ความกราดเกรี้ยวของผู้หมายเปลี่ยนโลก : กล้า สมุทวณิช

มิตรสหายท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ญาติของเขาเป็นคนที่ทนไม่ได้เอาเสียเลยหากได้รับการดูถูกดูแคลนจากผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนค้าคนขายไม่ว่าจะระดับใด วีรกรรมของญาติผู้นั้นคือครั้งหนึ่งท่านไปซื้อผลไม้หรืออาหารอะไรสักอย่าง และวันนั้นพอดีอาจจะเพราะแต่งตัวไม่ดีหรือเขียนคิ้วไม่งามสักเหตุหนึ่งก็ตามแต่ หากก็ทำให้แม่ค้าผู้ขายออกอาการอิดออดถามอะไรก็ไม่ตอบ คล้ายไม่เชื่อว่าญาติของมิตรสหายท่านนั้นจะซื้อของที่ถามราคาได้จริง

สิ่งที่ญาติของท่านผู้นั้นทำและมิตรสหายของผมจำได้เอามาเล่า คือ ท่านซื้อเหมาของสิ่งนั้นโดยไม่ต่อรองราคา แล้วก็เททั้งหมดทิ้งลงกลางพื้นตลาด เหยียบย่ำให้หนำใจ จากนั้นก็เดินจากไปอย่างสะใจ

ตอนแรกที่ผมฟังก็สะใจอยู่ ถ้ามิตรสหายอีกท่านที่นั่งฟังอยู่ด้วยจะไม่บอกว่า – อย่างนี้แม่ค้าก็สบายเลยนะ อาจจะเจ็บอายหน้าชานิดหน่อย แต่ก็ขายของหมดไวได้กลับบ้าน ถ้าเจอคนขี้โมโหแบบนี้เข้าบ่อยๆ ก็อาจจะถือเป็นโชคดี ส่วนญาติของมิตรสหายท่านนั้นก็ต้องจ่ายเงินไปเกินกว่าราคาของที่ตั้งใจจะซื้อ แถมจ่ายไปก็ไม่ได้กิน แต่อาจจะเพียงอิ่มที่ความสะใจ

ที่เอาเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อจะดึงให้ท่านผู้อ่านสนใจอ่านต่อไป เพราะถ้าขืนเอาเรื่องของ “เกรตากับปัญหาสิ่งแวดล้อม” มาเปิดหัวไว้ ก็อาจจะมีบางท่านที่รู้สึกเหม็นเบื่อ (นี่จะพูดถึงเด็กผู้กราดเกรี้ยวคนนั้นอีกแล้วหรือ !) จนพลิกหน้าหนังสือพิมพ์หนี (หรือเลื่อนคอลัมน์นี้ผ่านฟีดข่าวไป)

Advertisement

เชื่อว่าหลายท่านแม้จะไม่ได้ฟังเอง แต่ก็น่าจะผ่านหูผ่านตาหรือทราบเรื่องสุนทรพจน์แห่งความ “กล้าดี” ที่เด็กสาวนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เกรตา ทันเบิร์ก (หรือที่มิตรสหายที่รู้ภาษาสวีเดนแนะนำมาว่าควรออกเสียง เกรียตา ทุนแบร์ก แต่เพื่อความสะดวกก็ขออนุญาตถอดเสียงอย่างที่คุ้นเคยกันต่อไป) ได้กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยท่าทีอัน “กราดเกรี้ยว” พร้อมประโยคทองที่สะเทือนซางตานขโมยกันไปทั้งบางว่า “…พวกคุณมาเพื่อฝากความหวังไว้กับเยาวชน คุณกล้าดียังไง … พวกคุณขโมยความฝันของฉันและของเด็กๆ ด้วยคำพูดที่เลื่อนลอย แต่ฉันก็ยังถือว่าโชคดี ผู้คนกำลังเผชิญกับความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังล้มตาย ระบบนิเวศกำลังล่มสลาย พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่พวกคุณเอาแต่พูดเรื่องเงินทองและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุด กล้าดียังไง…”

