ข่าวปน คนเท็จ ข้อมูลเทียม : โดย กล้า สมุทวณิช

ถ้าเราจะมีเกณฑ์พิจารณาง่ายๆ ว่า คำใหม่คำไหนเป็นคำเกร่อ (Buzzword) แล้ว คือ หน่วยงานราชการหรือภาครัฐ หยิบเอาไปใช้โดยผิดความหมายแล้วหรือยัง

เช่นนี้ คำว่า Fake News ก็เข้าข่ายเป็นคำประเภทนั้นโดยไม่ต้องสงสัย ถึงกับมีการตั้งศูนย์อะไรใหญ่โตกันโดยรัฐมนตรีออกมาให้ข่าวขึงขัง แต่ก็ไม่ได้ออกมาอธิบายว่า ตัวท่านนั้นเข้าใจคำว่า “ข่าวปลอม” ว่าอย่างไร “ผู้ร้าย” รายแรกจากการทำงานที่ประกาศใหญ่โตนี้ก็ยังไม่ชัดว่าที่ถูกกระทำความผิดตามข้อหาที่ว่านั้นได้ทำอะไรลงไปบ้าง เขาปล่อยข่าวอะไร และมันปลอมอย่างไร นอกจากออกมาให้ข่าวว่าเป็น “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม…” ก็เท่านั้น

แสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือของนิยามคำว่า “ข่าวปลอม” ในสังคมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความเข้าใจและสายตาของผู้มีอำนาจรัฐ

สอดคล้องกับที่ปรากฏในคู่มือศึกษาและอบรมผู้สื่อข่าว Journalism, “Fake News” & Disinformation ของ UNESCO ที่ระบุว่า การใช้คำว่า “ข่าวปลอม” ในระยะหลังๆ ได้ลื่นไหลจากความเข้าใจจนนำไปสู่การใช้เพื่อกล่าวหาข่าวสารหรือความคิดเห็นที่ฝ่ายตัวเองไม่เห็นด้วย หรือที่ผู้มีอำนาจรัฐนั้นไม่พึงประสงค์ ดังนั้น ในคู่มือดังกล่าวจึงแนะนำให้เราเลิกหรือลดใช้คำว่า “ข่าวปลอม” โดยพร่ำเพรื่อ และให้ใช้คำว่า “ข้อมูลข่าวสารไม่ปกติ” (Information disorder) ที่จะครอบคลุมกว่า

Advertisement

ใต้ร่มของคำว่า “ข้อมูลข่าวสารไม่ปกติ” นั้นแผ่ออกรวมแบ่งรูปแบบความไม่ปกติที่อยู่ในข้อมูลข่าวสารในสามกรณี คือ ข้อมูลข่าวสารคลาดความจริง (Mis – Information) ข้อมูลข่าวสารผิดความจริง (Dis – Information) และข้อมูลข่าวสารเจตนาร้าย (Mal – Information) และการแบ่งแยกด้วย “เจตนา” ในการกระจายข่าว

ข้อมูลข่าวสารคลาดความจริง ได้แก่ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ผู้กระจายข้อมูลเข้าใจว่ามันเป็นจริงเช่นนั้น คือข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้เกิดจากเจตนาร้ายแต่มาจากความผิดพลาดของผู้กระจายข่าวต่อที่อาจจะเกิดจากการสรุปไปเองแบบผิดบริบท หรือการเชื่อมโยงมั่วซั่ว ในหลายครั้งพบว่าผู้กระจายข้อมูลข่าวสารคลาดความจริงนี้มีเจตนาดีด้วยซ้ำ เช่น เจตนาจะช่วยเหลือหรือแจ้งเตือน เช่น การเอารูปภัยพิบัติจากต่างประเทศมาใส่ข้อความว่านี่คือภาวะน้ำท่วมในจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ถ้าไม่ได้มาจากเจตนาหวังผลร้ายประการอื่น พวกนี้ถือเป็นข้อมูลคลาดความจริง

