สถานีคิดเลขที่ 12 : วิญญาณเสรี : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : วิญญาณเสรี : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : วิญญาณเสรี : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ภรรยาของชายสูงวัยรายหนึ่ง ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณของสามีที่เสียชีวิตในเรือนจำ เนื่องจากต้องคดีร้ายแรง

“กลับบ้านเรานะ เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”

อย่างน้อยก็เป็นอิสรภาพภายหลังความตาย

Advertisement

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญสิ้นเสรีภาพอย่างน่าสลด หรือสูญเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร นำความโศกเศร้าสะเทือนใจมาสู่ครอบครัวญาติมิตรอย่างมากมาย

เพียงแต่เมื่อความตายนั้น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในสถานการณ์บ้านเมือง ก็ยังภาคภูมิใจได้ ในฐานะวีรชนของประชาชน ที่ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องไปตลอดกาล เป็นผู้ที่อุทิศตัวเพื่อสิทธิเสรีภาพ

ดวงวิญญาณที่หลุดลอยออกจากร่างเหล่านี้ คือวิญญาณเสรีชน

Advertisement

ในบรรดาเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ที่มีผู้คนต้องสูญเสียชีวิตมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย นับว่าวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เป็นหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ ที่คนรุ่นหลังยกย่องเชิดชูมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง

เมื่อการรำลึกถึง 14 ตุลาคม เวียนมา ต้องนึกถึง จดหมายจาก ละเมียด บุญมาก ภรรยาของ จีระ บุญมาก ที่เขียนมาแสดงความเห็นต่อบทความของ สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน ในคอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นี้

จีระ บุญมาก เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตด้วยปืนทหาร บนถนนราชดำเนิน บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์เก่า เมื่อเที่ยงของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังฟังข่าววิทยุแล้วทนไม่ไหว ออกจากบ้านไปด้วยความห่วงใยประชาชนที่เริ่มถูกปราบ

ขณะเดินไปที่รถถังของทหาร พร้อมกับตะโกนร้องว่าอย่ายิงเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีอาวุธอะไรเลย แต่ด้วยความหวาดระแวงของคนที่ถือปืนพร้อมกระสุนจริง ก็เลยรัวยิงใส่จนร่างของจีระล้มลง เลือดนองไปทั่วท้องถนน

วิญญาณแห่งเสรีชน หลุดลอยออกจากร่างในทันที

ทั้งในนาทีนั้น บรรดาผู้ร่วมชุมนุมได้กรูกันไปที่ร่างของจีระ นำธงชาติเช็ดเลือด และห่อร่างสิ้นลมหายใจนั้น แบกไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงความคารวะและเชิดชู

เคยได้รับจดหมายจากคุณละเมียด บุญมาก ผู้สูญเสียสามี เสาหลักของครอบครัวไป

โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาก่อกระแสเรียกร้องให้รัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คุณละเมียดได้เขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ขณะนั้น

เป็นจดหมายที่เขียนรำลึกถึงสามี ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโทนิด้า ที่เสียชีวิตในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจุดประกายประชาธิปไตย หลังจากถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร

“คุณจีระ เป็นหนึ่งใน 71 คนที่เสียชีวิต ทั้งที่อนาคตกำลังไปด้วยดี แต่ต้องมาตายเพราะคำว่าประชาธิปไตย โดยมิได้ห่วงใยคนข้างหลัง ทั้งพ่อ พี่น้อง ลูกยังเล็ก และภรรยาที่คอย

วันสำเร็จการศึกษา ซึ่งขณะนั้นคนจะจบปริญญาโทแสนยาก แต่จะทำอย่างไรได้ คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ตายแล้วทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพก็ต้องน้อมรับ ซึ่งครอบครัวต้องกล้ำกลืน หน้าชื่นอกตรม กับคำที่คนหยิบยื่นให้คุณจีระ บุญมาก ว่าเป็นวีรชน ทั้งที่ครอบครัวเราไม่อยากได้เลยกับคำชื่นชม อยากให้เขามีชีวิตดีกว่า”

“ดิฉันก็ต้องยอมรับ ทุกคนก็ยอมรับ แต่กลับมีบุคคลกลุ่มหนึ่งกลับไม่อยากเห็นประชาธิปไตย เรียกร้องหาคำว่าปฏิวัติ”

“อย่างน้อยๆ ท่านน่าจะนึกถึงคนที่เขาเสียชีวิตเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าเขามิได้รับจ้างหรือได้ผลตอบแทนอะไร เขาออกไปด้วยจิตวิญญาณของผู้ต้องการสิทธิเสรีภาพ”

ในปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 46 ปีของ 14 ตุลา ล่าสุดคุณละเมียดยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยยืนความคิดนี้ไม่แปรเปลี่ยน

นับจากจดหมายเมื่อปี 2555 จากนั้นกลุ่มขบวนการเรียกหารัฐประหาร ยังกระทำต่อเนื่องจนสำเร็จในปี 2557 และอำนาจนั้นยังดำรงต่อมาจนถึงวันนี้

คนรุ่นใหม่ คนรุ่นปัจจุบัน ที่ยังคงรำลึกและยกย่องวีรชน 14 ตุลา 2516 จึงยังต้องเดินหน้าผลักดันเจตนารมณ์นั้นกันต่อไป

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image