แน่นอนว่าผู้ที่ฟังสุนทรพจน์พร้อมท่าทีนี้ล้วนสัมผัสถึงความกราดเกรี้ยวของเธอได้ และปฏิกิริยาของแต่ละคนก็แตกต่างกัน พ่อแม่หลายคนมองหน้าลูกตัวเองแล้วรู้สึกเต็มตื้นว่าเราจะมีแผ่นดินแบบไหนเหลือไว้ให้พวกเขาและเธอ บางคนนั้นอาจจะเห็นด้วยและตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จริงอยู่ เพียงแต่ก็รู้สึกตึงเครียดกับน้ำเสียงและท่าทีจนไม่อยากฟังซ้ำ อันนี้คงต้องยอมรับว่าก็มีและจริง

เราอาจจะแยกประเด็นนี้เรื่องเห็นด้วยต่อสารแต่รำคาญในท่าทีออกไปก่อน รวมถึงการคัดแยกเอาความเห็นต่างที่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระกันเลย ได้แก่กลุ่มที่เชื่อในทฤษฎีว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นรอบของการปรับตัวเหมือนยุคน้ำแข็งแล้วพลันมาอบอุ่น หรือคนที่เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดัดจริตของเด็กประเทศร่ำรวยที่ถูกล้างสมองโดยลัทธิโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้แต่บุคคลมีชื่อเสียงจบเมืองนอกเมืองนาหรือเป็น ดร. (จริงๆ) ก็ยังแสดงความเห็นเช่นนี้สู่สาธารณะ หากเรายอมรับก็ได้ว่าการแสดงความเห็นต่างนี้เป็นเสรีภาพได้เท่าๆ กับที่เรายอมรับว่าก็ยังมีคนเชื่ออย่างจริงจังแม้จนทุกวันนี้ว่าโลกแบนและทั้งหมดทั้งมวลที่พิสูจน์กันมากว่าพันปีเป็นเรื่องแหกตา

Advertisement

แต่ข้อที่น่าสนใจใคร่ครวญกว่า คือท่าทีและความกราดเกรี้ยวของเกรตา ที่เหมือนจะจั่วหัวผู้คนออกเป็น “ผู้ใหญ่ที่กล้าดี” กับ “เด็กที่ต้องรับเคราะห์กรรม” นั้นเป็นเหมือนการผลักแยกและกีดกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดีหรือได้ผลในการต่อสู้เรียกร้องที่ต้องการแนวร่วมหรือไม่

เพราะธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นเป็นอย่างนิทานชาดกเรื่องโคนันทวิศาล ที่พ่อโคผู้ทรงปัญญาจะลากสัมภาระร้อยเล่มเกวียนไปฉิวได้ก็ด้วยแต่มธุรสวาจา ดังนั้น การจะให้บรรดาโคแก่ทั้งหลายช่วยกันแบกลากโลกนี้ขึ้นจากหลุมบ่อที่พวกเขาขุดขึ้น ก็น่าจะพูดกันดีๆ หน่อยมิใช่หรือ

นั่นแหละ คือสิ่งที่ทำให้ผมอยากจะเล่าเรื่องของญาติผู้ใหญ่ของมิตรสหายท่านหนึ่งที่จั่วไว้ตอนต้นของคอลัมน์นี้

เพราะขึ้นชื่อว่า “คน” แล้ว สูตรสำเร็จนั้นอาจจะไม่มี มนุษย์นั้นล้วนแตกต่างหลากหลาย อาจจะมีจุดร่วมตรงกันบ้างคือรักสุขเกลียดทุกข์ แต่ในรายละเอียดความชอบชื่น แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

