การเรียนรู้ตลอดชีวิตฤๅจะทำงานตลอดชีวิต

การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือขุมทรัพย์อันมีค่าของมนุษยชาติเพราะการเรียนรู้จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ของชีวิต และที่แน่ๆ คือทักษะการเอาตัวรอด (Survival) แนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นมีมาพร้อมกับมนุษยชาติ แต่หากได้นำมาจัดให้เป็นรูปธรรมขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) ได้นำแนวคิดนี้ขึ้นมาพิจารณาในการประชุมครั้งแรก เมื่อ ค.ศ.1964 เรื่อง “The Third International Committee for Facilitating Adult Education” ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างจริงจังจนกระทั่งในปี ค.ศ.1970 ยูเนสโกได้จัดพิมพ์เอกสารที่ว่าด้วยการศึกษาตลอดชีวิตขึ้น (Lifelong Education) และในปี ค.ศ.1972 ได้มีการจัดพิมพ์เอกสารชื่อการศึกษาตลอดชีวิตเบื้องต้นและได้มีการจัดพิมพ์เอกสารที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งชื่อ การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็น (Learning to Be) ซึ่งเอกสารนี้ขยายแนวคิดของการศึกษาตลอดชีวิตกับสังคมการเรียนรู้ของการเปลี่ยนแปลง (Changing Learning Society) ทั้งนี้ข้อมูลในเอกสารได้กล่าวถึงการศึกษาตลอดชีวิตคือกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรทางการศึกษาทั้งนี้จะต้องกลมกลืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนจนเป็นหนึ่งเดียวซึ่งจะทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตามมาในที่สุด

สถานการณ์การสร้างข้อความรู้และการรณรงค์เกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตนั้นได้มีการจัดสัมมนาระดับโลกซึ่งมียูเนสโกและประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกันในปี ค.ศ.1990 ที่หาดจอมเทียนพัทยา หลังจากนั้นจึงเกิดปฏิญญาสากลเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตโดยมีชื่อว่า World Declaration on Education for All หรือบางครั้งเรียกว่า ปฏิญญาจอมเทียนและมีคำขวัญที่เป็นเส้นทางในการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตคือ การศึกษาเพื่อทุกคนและทุกองค์กรเพื่อการศึกษา (Education for All, All for Education)

ชำเลืองมองการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับการทำงานตลอดชีวิต

ในสังคมไทยมีการส่งเสริมการเรียนตลอดชีวิตในทุกระดับทุกภูมิภาคและทุกหน่วยงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาตลอดชีวิตในหลายงานโดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่บุคลากรอยากทำงานตลอดชีวิตปราศจากการเกษียณออกจากระบบซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของสังคมที่เห็นเกลื่อนกลาดมากในปัจจุบัน บางหน่วยงานนั้นมีภาพบางภาพที่ปรากฏคือ ตอนที่อยู่ในระยะการทำงานหาได้ใส่ใจเรียนรู้หรือเพิ่มศักยภาพของตนเองและองค์กรไม่ แต่พอใกล้ถึงเดือนกันยายนของทุกปีบางคนถึงกับ “วิ่งเต้น” เพื่อที่จะหาช่องทางให้ตนได้ทำงานต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นบาปของสังคมที่เกิดขึ้นโดยปราศจากสัมมาทิฐิของผู้คนกลุ่มนั้นอย่างแยบยล

Advertisement

ในช่วงเดือนกันยายนของทุกๆ ปีจะเป็นเดือนที่ข้าราชการไทยและผู้ที่ทำงานในระบบเอกชนจะต้องเกษียณอายุการทำงาน แต่มิได้หมายความว่าการเรียนรู้จะสิ้นสุดแต่อย่างใด เพราะการเรียนรู้มีลักษณะตั้งแต่เกิดจนตาย (From birth to Death) และสอดคล้องกับคำกลอนว่า “การเรียนรู้มีจนกว่าจะอาสัญ ที่สำคัญเรียนรู้ด้วยใจหมาย การเรียนรู้ต้องเห็นแจ้งทั้งใจกาย และสุดท้ายเมื่อมลายจากแผ่นดิน” วาทกรรมที่มอบเป็นกำลังใจให้กับผู้คนในช่วงเทศกาลจัดงานเกษียณต่างแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มุ่งมั่นและตั้งใจเช่น “กับวันวานที่พากเพียร กับวันเกษียณที่ภูมิใจ” ซึ่งทำให้คนที่ทำงานด้วยพลังศรัทธามีความภาคภูมิใจยิ่งนัก แต่ในทางกลับกันมีหลายหน่วยงานที่อยากจะเขียนป้ายในงานเกษียณว่า “กับวันวานที่ดู(จะ)พากเพียร กับวันเกษียณที่อยากอยู่ต่อ” สิ่งนี้คือความกระอักกระอ่วนที่เห็นได้ทั่วไป

