คลองไทย เมกะโปรเจ็กต์เป็นความหวัง นำไทยสู่ทางออกจากภาวะตีบตัน : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

 

ประเทศไทยฝากความหวังไว้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ในการผลักดันประเทศไทย สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ปัจจุบันการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ทำเต็มที่แล้วหรือยัง? สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้แค่ไหน? ในขณะที่เครื่องจักรเศรษฐกิจเดิมกำลังอ่อนแรงลงทุกวัน ขุนพลเศรษฐกิจไทยมองเรื่องนี้อย่างไร และได้ทำเต็มที่เพียงใด โครงสร้างพื้นฐานใน EEC หลายโครงการมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หรือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน

ด้านการท่องเที่ยวที่ไทยตั้งความหวังแต่นับวันสัดส่วนของชาวต่างชาติที่เข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจีน ซึ่งปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวและเงินหยวนที่อ่อนค่า รวมถึงนักท่องเที่ยวจากอาเซียน มาเลเซีย ยุโรป ก็อัตราลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนถึงการท่องเที่ยวของเรานั้นไม่ได้ดีอย่างที่คาดและมีส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องยนต์ตัวนี้เริ่มไม่ทำงาน

ส่วนภาคการเกษตรนั้น จะพบว่ารายได้ภาคเกษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ราคาสินค้าเกษตรควรมีราคาสูง เพื่อเพิ่มรายได้ภาคเกษตรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะถือเป็นน้ำมันบนดินของประเทศไทย แนวทางการแก้ปัญหาราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำที่ยั่งยืนมี อาทิ วิธีการประกันราคาสินค้าเกษตรและประกันราคาต้นทุนสินค้า แต่ต้องมีการระบายสินค้าตามกลไกตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรสูง ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ

Advertisement

แต่การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีนำเงินภาษีจากประชาชนมาประกันราคาผลผลิต เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นวิธีการขายผ้าเอาหน้ารอดและคาดว่าจะไม่ยั่งยืน เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลกำลังสร้างนิสัยให้คนไทยไม่ต้องคิดหาช่องทางเพื่อสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจใหม่ แต่คนไทยกลับนั่งรอ นอนรอเงินแจกจากรัฐบาล แต่แค่เปลี่ยนจากประชานิยมเป็นประชารัฐ

การลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนก็ส่อไปในทางที่ไม่แน่นอนเช่นการลงทุนด้าน โครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างไร โดยเฉพาะในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งรัฐบาลใช้มาตรการขีดเส้นตายกำหนดวันลงนาม ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนใน EEC ต้องรอดูความชัดเจน เนื่องจากมองว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือตัวชี้วัด EEC จะเกิดหรือไม่

นอกจากนี้นักลงทุนต่างประเทศมีความวิตกกังวลและหวั่นเกรงว่าเข้ามาลงทุน EEC จะโรยด้วยกลีบกุหลาบตามที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้หรือไม่ เนื่องจากมีกรณีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นตัวอย่าง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภาคเอกชนที่เป็นนักลงทุนต้องรับความเสี่ยงในหลายประเด็น ที่อาจทำให้โครงการสะดุดหรือล้มเหลวเหมือนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ผ่านมา
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหรือการลงทุนภาครัฐนั้นดูไม่กระเตื้องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐยังลงทุนที่ไม่มากพอที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ การใช้จ่ายหรือการลงทุนภาครัฐคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ไปไหน ทั้งนี้ไทยควรนำเอาทุนสำรองส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อย่างท้าทายมากขึ้น สร้างอนาคตให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง

โดยปีล่าสุดประเทศไทยมีทุนสำรองส่วนเกินที่จะนำไปใช้ได้ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6.2 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณของรัฐบาลไทย 3 ปี โดยที่ทุนสำรองยังมีเหลืออยู่ 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับมูลค่านำเข้า 4 เดือน (ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของระดับทุนสำรองที่เหมาะสม) โดยที่ทุนสำรองน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

