ข้อคิดว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อองค์พระมหากษัตริย์ : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติถึงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไว้ตามมาตรา 13 (สำหรับองคมนตรี) มาตรา 191 (สำหรับผู้พิพากษา ตุลาการ) มาตรา 161 (สำหรับคณะรัฐมนตรี) หลักเกณฑ์ที่มีบัญญัติไว้ตามมาตราดังกล่าวมีดังนี้

1.ก่อนเข้ารับหน้าที่ (องคมนตรี, ผู้พิพากษาตุลาการ, คณะรัฐมนตรี)
2.ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
3.ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” (สำหรับองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี)

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ” (สำหรับผู้พิพากษา ตุลาการ)

Advertisement

การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ หากกระทำหลังก็จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วรรค 2 หากผู้มีหน้าที่ถวายสัตย์ปฏิญาณมิได้กระทำการถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัตินี้ ก็ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้และหากฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น ถวายสัตย์ปฏิญาณหลังปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ย่อมมีผลให้หน้าที่ที่ปฏิบัติไปแล้วเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง

นอกจากจะต้องปฏิบัติก่อนเข้ารับหน้าที่แล้ว สำหรับถ้อยคำที่ใช้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าให้ใช้ถ้อยคำตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ถ้อยคำเหมือนกัน ส่วนผู้พิพากษาตุลาการบัญญัติคำถวายสัตย์ปฏิญาณแตกต่างออกไป ทั้งนี้ เพราะอำนาจและหน้าที่ของคณะผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณแตกต่างกัน ผู้มีหน้าที่ในการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อาจใช้ถ้อยคำตามอำเภอใจ เช่น ไม่ใช้ถ้อยคำที่บัญญัติไว้แล้วใช้ถ้อยคำอื่น หรือละเว้นไม่กล่าวถ้อยคำให้ครบบริบูรณ์ เพราะถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในกฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแก่ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องกล่าวตามและกล่าวให้ครบตามบทบัญญัติของกฎหมาย และหากยินยอมให้ผู้มีหน้าที่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณกล่าวถ้อยคำตามอำเภอใจ ก็อาจมีการที่คณะรัฐมนตรีนำคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณของผู้พิพากษามากล่าว และผู้พิพากษาตุลาการก็อาจนำคำกล่าวของคณะรัฐมนตรีมากล่าว หรืออาจมีการกล่าวโดยตัดถ้อยคำช่วงใดออกเสียก็ได้ ความสับสนก็จะเกิดขึ้นแก่พิธีการอันศักดิ์สิทธิ์นี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” บทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในทางการบริหารก็ดี ในทางตุลาการก็ดี จะต้องมีหน้าที่ให้คำมั่นสัญญาต่อเจ้าของอำนาจอธิปไตยคือ ปวงชนชาวไทย ว่าจะต้องใช้อำนาจและทำหน้าที่ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้โดยการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านพวกท่าน

ดังนั้น คำมั่นสัญญาจึงต้องมีถ้อยคำครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คำถวายสัตย์ปฏิญาณจึงมิใช่เป็นการกระทำที่มีผลเฉพาะ ระหว่างคณะผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณกับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น และเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ ให้คณะผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณจะต้องกระทำหากมีการกระทำผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์ ก็จะเป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่ถวายสัตย์ปฏิญาณเท่านั้น

ไม่ควรนำเอาการที่ได้มีกระแสพระราชดำรัสให้โอวาท มาเป็นข้อโต้แย้งให้การกระทำที่ไม่สมบูรณ์เป็นการถูกต้อง เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้มีการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะบุคคลแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยและตามที่จะทรงพระกรุณา จึงไม่สมควรที่จะดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

ส่วนการที่ศาลมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ โดยมีเหตุผลว่า เพราะเป็นการกระทำทางการเมือง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดๆ นั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผลแห่งคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบถึงการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) ให้มีการเปิดอภิปรายในเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ด้วยเหตุผลดังนี้

1.คำสั่งไม่รับวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวมิใช่เป็นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 211 วรรคท้าย ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” คำสั่งนี้จึงไม่มีผลต่อการเปิดอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด

2.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีนี้เป็นการกระทำทางการเมือง จึงไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายตุลาการ หากแต่อยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองคือรัฐสภานั่นเอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีอำนาจในการเปิดอภิปรายในเรื่องนี้ได้โดยสมบูรณ์