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคมไทยนั้นดูจะเป็นภาพที่สะท้อนมาจากการทำงานตลอดชีวิตมากกว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตมิใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราวที่รัฐจะต้องกระตุ้นให้ทำตามแต่ต้องเป็นการปลูกฝังผู้คนตั้งแต่วัยเยาว์ให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ การอ่านการเขียนและการมีทักษะทางสังคมที่เป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตกับคนอื่นและกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้คือหัวใจและแก่นแกน (Core) ของการศึกษาตลอดชีวิตต่างหาก แต่ทั้งนี้ยังมีอีกหลายๆ คนที่อยู่ในระบบราชการผนวกรวมแบบผิดๆ ว่า การศึกษาตลอดชีวิตคือการทำงานตลอดชีวิตซึ่งเป็นการเอ่ยอ้างที่ผิดแบบไม่เป็นตรรกะ (Fallacy) ด้วยกฎหมายอันที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับข้อบังคับการเกษียณอายุราชการหรือการทำงานนั้นต้องมีการเขียนที่ชัดเจนในทุกตัวอักษรทุกตัวบทและสามารถตีความได้เพียงฐานคิดเดียวที่ต้องการให้เกิดข้อกฎหมายนั้นจริงๆ เพื่อป้องกัน “ศรีธนญชัย” เข้าหาผลประโยชน์ที่ทับซ้อนจากวาทกรรมต่างๆ ที่เอ่ยอ้างขึ้นทั้งปวง ทั้งนี้ จวบจนเดือนตุลาคมแล้วยังมีหลายหน่วยงานที่มีการ “ต่ออายุ” แบบไม่มีหิริโอตตัปปะเลย

ตราบาปของสังคมความล่มจมของระบบ

Advertisement

ทุกประเทศมีการกำหนดระยะเวลาของการทำงานให้ผู้คนในรัฐชาติเป็นไปได้อย่างเหมาะสมกับช่วงระยะวัยทำงาน บางประเทศจะกำหนดระยะเวลาในการทำงานและเงินค่าตอบแทนหลังเกษียณอย่างชัดเจนเช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะกำหนดเวลาอายุ 65 ปี คนทั้งโลกจะรับรู่ว่าชาวเยอรมันจะเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในการทำงานและได้ชื่อว่าเป็นคนที่สร้างผลผลิต (Productivity) จริงๆ ภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ยังมีข้าราชการหลายหน่วยงานหลายคนทำงานประเภท “หย่อนสมรรถนะ” แต่อยากได้ค่าตอบแทนสูง การปลูกฝังที่มาจากระบบ “เจ้าขุนมูลนาย” ดูเหมือนจะหยั่งรากลึกมากกับสังคมไทยและที่สำคัญไม่เข้าใจในคำว่าเจ้าขุนมูลนายที่ชัดเจน ซึ่งคำนี้คือการทำงานให้ประชาชนหรือองค์กรได้อย่างเต็มกำลังความสามารถของตนเอง เจ้าขุนมูลนายมิใช่การเอาเปรียบโดยยศถาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใดหากแต่เป็นการดูแลคนในเรือนหรือในองค์กรให้ได้รับความสุขต่างหาก

ระบบราชการไทยได้มีการกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับราชการมีการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 60 ปี แต่ยังมีหลายหน่วยงานที่ใช้ระบบต่ออายุ (Prolongation) ไปถึงอายุ 65 ปี ด้วยวาทกรรมที่เอ่ยอ้างว่า “เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ” และยังมีสุขภาพดี จึงทำให้ “พื้นที่” ของคนที่มาใหม่ไม่มีและเป็นภาพที่ชัดเจนของการพัฒนาองค์กรถดถอยอีกด้วย ซ้ำร้ายดูจะเป็น “ปลวกของแผ่นดิน” ที่กัดกินงบประมาณของชาติอย่างแน่นอน การสร้างตราบาปให้กับสังคมโดยที่ตนเองอาจจะ (ไม่) รู้ตัว เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ต่อตนเองเข้ามาเกี่ยวข้อง กรรมของรัฐชาติที่ปรากฏคือทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่อีกหลายๆ คนไม่มีงานทำ บางคนก็มีการกุมอำนาจไว้กับตนองไม่พร้อมที่จะปล่อยอำนาจหลุดไปเพราะคุ้นชินกับหัวโขนและการถูกยกย่องจนลืมตัว

สิ่งที่ผู้เขียนไม่อยากเห็นคือผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสในสังคมไทยต้อง “ตายคาเก้าอี้” เพราะไม่ยอมผ่องถ่ายให้คนอื่น ยิ่งไปกว่านั้นเชื่อว่าโลกคงไม่สรรเสริญว่าทำงานเรียนรู้แบบตลอดชีวิตแต่อย่างไร ในทางตรงข้ามเสียงสะท้อนคงจะมาในลักษณะที่ว่า ตายไปแล้วอาจจะกลับมาหลอกหลอนเอาเก้าอี้คืนก็ได้…ใครจะไปรู้ขอรับ!!!!

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image