‘จุดวกกลับ’ของจังหวัดระยอง ความเหลื่อมล้ำและปัญหาขยะ : พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะในวงเสวนาทางวิชาการ หลังจากที่ธนาคารเครดิต สวิส จัดทำรายงาน Global Wealth Report ประจำปี 2018 ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์สินสูงที่สุดในโลก จนเดือดร้อนถึงสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องออกมาโต้ว่าเรามีความเหลื่อมล้ำระดับกลางๆ ไม่ใช่สูงสุดอย่างที่รายงานกัน แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่ารายงานของธนาคารเครดิต สวิสกับสภาพัฒน์ของเรามองกันคนละมุม วัดกันคนละด้าน แต่จะมองมุมไหนหรือวัดกันด้านใดบ้าง เราๆ คนธรรมดาก็รู้สึกได้ถึงความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ยิ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆมากๆ เพื่อดันตัวเลข GDP ให้สูงขึ้นก็ดูเหมือนความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำจะยิ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือจะเป็นเพราะ “ความเหลื่อมล้ำ” คือผลจากการพัฒนาหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปี 1955 ไซมอน คุซเนตส์ เสนอแนวคิดใน The American Economic Review เรื่อง Economic Growth and Income Inequality เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อประชากรกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรโดยใช้ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้ว ผลการศึกษาพบว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวและรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้นในระยะแรก ส่งผลให้การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวไปถึงจุดหนึ่ง พบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีแนวโน้มลดลง

หมายความว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมี “จุดวกกลับ” ความสัมพันธ์มีลักษณะเป็นเส้นโค้งคล้ายรูประฆังควํ่าและเรียกเส้นโค้งนี้ว่า “เส้นโค้งของคุซเนตส์” จึงเป็นโจทย์ให้ค้นหา “จุดวกกลับ” ที่ประเทศต้องมีเศรษฐกิจเติบโตถึงจุดไหน ความเหลื่อมล้ำถึงจะมีแนวโน้มลดลง

จากแนวคิดดั้งเดิมของคุซเนตส์ ถูกนำมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมกับรายได้ต่อประชากรซึ่งเราเรียกว่า “เส้นโค้งของคุซเน็ตส์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Kuznets Curve)” ก็พบผลเช่นเดียวกันว่า เมื่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน เนื่องจากทรัพยากรที่ถูกใช้ไปยังไม่มาก แต่เมื่อระดับรายได้สูงขึ้น การใช้ทรัพยากรและการปลดปล่อยของเสียก็เพิ่มมากขึ้น อัตราความเสื่อมโทรมของทรัพยากรมีมากกว่าการฟื้นฟู มลภาวะเกิดขึ้นมากกว่าการบำบัด ความสัมพันธ์เป็นเช่นนี้ไปจนถึง “จุดวกกลับ” จากนั้นรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้นแต่ระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมกลับมีแนวโน้มลดลง เป็นไปในลักษณะเส้นโค้งระฆังคว่ำเช่นเดียวกัน

Advertisement

David Stern (2003) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมกับรายได้ต่อประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าเมื่อประชากรในประเทศมีรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงแรก ปริมาณการปล่อยก๊าซกำมะถันจะเพิ่มขึ้นและเมื่อถึง “จุดวกกลับ” การปล่อยก๊าซกำมะถันซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจะค่อยๆ ลดลง เป็นไปตามรูปแบบของเส้นโค้งของคุซเนตส์

ในปี 1992 มีงานศึกษาของธนาคารโลก ยืนยันความความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมวัดจากดัชนีชี้วัด 10 รายการ อาทิ การขาดแคลนน้ำสะอาด ขาดแคลนสุขาภิบาล การตัดไม้ทำลายป่า และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น พบว่ารายการส่วนใหญ่เป็นไปตามเส้นโค้งของคุซเนตส์ ที่โดยมีคำอธิบายว่าเมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้น จะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จนเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตและพัฒนาระบบป้องกันและกำจัดของเสียที่จะปล่อยสู่สภาพแวดล้อม อีกทั้งยังเกิดอุตสาหกรรมภาคบริการที่มีผลต่อความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมน้อยกว่า ตลอดจนการฟื้นฟูและรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่เคยเสื่อมโทรม ทำให้ระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมมีแนวโน้มต่ำลง

สรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐ

Advertisement

ลองมาดูปัญหาขยะ ขยะก็เป็นส่วนหนึ่งของความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เมื่อนำเอาข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากร สถิติประชากรและปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดมาวิเคราะห์โดยอาศัยแนวคิดเส้นโค้งของคุซเนตส์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดูว่าจะมีจังหวัดใดบ้างที่ปัญหาขยะกำลังจะถึงหรือผ่าน “จุดวกกลับ” ในเบื้องต้นพบว่าอัตราการเกิดขยะต่อประชากรกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดต่างๆ มีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ

จากข้อมูลของปี 2560 พบว่าจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่ำสุด 10 ลำดับมีอัตราการเกิดขยะต่อประชากรในช่วง 0.53 ถึง 0.97 กิโลกรัมต่อวัน หรือเฉลี่ยที่ 0.87 กิโลกรัมต่อวัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งรายงานโดยกรมควบคุมมลพิษ ขณะที่จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูงสุด 10 ลำดับมีอัตราการเกิดขยะต่อประชากรในช่วง 1.08 ถึง 2.35 กิโลกรัมต่อวัน มีค่าเฉลี่ยที่ 1.58 กิโลกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

จังหวัดที่มีอัตราการเกิดขยะต่อประชากรสูงสุด 2 จังหวัดคือกรุงเทพมหานครและภูเก็ต มีอัตราการเกิดขยะต่อประชากรที่ 2.35 กิโลกรัมต่อวัน แต่จังหวัดระยองที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุดของประเทศกลับมีอัตราการเกิดขยะต่อประชากรเพียง 1.39 กิโลกรัมต่อวัน ไม่เป็นไปตามสัดส่วน จึงเป็นประเด็นที่น่าค้นหาต่อไปว่า จังหวัดระยองจะยังคงมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะหรือระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่

หรือได้ผ่าน “จุดวกกลับ” ไปแล้ว โดยมีแนวโน้มที่อัตราการเกิดขยะหรือระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจะลดลงขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้

สําหรับจังหวัดระยอง นอกเหนือจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่ “จุดวกกลับ” หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะไม่ทำให้ปริมาณขยะหรือระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น ได้แก่

ปัจจัยแรก การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเกิดขึ้นมากว่า 30 ปี ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันด้อยกว่าอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นหรือในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีความเสี่ยงด้านแรงงานเพิ่มขึ้น จึงเลือกที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยี Automation หรือ Robotic ที่ใช้แรงงานน้อยลง แต่สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนได้มากกว่า รวมถึงนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตแบบ Circular Economy ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ยังช่วยคลี่คลายปัญหาประชากรแฝง ปัญหาขยะ ปัญหาที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมและปัญหาทางสังคมของท้องถิ่น

ปัจจัยที่สองคือ ความตระหนักของประชาชนในพื้นที่ต่อปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ตลอดเวลาของการพัฒนาอุตสาหกรรม ประชาชนในจังหวัดต้องประสบกับปัญหาอากาศเสีย ฝุ่น สารพิษ น้ำเสีย และอุบัติเหตุจากโรงงาน ไม่นานมานี้ เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูคลองและขยายพื้นที่สีเขียวสองฝั่งคลอง ทำการสำรวจพันธุ์ไม้ซึ่งพบว่ายังคงมีสวนพุทราและสวนมะม่วงขนาดใหญ่ที่มีถึง 41 สายพันธุ์ ประชาชนมีความกระตือรือร้นที่เข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สาม คือ ทุนที่จะสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม มีกองทุนที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เช่น กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและงบประมาณด้าน CSR ของเอกชน

หากท้องถิ่นและจังหวัดระยองได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ใช้ปัจจัยทุนที่กระจัดกระจายไปในทิศทางที่เหมาะสม จะทำให้จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ผ่าน “จุดวกกลับ” และก้าวเข้าสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้อัตราการเกิดขยะระดับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น

พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image