อนึ่งเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างในคำวินิจฉัยว่า ไม่รับวินิจฉัยในกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณโดยใช้ถ้อยคำไม่ครบถ้วน ว่าเป็นการกระทำทางการเมืองนั้น แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วย แต่ก็ยังอดค้างคาใจในกรณีที่มีการกระทำทางการเมืองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยรับวินิจฉัย กรณีดังกล่าวคือ

1.เมื่อรัฐสภาได้มีมติได้แก้ไขเพิ่มเติม ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ใน มาตรา 291 และอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งต้องถือว่าเป็นการกระทำทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติ และขณะนั้นร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในพระราชอำนาจที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ กรณีนี้นอกจากจะเป็นการกระทำทางการเมืองซึ่งอยู่ในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ยังเป็นการมิบังควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องและมีคำวินิจฉัย (ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1)

2.คดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศอีกคดีหนึ่งคือ คดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะรวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศชั้นผู้ใหญ่ทั้งกระทรวงตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยผู้กล่าวหายื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คดีนี้ผู้เขียนเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน) โดยกล่าวหาว่า นายนพดล ปัทมะ ได้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา (Joint Communiqué) โดยมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 190 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวพร้อมทั้งมีคำวินิจฉัยว่า แม้บันทึกความตกลงนั้นจะไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ถ้า “อาจมี” ผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตก็ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

ซึ่งกรณีนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า นอกจากจะเป็นการกระทำทางการเมือง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยเพิ่มคำว่า “อาจมี” ลงไปในคำวินิจฉัย เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ฝ่ายตุลาการ

ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “อุดมการณ์ของตุลาการไม่เหมือนข้าราชการฝ่ายอื่น เป็นอุดมการณ์ที่จับไม่ได้ มองไม่เห็น แต่อยู่ในจิตใจในหัวใจของเรา เราต้องพิจารณาด้วยความเป็นกลาง ไม่มีอารมณ์ ส่วนจะผิดจะถูก ตัดสินผิดศาลอุทธรณ์ท่านกลับก็สุดแล้วแต่ท่าน ถ้าเรามีความรู้ดี มีการเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ คำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ก็ดูอยู่เรื่อยๆ มีความขยันหมั่นเพียร มีการศึกษาสืบเนื่อง มีความเข้าใจ มีความเป็นกลาง จิตใจผ่องใสเบิกบานแล้ว ยังผิดอยู่ก็ถือว่าให้ผิดไป เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว ทีหลังก็ถูกเอง นี่แหละครับ จิตใจของบรรพตุลาการ ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยความเคารพนับถือของคนทั้งหลาย”

ในการวินิจฉัยคดี ท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ บรรพตุลาการผู้ทรงความรู้คู่คุณธรรม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “แม้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีวิธีการให้ศาลนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวินิจฉัย ในเมื่อศาลเห็นว่าถ้าตัดสินคดีใดไปตามตัวบทกฎหมายแล้วจะไม่ต้องด้วยทำนองคลองธรรม ซึ่งก็จะได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นรายๆ ไป อันเป็นวิธีการที่ถูกต้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ไม่ใช่ศาลจะออกนอกบทกฎหมายไปเอง มาในสมัยปัจจุบันนี้ เมื่อกฎหมายบทใดไม่ต้องด้วยเทศกาลบ้านเมือง ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกาลสมัย แต่ศาลจะตัดสินไปตามเหตุการณ์บ้านเมืองที่แปรไปทุกขณะไม่ได้ เพราะจะทำให้ขาดความแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความจริงกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาวินิจฉัยโดยคำนึงถึงเทศกาลบ้านเมืองได้อยู่แล้วเหมือนกัน แต่ไม่ใช่คำนึงถึงเทศกาลบ้านเมืองจนกระทั่งทำตัวเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเสียเอง หรือถูกสั่งให้วินิจฉัยคดีไปตามเหตุการณ์บ้านเมืองได้ เพราะผู้พิพากษาต้องมีความอิสระ และความอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษานี้ จะเป็นหลักประกันแก่ประชาชนทั่วไป”

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีที่มีการกล่าวหากันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และมาตรา 190 นอกจากจะเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับแนวความคิดของปรมาจารย์ซึ่งเป็นบรรพตุลาการอันเป็นที่เคารพของนักกฎหมายทั่วประเทศที่ได้เคยแสดงไว้ด้วย

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษบรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image