น.3คอลัมน์ : อำนาจ การเมือง อำนาจ ของ ‘กอ.รมน.’ ยุคหลัง ‘เลือกตั้ง’

ใครที่คิดและประเมินว่า การแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ 12 นักการเมือง นักวิชาการและผู้ดำเนินการอภิปรายบนเวทีเสวนา ณ ลานวัฒนธรรมปัตตานี

คือ หมัดเด็ด คือการรุก

ปฏิกิริยาอันตามมาจากวันที่ 28 กันยายน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม คงเริ่มเห็นอย่างเด่นชัดว่าอาจมิได้เป็นเช่นนั้นก็ได้

ปัจจัย 1 มาจากการใช้ “มาตรา 116”

Advertisement

เหมือนกับมาตรา 116 คือ อาวุธอันทรงพลังที่เคยใช้ปราบการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าต่อ “นปช.” ไม่ว่าต่อ “เพื่อไทย”

แต่ถามว่าหลังจากยกมาตรา 116 มาเป็นอาวุธแล้ว ผลเป็นอย่างไร มีจำนวนหนึ่งอัยการไม่ส่งฟ้อง มีจำนวนหนึ่งก็ถูกยกฟ้องในชั้นศาล

Advertisement

ปัจจัย 1 ที่ไม่ควรมองข้ามคือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ

ภาพของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ สัมพันธ์กับภาพของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ อย่างแนบแน่น แม้ในอดีตจะอยู่ที่ คสช. และปัจจุบันอยู่ที่ กอ.รมน.ก็ตาม

บทบาท พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ โดดเด่นหลัง “รัฐประหาร”

เป็นบทบาทเมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.อยู่ในมือ เป็นบทบาทเมื่อมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อยู่ในมือ

คดีอยู่ที่ “ศาลทหาร” มากกว่า “ศาลยุติธรรม”

บทบาทจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเองทำให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ครองยศเป็น พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ

ภาพของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ จึงสัมพันธ์กับ “คสช.”

จึงสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงสัมพันธ์กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

เท่ากับเป็น “เงาสะท้อน” ของรัฐบาล

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า พลันที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ไปแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ภาพของรัฐบาล ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แจ่มชัด

แจ่มชัดว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ “รัฐธรรมนูญ”

เบื้องหลังภาพของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ จึงมิได้มีเพียงบรรดาไอ้ห้อยไอ้โหนที่ร่วมอยู่ในปฏิบัติการ IO สร้างกระแสมาตรา 1

หากยังมีเงาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ด้วย

ทั้งๆ ที่ก่อนวันที่ 5 มิถุนายน รับปากกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม แถลงต่อรัฐสภาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สัมผัสได้จากกำหนดเป็น 1 ในนโยบาย “เร่งด่วน”

คำว่า “เร่งด่วน” ไม่ว่าจะมองจากมุมในทางการเมือง ไม่ว่าจะมองจากมุมทางการทหาร ย่อมดำรงอยู่ในสภาพการณ์พิเศษ

การเล่นบท “นักร้อง” ของ “กอ.รมน.” จึงน่าศึกษา

ถามว่าเหตุใดพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 12 นักการเมือง นักวิชาการ และผู้ดำเนินการอภิปรายกลับมิได้แสดงความหวาดหวั่นพรั่นพรึงเลยแม้แต่น้อย

ตอบได้เลยว่า เพราะ “สภาพ” ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว

นี่เป็นการเมืองที่ “คสช.” ไม่มีอยู่แล้ว นี่เป็นการเมืองที่ไม่มี “มาตรา 44” แม้อาวุธลับที่ “กอ.รมน.” งัดขึ้นมาคือมาตรา 116 ก็ไม่เหมือนเดิม

เพราะเป็นการเมืองหลัง “เลือกตั้ง” เพราะเป็นการเมืองที่มี “สภา” มาจากการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image