ข้อมูลข่าวสารผิดความจริง อันนี้น่าจะใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า “ข่าวปลอม” แบบที่ควรจะเป็นมากที่สุด กล่าวคือ เป็นข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเท็จ และผู้กระจายข้อมูลนั้นก็รู้อยู่ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารเท็จ ได้แก่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกทำปลอมขึ้นโดยมีเจตนา เช่นการสรุปแบบผิดบริบท (มีข้อเท็จจริงอยู่บ้างแต่เอาไปเพิ่มเติมจนไม่ตรงกับความจริงที่ควรจะเป็น) จนถึงการสร้างข่าวปลอมขึ้นมาล้วนๆ โดยไม่มีฐานของข่าวจริงอยู่เลย หรือการปลอมแปลงแหล่งข่าว การอ้างแหล่งข่าวที่ไม่มีอยู่จริง เจตนาในการสร้างข่าวปลอมอาจจะเป็นไปได้หลากหลาย เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแบบง่ายๆ หรือเป็นกรณีที่มุ่งเน้นผลในทางการเมือง

Advertisement

ข้อมูลข่าวสารเจตนาร้าย ข้อมูลข่าวสารพวกนี้อาจจะเป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องจริงก็ได้ แต่ถูกปล่อยไปด้วยเจตนาร้าย เช่นเพื่อให้ข้อมูลลับบางอย่างหลุดลอดออกไปสู่สาธารณะเพื่อก่อความเสียหายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อมุ่งหมายล่วงละเมิดหรือรังแกทำร้าย และเพื่อสร้างความเกลียดชัง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของข้อมูลข่าวสารเจตนาร้ายได้แก่ การปล่อยภาพหลุดหรือคลิปส่วนตัวของบุคคล ซึ่งแม้เป็นบุคคลนั้นจริง แต่ก็เป็นเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้เขาได้รับความอับอาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลข่าวสารอีกประเภท ที่ถ้าพิจารณาตายตัวจากเกณฑ์ความจริงหรือความเท็จแล้ว มันอาจจะถือเป็นข้อมูลข่าวสารเท็จ แต่จะบอกว่ามันเป็นข่าวปลอมก็อาจจะไม่เต็มปาก ก็ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารประเภทเรื่องแต่งเพื่อเสียดสีหรือล้อเลียน ในระดับหนึ่งเรื่องล้อเลียนเสียดสีนี้อาจยอมรับได้ว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรูปแบบหนึ่ง นั่นเพราะข้อมูลข่าวสารพวกนั้นคนส่วนใหญ่ดูแล้วก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริงแน่ๆ ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารหรือสื่อประเภทล้อเลียนนี้จึงไม่ได้ทำงานของมันในแบบของข่าวเท็จ คนที่สื่อหรือสร้างนั้นไม่ได้มีเจตนาให้ใครเชื่อว่าจริง ส่วนคนอ่านหรือคนเสพนั้นก็รู้อยู่ว่านั่นก็เป็นเรื่องไม่จริง ดังนั้น มันจึงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทของข้อมูลข่าวสารไม่ปกติข้างต้น

แต่ข้อพิจารณายากของเรื่องล้อเลียนเสียดสีก็อยู่ตรงที่ว่า เราไม่อาจคาดหมายได้เลยว่า ผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารนั้นไปจะแยกได้ชัดเจนจริงๆ หรือไม่ว่านั้นคือเรื่องเท็จที่มีเจตนาล้อเลียน และมีอารมณ์ขันพอที่จะเฉลียวใจได้หรือไม่ว่านี่เป็นเรื่องเท็จที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาเช่นนั้น เพราะเรื่องล้อเลียนบางเรื่องนั้นอาศัยความรับรู้เฉพาะบางอย่างที่อาจจะเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่นเกม หรือภาพยนตร์ ซึ่งถ้าใครไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนั้น จะ “ไม่เข้าใจ” หรือ “ไม่เก็ต” ว่านี่เป็นเรื่องล้อเลียน