แต่เมื่อไทยเก็บเงินไว้ไม่อยากใช้ ไม่เอามาใช้ทำประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ และช่วยเหลือ SMEs ก็ทำให้เครื่องจักรตัวที่ชื่อว่า ส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยไม่ขยับเพิ่มขึ้น

ด้านการส่งออกนั้นเราติดลบมาอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มแย่ลง เช่น ในเดือนมิถุนายน 2562 ยังหดตัวต่อเนื่องจากการค้าโลกและอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้การส่งออกไทยในครึ่งปีแรกหดตัวที่ร้อยละ 2.9 อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกของไทยก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหมือนเดิม ฉะนั้น ถึงเวลาที่ไทยต้องมองหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ ตรงข้ามต่างประเทศต่างพยายามเฟ้นหาเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ประเทศไทยยังอยู่ในวังวนเดิม เช่น โครงการใน EEC รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังมีปัญหาว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนก่อสร้างได้หรือไม่ เพราะในอดีตรัฐไม่เคยทำ ไม่เคยส่งมอบตรงเวลา แถมผู้หลักผู้ใหญ่ยังออกมาบอกว่า ปกติก็ไม่เคยส่งมอบตรงเวลาก็ทำงานได้ อย่างนี้ต่างประเทศคงไม่มั่นใจมาช่วยสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่มาให้ไทย เพราะไทยเองก็ยังไม่กล้ารับปากว่า จะทำหน้าที่ของตัวเองได้หรือไม่

ในขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิมกำลังอ่อนแรงลงไปทุกวัน อย่างนี้ลูกหลานไทยจะเป็นอย่างไรถ้าผู้ผลักดันนโยบายไม่ทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด การที่รัฐบาลกำลังผลักดัน EEC ให้เข้าสู่เป้าหมาย ตรงข้ามเราก็ต้องแลกด้วย ทรัพยากรของไทยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ วัตถุดิบ แรงงานไทย และการเอื้ออาทรทางภาษี ถูกชาวต่างชาติเข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์กันทั้งนั้น

โครงการใหญ่อย่าง EEC หรือชื่อว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก็เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดให้นักลงทุนชาวต่างชาติเป็นหลัก เพราะคนไทยความสามารถในการผลิตด้านอุตสาหกรรมสำคัญๆ สู้ใครเขาไม่ได้ การส่งเสริมการลงทุน ก็คือการส่งเสริมให้เขามาลงทุนโดยประเทศเราจัดทรัพยากรของเรา พร้อมแถมด้วยการงดหรือลดเก็บภาษีที่ควรเก็บเข้าประเทศให้เขาอย่างมากเป็นพิเศษ ลดหย่อนสถานะการเป็นคนต่างด้าวของนักลงทุนและชาวต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานให้น้อยลงมาก จนเขาเหล่านั้นมีสภาพเป็นคนไทยเกือบเต็มตัว

นี่คือแนวทางการพัฒนาชาติของรัฐบาลไทย ที่มาจากทั้งการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งก็พอกัน สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ส่งออกจากประเทศไทย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ แผงวงจร (ประมาณ 14%) ยานพาหนะ (ประมาณ 13%) เครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ (ประมาณ 7.5%) และผลิตภัณฑ์อาหาร (ประมาณ 7.5%) เป็นต้น

สินค้าอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศไทยส่งออกไปในรูปเป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ (Supply Chain) ไปยังต่างประเทศเพื่อให้เขานำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะการส่งไป จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งในตอนนี้จีนกับสหรัฐมีสงครามการค้ากันอย่างดุเดือด การส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบโดยตรง

ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีรูปแบบการส่งออกสินค้าแบบนี้ต่างก็ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน เราก็ยิ่งได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ด้วย ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปตามๆ กัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านี้ก็แผ่กระจายไปยิ่งส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกมีอำนาจซื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ภาวะถดถอยของการส่งออกทั่วโลกจึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น และอาจจะลากยาวต่อไปอีกเป็นปี ที่เป็นอยู่นี้ยังไม่ใช่จุดใกล้จะสิ้นสุด แต่เป็นจุดที่จะยิ่งเพิ่มภาวะถดถอยทั้งการส่งออก และการขยายตัวเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้แพร่ขยายออกไป และจะเพิ่มแรงกระทบมากยิ่งขึ้น

ในเมื่อทั่วโลกต่างก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยกันเช่นนี้ ผู้นำทุกชาติที่มีสัญชาตญาณของการทำงานเพื่อประชาชนและชาติตน จะต้องรีบหาวิธี หามาตรการ และหานโยบายที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้นั้น จำเป็นที่ผู้นำประเทศและบรรดาเสนาบดีของท่านจะต้องคิดแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนออกมา จะต้องมองปัจจุบันให้เป็นและแตกฉาน ไม่ใช่ไปคิดถึงแต่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตอนนี้มีแต่ตัวเลข การลงทุนจึงจะเกิดเป็นรูปธรรม ก็จะใช้เวลาอีกหลายปี เมื่อมาดูตัวเลขคาดการณ์ GDP

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อต้นเดือนตุลาคม ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.7-3.0% จากเดิม 2.9-3.3% โดยภาคเอกชนมองสาเหตุเรื่องความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อ กรณีเบร็กซิทของอังกฤษ และทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกปีนี้อยู่ที่ ลบ 2.0% ถึง 0.0% จากเดิม ลบ 1.0% ถึง 1.0% แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายล้าน อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แต่คาดว่าแรงบวกของมาตรการในประเทศ เทียบกับตัวเลขส่งออกที่หดหายไป จะไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมดและประเมิน ชิมช้อปใช้เฟสแรกจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% ต่ำกว่าที่ภาครัฐมองไว้ว่า จะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า ภาคเอกชนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ทันที เสนอให้เว้นระยะและประเมินความคุ้มค่าของมาตรการเฟสแรกก่อน ว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด ซึ่งรัฐควรต้องระมัดระวังการใช้มาตรการติดต่อกัน

อีกทั้งปลายปีประชาชนมีการใช้จ่าย และผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นอยู่แล้ว งบประมาณที่จะใช้และมาตรการที่รัฐนำมาใช้ควรใช้เฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะฝืดเคืองจริงๆ เสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการส่งออกของไทยยังไม่สดใส ตลอด 8 เดือนแรกปีนี้ ติดลบสะสมถึง 2.2% จากการได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ลุกลามไปถึงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาการเมืองโลกอย่างตะวันออกกลาง ได้กระทบต่อการส่งออกเรื่อยมาซึ่งปัจจัยความเสี่ยงจากการค้ายืดเยื้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นปัจจัยกดดันส่งออกที่เหลือของปีนี้

แม้กระทรวงพาณิชย์ยังเสียงแข็งคงเป้าส่งออกทั้งปีไว้ 3% ไม่ฟังเสียงภาคเอกชนต่างออกมาลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ติดลบทั้งสิ้น ตั้งแต่ ลบ 1% ถึง ลบ 2% หากเป็นดังที่เอกชนคาดไว้ถือว่าส่งออกไทยกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 4 ปี นับจากปี 2558 ติดลบ 5.8% ก่อนกลับมาเป็นบวกถึงปี 2561 ขยายตัว 6.9%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนเร่งขยายตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และผลักดันการค้าชายแดน เพราะหากดันส่งออกได้เฉลี่ยต่อเดือน 21,000 เหรียญสหรัฐ ตัวเลขส่งออกทั้งปีจะเป็น 0% หากจะขยายตัว 3% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอมรับว่าคงทำได้ยาก ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลบหนักถึง 4% และมีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และ สคช. มีมุมมองต่อตัวเลขเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากของเอกชน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรับลดคาดการณ์ จีดีพี ในปีนี้ เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% และปรับลดจีดีพี ในปี 2563 เหลือ 3.3% จากคาดการณ์เดิม 3.7% ส่วนการส่งออกจะขยายตัว 1.7% จากคาดการณ์เดิม 4.3% จับตาต่อว่า ปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นรอบของการปรับจีดีพีของกระทรวงการคลัง จากที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า เศรษฐกิจจะโตขึ้น 3% ส่งออก -0.9% มีแนวโน้มที่จะปรับลด ส่วน สคช.ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อเดือนสิงหาคมว่า จีดีพีจะโต 3% และส่งออกติดลบ 1.2% โดยรอบของ สคช.ประเมินภาวะเศรษฐกิจและประกาศตัวเลขคาดการณ์ พร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยคาดว่าผลของมาตรการกระตุ้นที่ออกมาคงยังไม่แรงพอที่จะสู้กับการส่งออกลดลง

