั้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังประชุมที่ทำเนียบขาว เพื่อรับฟังการรายงานของกระทรวงกลาโหม อันเกี่ยวกับแนวทางที่จะทำการโจมตีอิหร่าน

เหตุการณ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านขมุกขมัวยิ่ง

ควันปืนตะวันออกกลางเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตามอง

Advertisement

แต่ที่แน่ๆ คือราคาน้ำมันพุ่งพรวด เป็นเรื่องสะเทือนทั่วโลกได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า

ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งในซาอุดีอาระเบียถูกถล่ม สหรัฐได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำการตรวจสอบหาตัวการผู้กระทำความผิด

การสำรวจเบื้องต้นจากเศษวัตถุระเบิดและวิถีกระสุน สันนิษฐานว่า

Advertisement

เป็นการกระทำของ “อิหร่าน”

หากยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากเขตแดนของอิหร่าน

แต่ “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฟันธงว่าเป็นฝีมือของ “อิหร่าน” อีกทั้งยืนยันว่าเป็น “พฤติกรรมสงคราม”

“โมฮัมเหม็ด ซารีฟ” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน ตอบทันใดว่า หากสหรัฐหรือซาอุดีอาระเบียใช้มาตรการทางการทหาร อาจนำมาซึ่ง “สงครามเต็มรูปแบบ”

เขากล่าวว่า การปกป้องประเทศนั้น ชาวอิหร่านพร้อมอยู่แล้ว

แม้ว่าปัจจุบันยังเป็นสงครามน้ำลายระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน

แต่ก็ไม่ตัดประเด็นสงครามควันปืน

สหรัฐและอิหร่าน แม้จะอยู่กันคนละฟากฟ้า แต่การปะทะกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 1953 Mohammad Mosaddegh นายกรัฐมนตรีอิหร่าน ทดลองนำอุตสาหกรรมน้ำมันเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ องค์กรซีไอเอสหรัฐได้ทำการปลุกระดมยุยงให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านปฏิวัติยึดอำนาจแล้วจัดตั้งรัฐบาลที่ “โปรสหรัฐ” ขึ้นมาบริหารประเทศ

กระทั่ง 1979 พระเจ้าซาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ได้ลี้ภัยที่สหรัฐ เป็นเหตุให้ประชาชนอิหร่านโกรธแค้นอเมริกัน สถานการณ์ตึงเครียด นักเรียนอิหร่านเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิหร่าน จับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกันไว้ถึง 444 วัน รัฐบาลสหรัฐพยายามช่วยเหลือตัวประกันหลายครั้งแต่ประสบความล้มเหลว ในที่สุดผ่านขบวนการเจรจาลับเฉพาะ อิหร่านจึงได้ปล่อยตัวประกันแต่ความสัมพันธ์หาดีขึ้นไม่

ปี 1988 สหรัฐยิงเครื่องบินโดยสารอิหร่านตก 1 ลำ มีผู้เสียชีวิต 290 คน

ปี 2002 สหรัฐได้จัดให้อิหร่าน อิรักและเกาหลีเหนือเป็น “ตัวการแห่งความชั่วร้าย”

เพื่อประสงค์ให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ปี 2015 สหประชาชาติได้เจรจาและบรรลุข้อตกลงกับอิหร่าน จึงได้ยุติการพัฒนานิวเคลียร์

ปี 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออกจากสัญญาอาวุธนิวเคลียร์

ปัญหาเกิดขึ้นอีก เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกาได้ละเมิดน่านน้ำอ่าวเปอร์เซีย อิหร่านและสหราชอาณาจักรได้ทำการยึดเรือไว้

ล่าสุด วันที่ 20 มิถุนายน เครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐได้ถูกจรวดนำวิถียิงตกที่อ่าวเปอร์เซีย “โดนัลด์ ทรัมป์” รับคำเสนอส่งกองทัพอากาศโจมตีอิหร่าน แต่นาทีสุดท้ายสั่งยุติ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สงครามสหรัฐ-อิหร่าน อาจเกิดขึ้นได้ทุกทิวาราตรีกาล

สถานการณ์ในขณะนี้อ่อนไหวมากทีเดียว อุปมาคือ “จุดปุ๊บติดปั๊บ”

ในที่สุดสหรัฐ-อิหร่านจะทำการเจรจาหรือสู้รบกันยังยากแก่การพิเคราะห์
แม้ว่า “โมฮัมเหม็ด ซารีฟ” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่านปฏิเสธการเจรจา

แต่เขาก็ยังเหลือช่องว่างให้สหรัฐ ทั้งนี้ โดยกล่าวว่า ถ้าสหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมดอิหร่านก็อาจพิจารณากลับเข้าโต๊ะเจรจา

กรณีที่สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านคือ ห้ามประเทศต่างๆ ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน เป็นเหตุให้อิหร่านได้รับความกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักและรุนแรง

แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ด้านหนึ่งทำการกดดัน อีกด้านหนึ่งพูดจาหว่านล้อมและให้คำมั่นอิหร่านว่า “ถ้าอิหร่านยอมนั่งโต๊ะเจรจา จะทำให้อิหร่านร่ำรวยขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง”

รัฐบาลอิหร่านกล่าวหาว่า “การฉีกสัญญาอาวุธนิวเคลียร์และการคว่ำบาตรของสหรัฐ เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

ในทางตรรกะแห่งการเมือง การกลับเข้าโต๊ะเจรจา ความเป็นไปได้น้อยมากอยู่แล้ว และวันนี้โรงกลั่นน้ำมันซาอุดีอาระเบียถูกถล่มยับเยิน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิหร่านที่ตึงเครียดอยู่แล้วตึงเครียดมากขึ้น โอกาสที่จะกลับเข้าโต๊ะเจรจาแทบไม่มีเลย

แม้รู้กันว่าสงครามไม่มีฝ่ายชนะ และไม่มีฝ่ายใดได้รับประโยชน์จากสงคราม

แต่ก็ยังจะทำสงคราม

สําหรับแผ่นดินในตะวันออกกลาง ไม่ว่าสหรัฐ ไม่ว่าอิหร่าน
ล้วนแพ้ไม่เป็น

ถ้าเป็นการสู้รบกันระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ก็คือ “สงครามข้ามเขต”

ถ้าให้ซาอุดีอาระเบียออกหน้าสู้กับอิหร่านโดยตรง ก็คือ “สงครามท้องถิ่น”

ไม่ว่าสงครามข้ามเขต ไม่ว่าสงครามท้องถิ่น

ความเสียหายหนักหน่วงและครือกัน

กรณีจึงพอจะอนุมานได้ว่า ทั้งสหรัฐ ทั้งอิหร่านต่างอยู่ในขั้นตอนที่ประเมินสถานการณ์

โปรดติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยโดยพลัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image