สำหรับประเทศไทย เราจะได้พบข้อมูลข่าวสารคลาดความจริงนี้ได้ง่ายๆ จากกลุ่มไลน์ครอบครัวใหญ่ หรือหลักสูตรอบรมของทางราชการ “ระวัง ! กินช็อกโกแลตกับส้มโอ อาจจะทำให้คุณเป็นตากุ้งยิง” อะไรประเภทนี้ หรือหลายครั้งก็เดาเจตนาไม่ออก คือการตีความกฎหมายแบบผิดๆ ไปใหญ่โต เช่นครั้งหนึ่งที่เคยมีการกระจายข่าวไปว่า รัฐบาลออกกฎหมายใหม่ เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกถือเป็นความผิด ซึ่งความจริงแล้ว เป็นการตีความแบบขยายความกฎหมายซึ่งไม่อาจเป็นไปได้

ส่วนข้อมูลข่าวสารผิดความจริงในประเด็นทางการเมืองนั้นก็เริ่มมีปรากฏ และ “เป้าหมาย” ที่โดนนั้นมีได้ทุกฝั่งฝ่าย ส่วนหนึ่งก็พบว่าผู้สร้างข่าวนั้นไม่ได้มีเจตนาเพื่อที่จะใช้เป็นอาวุธหรือหาประโยชน์ในทางการเมืองแบบตรงไปตรงมาทีเดียวนัก แต่จะเป็นไปเพื่อมุ่งผลประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองมากกว่า เราจะพบได้จากเว็บและเพจประเภทคลิกเบตทั้งหลาย ซึ่งช่วงหนึ่งนิยมสร้างข่าวปลอมว่าท่านผู้นำในรัฐบาลออกมาพูดนั่นประกาศนี่ที่คนอ่านแล้วจะบังเกิดโทสะ โดยที่คนเผลอไปอ่านก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม เพราะหลายครั้งท่านผู้นำของเราก็พูดจากไม่น่าฟังเสียยิ่งกว่าที่เขาแต่งเป็นข่าวปลอมอีก

ส่วนเรื่องข้อมูลข่าวสารเจตนาร้าย ที่เป็นการเอาความจริงบ้างเท็จบ้าง มาใช้เพื่อเจตนากลั่นแกล้งหรือล่วงละเมิดนั้นก็เป็นอีกเครื่องมือที่มีการใช้กัน เพราะมันเป็นอาวุธที่ค่อนข้างได้ผล โดยเฉพาะการโจมตีกันด้วยเรื่องเชิงความสัมพันธ์ทางเพศในสังคมที่อ่อนไหวในศีลธรรมแบบมือถือสากปากถือศีล

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เริ่มปรากฏบ่อย คือความพยายามใช้ป้ายคำว่า “ข่าวปลอม” ไปแปะเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่อาจจะเป็นโทษหรือก่อปัญหาให้ฝ่ายตน

สิ่งแรกที่นิยมถูกปักป้ายว่า “ข่าวปลอม” นั้น ได้แก่ความคิดเห็น วิเคราะห์ หรือการให้คุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงอัตวิสัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีวันจะเป็นข่าวปลอมหรือไม่อาจเป็นไปได้แม้แต่จะเป็นข่าวจริง เพราะการจะชี้วัดว่าสิ่งใดจริงหรือปลอมนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นภาวะวิสัยหรือข้อเท็จจริงซึ่งสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน หากข้อมูลข่าวสารใดมีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน นั่นย่อมถือเป็นความเท็จ แต่สำหรับความคิดเห็นหรือการวิเคราะห์คาดการณ์แล้ว มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจชี้จริงชี้เท็จได้

ถ้านาย ก ออกมาเขียนวิจารณ์ว่า อาหารร้าน A รสชาติเลวร้ายจนน่าสงสัยว่าทำไมกล้าทำของแบบนี้ออกมาขาย พวกนี้ล้วนเป็นความคิดเห็น แต่ละคนที่กินย่อมรับรู้ถึงรสชาติดีเลวของอาหารแตกต่างกัน แม้จะมีรสนิยมบางอย่างที่คนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกตรงกันบ้าง (เช่นคนส่วนใหญ่เห็นว่าเนื้อสัตว์ปรุงสุกแล้วอร่อยกว่าการกินผักดิบๆ) แต่มันก็ยังเป็นรสนิยมอันเป็นเอกสิทธิ์ที่ไม่อาจชี้ถูกผิดได้ง่ายนัก

