ประโยชน์ของกัญชา ทางการแพทย์ไม่มีคำว่าล่าสุด : โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

 

กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ (Bioactive compounds) กว่า 400 ชนิด พบมากที่สุดเป็นสารแคนนา
บินอยด์ส (cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (delta-9-/delta8 tetrahydrocannabinol : THC) และแคนนาบิไดอัล (cannabidiol : CBD) ออกฤทธิ์ ยับยั้ง กระตุ้น ระบบประสาท ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ผ่านระบบ Endocannabinoid ของร่างกาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่สามารถปลูกได้ทุกประเทศทั่วโลก ใช้เป็นยาตั้งแต่สมัยโบราณ มีบันทึกในตำราอายุรเวทของชนเผ่าต่างๆ มานานกว่า 3,000 ปี ในประเทศไทยกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ในด้านนันทนาการ แต่ให้ใช้กัญชาเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 18 กุมภาพันธ์ 2562)

ความรู้เรื่องประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนไม่มีคำว่าล่าสุด แต่หลักการสำคัญคือการรักษาต้องไม่ก่อให้เกิดโทษ (DO NO HARM) ในกรณีของโรคที่ไม่มีข้อมูลการรักษาที่ชัดเจน โดยเฉพาะอาจทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ ควรรอผลสรุปของงานวิจัยที่เชื่อถือได้

แต่งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์เป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์การต้องการการรักษาด้วยกัญชาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องแก้ไขอุปสรรคและปัญหาของงานวิจัย ดังนี้

Advertisement

1.ควรสนับสนุนงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อที่จะสรุปถึงผลดีผลเสีย ผลข้างเคียง อันตรายระยะสั้นระยะยาว

2.ควรสนับสนุนผู้ทำวิจัยจะเข้าถึงกัญชาในแง่ของคุณภาพ ปริมาณ ชนิดของกัญชา เพื่อนำมาวิจัยถึงโทษและประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์

3.ควรสนับสนุนเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สนับสนุนงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ที่หลากหลาย เพื่อให้ทราบถึงโทษและประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง

4.ควรสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานระเบียบวิธีวิจัยเกี่ยวกับกัญชาให้เป็นที่เชื่อถือได้ เพื่อที่จะทราบถึงผลทั้งระยะยาวระยะสั้นของกัญชาต่อสุขภาพ

การสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ของบุคลากรทางการแพทย์
ข้อตกลงและข้อแนะนำระหว่างกรมการแพทย์กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง มีดังนี้

1.ไม่ใช้กัญชาเป็นการรักษาลำดับแรก ยกเว้นในกรณีที่ได้รับข้อมูลทางการแพทย์ และเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

2.ผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ต้องปราศจากสารปนเปื้อนและสารอันตรายต่างๆ ในกรณีที่ไม่ทราบปริมาณและอัตราส่วนของ THC และ CBD การใช้ควรให้ปริมาณน้อยที่สุดและเพิ่มขนาดทีละน้อย

3.ผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิผล มีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

4.ควรจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเมื่อการรักษามาตรฐานไม่ได้ผล ผู้ป่วยไม่สามารถทนการรักษา หรือนำมาเป็นการรักษาเสริม

5.ผู้สั่งใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลแนะนำ

6.ผู้สั่งใช้ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง

7.ในปัจจุบันมีหลายโรค หลายภาวะ ที่ยังไม่มีหลักฐานที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการรักษาด้วยกัญชา แพทย์ต้องใช้หลัก SAS (Special Access Scheme) รักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งมีแนวทางและรายละเอียดของการสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ ทั้งควรรีบเร่งทำการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ เพื่อกัญชาทางการแพทย์จะได้เป็นประโยชน์สุดต่อส่วนรวม

ประโยชน์ของสารสกัดกัญชา แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ (The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids.The current State of Evidence and Recommendation for research(2017).www.nap.edu)