จากคาดการณ์ของรัฐและเอกชนทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงไม่สามารถยืนได้ในระดับ 3% มีทางเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลควรทำคือ หาช่องทางใหม่ในการหางาน หาเงินจากการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ นั่นคือ โครงการคลองไทย

คลองไทย คือ โครงการที่รัฐบาลน่าจะนำมารื้อฟื้น ผลักดัน ควบคู่ไปกับโครงการ EEC สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ คลองไทยต่างกับ EEC คือ คลองไทยเป็นการลงทุนด้านการขนส่งทางทะเล ลงทุนเกี่ยวกับ Maritime, เกี่ยวกับ Shipping, เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า, กักตุนสินค้า และเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินและบริการ การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ SEC ควรอยู่ตอนกลางของคาบสมุทรภาคใต้ คือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา

คลองไทยขับเคลื่อนโดยสมาคมคลองไทยมาร่วม 2-3 ปี ในพื้นที่ภาคใต้ คลองไทยเข้าสู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งท่านนายกฯได้มีบัญชาสั่งการให้สภาพัฒน์และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว คลองไทยผ่านการแจ้งข่าวและให้ข้อมูลกับพรรคการเมืองทุกพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และอีกหลายพรรคการเมือง คลองไทยเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยการยื่นญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยพรรคประชาชาติ และพรรคพลังชาติไทย ถึงเวลาที่รัฐบาลควรตัดสินใจผลักดัน สานต่อจากที่ท่าน นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จุดสตาร์ตไว้แล้ว เพื่อทำการศึกษาเชิงลึก (ไม่ใช่ขุด ตามการเรียกร้องของสมาคมคลองไทย)

ถึงเวลาที่รัฐบาต้องตัดสินใจผลักดันคลองไทย ร่วมกับสมาคมคลองไทย ร่วมกับประชาชนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศ ร่วมกับพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อหาช่องทางใหม่ในการหาเงิน หาแหล่งงานทำให้คนในชาติ ถึงเวลาที่รัฐบาลและพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อผลักดันโครงการคลองไทย เปลี่ยนวิธีคิดที่เอาเงินภาษีของประชาชนมา ขายผ้าเอาหน้ารอด ด้วยการประกันราคา ซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิมๆ ไม่มั่นคงและยั่งยืน

คลองไทยรอการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคการเมืองทุกพรรค พลังประชาชนคนใต้และคนไทยทั้งประเทศ คลองไทยคือ “เป้าหมายแห่งศตวรรษ” ของประเทศไทย คลองไทย คือ New Innovation ที่จะยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้พ้นจากความยากจน คลองไทย คือ ความฝันและความหวังอันยิ่งใหญ่ของคนไทย

คลองไทย เมกะโปรเจ็กต์ที่เป็นทั้งความฝันและความหวัง นำไทยสู่ทางออกจากภาวะตีบตันทางการค้า การส่งออก และการลงทุน

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ
กรรมการที่ปรึกษา โรงเรียนดาวนายร้อย
กรรมการยุทธศาสตร์ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image