ที่เห็นและเป็นไป : สะท้อนจาก‘เลือกตั้งท้องถิ่น’

วันเวลาเคลื่อนเข้าสู่ 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562

ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้สัมภาษณ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า “การเลือกตั้งท้องถิ่น” น่าจะจัดให้มีขึ้นปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563

และหลังจากนั้นก็เงียบไป ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดออกมาให้ความชัดเจนในเรื่องนี้อีก

ถึงวันนี้ก็เป็นอันว่า “เลือกตั้งท้องถิ่น ปลายปี 2562” ไม่มีขึ้นแล้ว และ “ต้นปี 2563” จะมีขึ้นได้หรือไม่       ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะมั่นใจอะไรได้

Advertisement

เลือกหรือไม่เลือกเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ

ถึงวันนี้ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอย่างไร

การบริหารจัดการราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบใกล้ชิดประชาชนอย่างที่สุด ก่อนหน้านั้นมีความเชื่อกันว่าการกระจายอำนาจ อันหมายถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะสร้างสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชน ปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ

Advertisement

ผู้บริหารท้องถิ่นย่อมเป็นผู้ที่ประชาชนในพื้นที่รู้จักมากที่สุด ผลงานการบริหารท้องถิ่นซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง ย่อมทำให้ได้เรียนรู้ว่า เลือกคนแบบไหน จะส่งผลต่อชีวิตภายใต้การบริหารอย่างไร

ความเจริญ การพัฒนา ปัญหาในพื้นที่ เป็นผลจากความสามารถในการจัดการของผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนมาจากวิธีเลือกของประชาชน

เลือกคนอย่างไรก็ได้ผลงานอย่างนั้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ความสำคัญในความสนใจต่อการเลือก

การเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละครั้งจะเป็นบทเรียนของการใช้สิทธิให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อการใช้สิทธิในภาพรวม และสร้างสำนึกประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีอีกเลย

จะให้ใครบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.”

ชุดเก่าบริหารต่อไปบ้าง ปลดออกตั้งชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่บ้าง หรืออะไรต่ออะไรหลายวิธี แต่ที่ไม่มีอีกเลยคือให้ประชาชนเลือก

จากวันนั้นถึงวันนี้กว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งจะเกิดขึ้นตามวาระของแต่ละพื้นที่ห่างหายมา 6 ปีแล้ว

และยังไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไร

ที่น่าตระหนกคือ คล้ายกับว่าประชาชนหมดความสนใจแล้วว่าการบริหารท้องถิ่นจะดำเนินไปในรูปแบบไหน

ความคาดหวังว่าสำนึกประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น ประชาชนเรียนรู้และเรียกร้องการมีส่วนร่วมบริหารท้องถิ่นผ่านการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าจะไม่มีอีกแล้ว

ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามยถากรรม แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะกำหนด

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีหรือไม่มีก็ได้ ประชาชนไม่รู้สึก

นี่เป็นความน่าตระหนกอย่างยิ่ง

ความรู้สึกนึกคิดต่อสิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นค่อยๆ จางไป

และนั่นย่อมสะท้อนถึงผลต่อการปลูกฝัง พัฒนาประชาธิปไตยให้ประเทศ

ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นความจำเป็นว่าต้องมีหรือไม่

เมื่อเทียบกับการปลูกฝังสภาวะ “ยอมจำนนต่ออำนาจ”

อะไรประสบความสำเร็จในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนมากกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image