1.ได้ประโยชน์ในการรักษา มีข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิชาการชัดเจน ได้แก่

-การเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่
-ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด
-อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS)
-โรคลมชักที่รักษายากในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อยา
-ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

2.น่าจะได้ประโยชน์ในการรักษา ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ เช่น

-ทำให้การนอนหลับดีขึ้นในคนไข้ที่มีการรบกวนการนอน หยุดหายใจจากการอุดกั้น (OSAS :Obstructive sleep apnea syndrome)
-ปวดพังผืดและกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia)
-โรคพาร์กินสัน
-โรคอัลไซเมอร์
-โรควิตกกังวลทั่วไป
-ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง, มะเร็งระยะสุดท้าย
-เพิ่มการอยากอาหาร ลดการสูญเสียน้ำหนักในผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์
-ลดอาการตื่นเต้น ทดสอบโดยการพูดในที่สาธารณะ ในโรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
-ลดอาการภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD :Posttraumatic stress disorder)

3.อาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่น สมองเสื่อม (Dementia) และการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

ผลข้างเคียงของกัญชามีมากมาย เช่น

1.ผลข้างเคียงระยะสั้นต่อระบบประสาท ได้แก่ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ง่วงนอน ลดสมาธิและการใส่ใจ ลดความจำ ง่วงนอน หูแว่ว เห็นภาพหลอน เคลื่อนไหวผิดปกติ กล้ามเนื้อล้า เพลียง่าย เพิ่มอุบัติเหตุทางยวดยาน

2.ผลข้างเคียงระยะยาวต่อระบบประสาท อาจจะมีผลต่อความจำระยะยาว ความสามารถในการวางแผน การตัดสินใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง

3.ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ อาจทำให้ไอคิวลดลง ลดความจำ สมาธิ และการใส่ใจ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า

4.ไม่ใช้ในคนตั้งครรภ์ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการที่ล่าช้าของลูก

5.ในคนไข้สูงอายุ ระวังทรงตัวไม่ดี พลัดตก หกล้ม ลดความจำ เสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตาย อาการทางจิต ฆ่าตัวตาย โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจกำเริบ

6.ปฏิกิริยาต่อยา เพิ่มระดับยากันการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติ ทำให้ระดับยากันชักสูงจนมีผลกับตับ ยาต้านซึมเศร้าระดับสูงมีผลต่ออารมณ์

7.คนไข้โรคจิต หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคจิต อาจส่งผลให้อาการทางจิตเป็นมากขึ้นได้

วิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของการใช้กัญชา
1.ต้องไม่ใช้กัญชาเพื่อเป็นนันทนาการ แต่ใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น

2.ต้องใช้สารสกัดกัญชาที่เชื่อถือได้ ทราบส่วนผสม หรือเป็นกัญชาในยาตำรับแผนไทย

3.ใช้ในจำนวนน้อยที่สุดตามคำแนะนำ ไม่ควรเพิ่มจำนวนโดยพลการ

4.ปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการรักษาด้วยกัญชา หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง

5.มีอาการผิดปกติ เช่น ใจเต้น ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะรุนแรง มีความผิดปกติทางจิต สับสน ประสาทหลอน หมดสติ ไม่รู้ตัว ฯลฯ ควรพบแพทย์ทันที

6.ประชาชนคนไทยทุกคนต้องติดตามความรู้การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่าเชื่อคำโฆษณา อย่าหลงกลเชื่อคำชักชวนตกเป็นเหยื่อทางธุรกิจ อย่าซื้อกัญชาที่ไม่ทราบที่มาที่ไปส่วนผสมมาใช้

7.หากเป็นโรคที่มียาแผนปัจจุบันรักษาได้ผลดีไม่ควรหยุดการรักษาแล้วมาใช้กัญชาเดี่ยวๆ เพราะหากยังไม่มีงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

8.ใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น มีผลข้างเคียงรุนแรง ควรหยุดใช้ทันที

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image