คนแบบโคนันทวิศาลที่จะเข้าใจได้และยอมร่วมมือปรับเปลี่ยน หากแนะนำหรือว่ากล่าวตักเตือนกันอย่างดี ใช้การน้อมนำให้เห็นประโยชน์ดีกว่าการชี้โทษนั้นก็มีอยู่มาก แต่คนกลุ่มที่ต้องการการ “ตีแสกหน้า” เพื่อให้ตกใจจนตื่นหรือรู้สติก็มีไม่แตกต่างกัน เรื่องนี้ใครเคยมีผ่านประสบการณ์บังคับบัญชา สอนงาน หรือแม้แต่ติดตามงานผู้คนจำนวนมากพอสมควรคงเข้าใจได้ เรื่องเดียวกันแท้ๆ บางคนต้องชมจึงจะทำ แต่คนอีกกลุ่มนั้นต้องด่าถึงจะทำ

เรื่องนี้มันจริงจังขนาดว่ากลายเป็นทฤษฎีการตลาดอย่างหนึ่งไป ซึ่งเรียกว่าทฤษฎี No pain, No Change, No Sale – ไม่เจ็บ ไม่เปลี่ยน และไม่ซื้อ (ก็คือขายไม่ได้)

เราอาจจะเคยได้ยินประโยคทองคล้ายๆ กันนี้ว่า No Pain No Gain – ไม่เจ็บ ไม่เรียนรู้ นี่ก็คือหลักการเดียวกัน กล่าวคือ สำหรับบางคนในบางเรื่อง เราจำเป็นต้องทำให้เขาเจ็บ เพื่อที่เขาจะมองเห็นปัญหา และจึงคิดว่าจะปรับเปลี่ยน ซึ่งในทางการตลาด เขาก็จะหันมาซื้อสินค้าของเรา

หลายคนอาจจะเคยเจอการขายสินค้าหรือบริการที่แหวกแนวแบบนี้มาแล้ว คือ ดูถูกในสิ่งที่เรามีหรือเราเป็น ก่อนจะนำเสนอสินค้าซึ่งจะเป็นทางแก้ไขในเรื่องนั้น เช่น อาจจะเปิดฉากด้วยการบอกว่า คนอย่างเราเขาประเมินแล้ว คงจะเป็นมนุษย์เงินเดือนผู้ชักหน้าไม่ถึงหลังไปจนตาย รอวันเกษียณรับเงินก้อนน้อยนิดที่ไม่พอประทังชีวิตเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ฝากตัวไว้กับการรักษาพยาบาลแบบตามมีตามเกิดเท่าสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำ แล้วจบชีวิตแบบอนาถา ขณะที่เรากำลังโกรธได้ที่ หรือหดหู่จิตตก เขาก็จะชี้ให้เห็นว่า แต่ถ้าคุณลงทุนกับเขาเสียตั้งแต่วันนี้ คุณจะเป็นคนกลุ่มพิเศษในสังคมที่จะไม่ต้องเป็นอย่างนั้น

หรือบางท่านก็อาจจะทราบว่า แนวทางการตลาดของบางแบรนด์นั้น ที่พนักงานทุกคนดูโขลกกันออกมาจากบล็อกด้วยสีหน้าท่าทีสุภาพแต่ไม่ยี่หระนอบน้อมดูว่าจะไม่แคร์ลูกค้า ซึ่งทราบมาว่าเขาจงใจสร้างภาพลักษณ์เช่นนั้นจริงๆ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากเอาชนะของคนที่คิดว่าตัวเองมีดี (หรือที่จริงคือมีสตางค์) เพียงพอที่จะทำให้พนักงานในชุดดำที่ดูหรูเลิศเชิดหยิ่งนั้นต้องมาขายของให้ ด้วยการยอมตนลงไปซื้อสินค้าและบริการ อันเป็นหลุมพรางเดียวกับเรื่องญาติของมิตรสหายตอนต้น เพียงแต่ไม่ชัดเจนตรงไปตรงมาขนาดนั้น

หรือเอาที่ไม่เกี่ยวกับการขายๆ ค้าๆ ก็เชื่อว่าตัวของเราๆ ท่านๆ บางคน หรือคนรู้จักก็อาจจะมี ที่หลายครั้งที่เราสามารถทำอะไรที่คิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำได้ เพื่อต้องการลบคำสบประมาท หรือเพื่อพิสูจน์ว่าเราจะไม่เป็นอะไรอย่างที่เขาเชื่อว่าเราจะเป็น