แต่ถ้าเรื่องเปลี่ยนเป็นว่า นาย ก นำเสนอข้อความว่า อาหารร้าน A นั้นสกปรกมาก มีคนรับประทานไปแล้วอาหารเป็นพิษต้องเข้าโรงพยาบาลมาแล้วหลายราย ในส่วนหลังนี้เองเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง หากพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีปรากฏบันทึกว่า ใครมากินอาหารที่ร้าน A แล้วต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาหารเป็นพิษ นาย ก ก็ควรต้องรับผิดตามกฎหมายกันไปตามกบิลเมือง

อีกเรื่องที่เริ่มจะได้เห็นมากขึ้นในยุทธวิธีการปักป้ายข่าวปลอม คือการจับดึงเอาข้อคลาดเคลื่อนอันไม่เป็นสาระสำคัญในข้อมูลข่าวสารบางเรื่องที่ประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือ มาขยายออกเพื่อจะตีตราว่าข้อมูลข่าวสารนั้นปลอมทั้งหมดทั้งชิ้น เช่น หากมีการนำเสนอว่า กระทรวง A นั้นใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ไปนับพันล้านบาท ชวนให้สังคมตั้งคำถาม ต่อมากระทรวง A ก็ออกมาให้ข่าวว่า อันที่จริงแล้ว งบประชาสัมพันธ์นั้นไม่ถึงพันล้านบาท เพราะในจำนวนนั้นมีงบค่าจ้างบุคลากรอยู่ด้วยราวแสนกว่าบาท ดังนั้น ข่าวเรื่องใช้งบเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงล้านบาทนั้นจึงเป็น “ข่าวปลอม” ขอสังคมอย่าได้เชื่อ

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่สังคมตั้งคำถามคือการนำงบประมาณไปใช้โดยไม่เป็นประโยชน์ แต่จะถึงพันล้านหรือไม่ อาจจะเป็นเพียงข้อคลาดเคลื่อนหรือประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น

เราจะได้เจอการ “ชี้เท็จ” ด้วยการจับเอาข้อบกพร่องเล็กน้อยของภาพใหญ่อันไม่เป็นสาระสำคัญนี้ มาทำลาย “ความจริง” ที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น หากคนรักของคุณพยายามสอบสวนว่า ในวันที่อ้างนั้น คุณเดินทางไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่จริงหรือไม่ หากเขาหรือเธอมีธงอยู่แล้วที่จะหาเรื่องยุติสถานะความสัมพันธ์ของคุณ ผู้สอบสวนก็อาจจะสอบถามคุณซอกแซกในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ค่ารถแดงจากตรงนี้ตรงนั้นกี่บาท ขับรถไปได้แวะปั๊มตรงไหนบ้าง หากปรากฏว่าคุณตอบผิดไปสักหน่อย เช่นบอกว่าค่ารถแดง 25 บาท แต่จริงๆ เป็น 27 บาท หรือปั๊มที่คุณแวะเข้าห้องน้ำเป็นปั๊ม ปตท. ไม่ใช่บางจาก เขาหรือเธอก็จะหาว่าคุณโกหก คุณไม่ได้ไปเชียงใหม่จริงๆ หรอก และลงโทษคุณ ต่อให้มีคนเป็นร้อยนั่งฟังคุณบรรยายที่นั่นจริงๆ เขาก็เอาป้าย “โกหก” มาปักใส่หลังคุณเอาได้

ที่เล่ามาข้างต้น ถ้ามันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ไม่เกี่ยวกับใครไหนอื่น ก็คงเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่ แต่มันคงจะตลกร้ายขึ้นไปอีก หากมันจะเป็น “เรื่องอื่น” ในระดับใหญ่กว่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image