เดินหน้าชน : เบื้องหลัง‘สารพิษ’

ผลการประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่ายเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง สั่งห้ามใช้ ห้ามครอบครอง ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า 3 สารเคมีอันตรายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป

ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้จะทำเรื่องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่คาดว่าจะประชุมในวันที่ 27 ต.ค.นี้

ถือเป็นความสำเร็จของรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคภูมิใจไทย เพราะทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาแสดงความจริงจัง ไล่บี้ให้ยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายนี้ ไม่เว้นแม้แต่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมายืนยันตัวตนว่า กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องการให้ยกเลิกการใช้เช่นกัน

และที่กลัวตกขบวนตามสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ “คิดเยอะ คิดนาน” หลังจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯถูกไล่บี้ให้แสดงจุดยืน จนสุดท้าย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องออกมาแถลงท่าทีและตีกินว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายตั้งแต่ต้น เห็นด้วยกับการยกเลิกสารเคมี 3 สาร โดยเฉพาะนายเฉลิมชัยเห็นด้วยและยังไปไกลกว่าการยกเลิกแล้วเพราะมีแนวคิดทำเกษตรอินทรีย์ ใช้สารออร์แกนิกทดแทนสารเคมีดังกล่าว

Advertisement

หากย้อนกลับไปที่เบื้องหลัง 3 สารเคมีอันตรายที่อยู่คู่เกษตรกรไทยมานาน แม้ทางเอ็นจีโอจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ลงมติ 16 ต่อ 5 เสียงให้จำกัดการใช้ทั้ง 3 สารเคมีในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น

แม้แต่การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ก็ยังยืนตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 คือให้จำกัดการใช้ทั้ง 3 สารใน 6 พืชเหมือนเดิม สิ่งนี้แสดงว่า แบ๊กอัพของ 3 สารเคมีนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะมติดังกล่าวมันสวนทางกับกระแสของโลกที่ออกมาแบนพาราควอตกว่า 50 ประเทศ และจำกัดการใช้พาราควอตอย่างเข้มข้น 15 ประเทศ โดย “ไต้หวัน” เป็นประเทศล่าสุดที่เลื่อนการแบนพาราควอตเร็วขึ้น 1 ปี จากเดิมประกาศแบนในปี 2563 มาเป็น 2562 ขณะที่ “จีน” ประกาศแบนพาราควอตทุกรูปแบบ

ที่น่าสงสัยเพราะไทยแลนด์เปรียบเป็นครัวของโลก เป็นประเทศที่ส่งสินค้าทางการเกษตรลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งน่าจะตื่นตัวเรื่องสารเคมีตกค้างเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในตัวสินค้าเกษตร แต่กลับเมินเฉยต่อการแบน 3 สารพิษ

Advertisement

แม้มีงานวิจัยระบุว่า ไทยนำเข้าสารเคมี 3 ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดวัชพืชในเกษตรกรรมไร่อ้อยและยางพารา และสารพิษเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ตามแหล่งน้ำชุมชน จนพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่ารุนแรง บางรายก็เสียชีวิตจากการสัมผัสสารเคมี กลายเป็นว่าเกษตรกรไทยใช้สารเคมีเกือบทั้งประเทศ จนประเทศเหมือนถูกอาบไปด้วยยาพิษ ประชาชนต้องตายผ่อนส่ง

และที่น่าสนใจมากกว่าจากข้อมูลของ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. ออกมาแฉว่า เคยผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 สมัยที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็น รมว.มหาดไทย ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ตนได้เสนอให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งท่านก็เห็นด้วย แต่ว่าเมื่อไปพบกับรัฐมนตรีท่านหนึ่งเพื่อขอความร่วมมือ ท่านกลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า หัวคะแนนของท่านขายปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จึงไม่สามารถช่วยเรื่องนี้ได้

แสดงว่าเบื้องหลังของสารเคมีเหล่านี้ถูกต่อรองด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองและทุนใหญ่ที่สนับสนุน

อย่าแปลกใจ เมื่อมีข่าวปล่อยออกมาถาโถมใส่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ จนเจ้าตัวต้องออกมาปฏิเสธยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีนายทุนรายใหญ่ที่รอนำเข้าสารทดแทนตัวใหม่ เข้ามาในประเทศ เหมือนที่มีการกล่าวหาพรรคภูมิใจไทย เตรียมเปิดทางให้นายทุนพรรคนำสารเข้ามา ไม่มีทั้งสิ้น ดังนั้นอย่าห่วงเรื่องเจ้าสัวนำเข้าสารตัวใหม่ และไม่มีการตัดตอนบริษัทนำเข้า 3 สาร เพราะทั่วโลกก็แบนกัน 58 ประเทศแล้ว

สิ่งเหล่านี้อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า สารพิษหลายต่อหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ มันมีเบื้องหลังที่น่ากลัวจริงๆ

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image