ความตกใจ เจ็บปวด หลายครั้งจึงทำให้เรามองเห็นปัญหา หรือถ้าเห็นปัญหานั้นอยู่แล้วก็ได้รู้เสียทีว่านี่คือเวลาต้องแก้ไข และการเย้ยหยันหลายครั้งก็นำมาซึ่งมานะ ดังนั้น ผมจึงออกจะไม่เห็นด้วยว่าความกราดเกรี้ยวของเกรตาต่อบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือคนเสื้อแดงที่ไม่อาจอภัยให้ได้เลยกับบรรดามวลชนคนสลิ่มที่เป็นผู้เริ่มผลักเข็นให้รถบัสประเทศไทยเราไหลลงสู่ก้นเหว ความกราดเกรี้ยวเหล่านั้นไร้ประโยชน์ แม้ว่ามันอาจจะผลักไสคนให้ออกห่าง แต่ในอีกทางมันก็กระตุ้นให้คนได้คิดได้เห็นความจริงในความเจ็บ

เราโกรธเกรี้ยวและแสดงมันออกมาได้ หรือแม้แต่เกลียดชังกันบ้างก็ได้ เพียงแต่ต้องมั่นใจไว้สักสองสามเรื่องว่า ความโกรธเกรี้ยวที่เราแสดงออกมานั้น หากจะเกิดผลร้ายที่สุดออกมาอย่างไรนั้นเราก็ต้องยอมรับมันให้ได้ เช่นนี้การแสดงออกซึ่งความกราดเกรี้ยวนั้นจึงควรต้องมีสติกำกับ และผ่านการไตร่ตรองแล้ว – ซึ่งมันออกจะขัดกับธรรมชาติของความโกรธแค้นกราดเกรี้ยวไปบ้าง แต่ก็เชื่อเถิดว่า สุนทรพจน์ของเกรตานั้น ไม่ใช่การกล่าวโดยอารมณ์ที่ “ขึ้น” และระเบิดออกมากะทันหันบัดเดี๋ยวนั้นเสียทั้งหมด

และหากเราจะย่างเท้าเข้าสู่ความเกลียดชัง ก็ขอให้มั่นใจว่าเราเกลียดชังใครคนอื่นในฐานะของผู้ที่กระทำการหรือมีความคิดบางประการที่เป็นภัยหรือทำอันตรายกับเรา หรือสร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมจนถึงมวลมนุษยชาติ แต่เราไม่ได้เกลียดชังเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผู้เปล่าเปลือยปัจเจก เช่นที่สายตาราวกับจะสาปให้เป็นแมงกระชอนของเกรตานั้น เป็นสายตาที่สาปส่งให้แก่ “ประธานาธิบดีสหรัฐที่ชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์” ไม่ใช่มนุษย์ผู้ชายสูงอายุร่างใหญ่วัย 73 ปี ที่เป็นคุณปู่หรือคุณตาของหลานร่วมสิบคน

ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะขับเคลื่อนโลกหรือประเด็นด้วยความกราดเกรี้ยวคือต้องเตรียมกลไกรองรับจิตใจและอารมณ์ให้ดี กลไกที่จะช่วยสงบกลับปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ ทิ้งไอเสียของอารมณ์เครียดลบเหล่านั้นไปไม่ให้เหลือตะกอนเป็นพิษตกค้างในใจ

กับขอเตือนความจำไว้ในตอนท้ายสุดนี้ว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกที่จะขับเคลื่อนด้วยมธุรสวาจา ไม้อ่อน การจูงใจ หรือความกราดเกรี้ยวเพื่อสร้างความเจ็บปวดกระตุ้นให้เห็นปัญหา แต่สุดท้าย เราก็ยังต้องหายใจเอาอากาศเดียวกันของโลกนี้เข้าไปทุกคน ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกอย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image