เดินหน้าชน : อันดับไทยดีได้อีก : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน : อันดับไทยดีได้อีก : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เดินหน้าชน : อันดับไทยดีได้อีก : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เมื่อไม่นานมานี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่รายงาน “The Global Competitiveness Index 4.0 2019” ที่จัดอันดับเกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันของ 141 ประเทศทั่วโลก โดยวิเคราะห์จาก 103 ตัวชี้วัด 12 ด้าน 4 มิติ คือ มิติสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มิติทรัพยากรมนุษย์ มิติตลาด และมิติระบบนิเวศของนวัตกรรม

ปรากฏว่าปีนี้ ไทยมีดัชนีศักยภาพการแข่งขันที่ 68.1 คะแนน เพิ่มจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 67.5 คะแนน แต่ทว่า อันดับลดลงมาอยู่ที่ 40 ของโลก จากปีก่อนที่อยู่อันดับ 38

ลองส่องคะแนนของไทยผ่านตัวชี้วัดใน 4 มิติ

Advertisement

มิติที่ 1…สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไทยได้ 273 คะแนน จาก 400 คะแนน โดยด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงาน ไทยได้ลดลงจาก 55.1 คะแนน เหลือ 54.8 คะแนน ทำให้อันดับด้านนี้ลดลงจากที่ 60 ไปอยู่ที่ 67

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไทยก็ลดลงจาก 69.7 คะแนน เหลือ 67.8 คะแนน อันดับหล่นจากที่ 60 อยู่ที่ 71 แต่ประเทศไทยทำคะแนนได้ดีในเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้า และการเชื่อมต่อของสนามบิน

มิติที่ 2…ทรัพยากรมนุษย์ ไทยได้ 151 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยตัวชี้วัดด้านสาธารณสุข ดีขึ้นจาก 87.3 คะแนน เป็น 88.9 อันดับพุ่งจากที่ 42 มาอยู่ที่อันดับ 38 ส่วนด้านทักษะ ลดลงจาก 63 คะแนน มาอยู่ที่ 62.3 คะแนน อันดับลงจากที่ 66 ไปอยู่ที่ 73

Advertisement

มิติที่ 3…ตลาด ไทยได้ 277 คะแนน จาก 400 คะแนน โดยด้านการแข่งขันภายในประเทศ ไทยได้คะแนนใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือจาก 53.4 คะแนน เป็น 53.5 คะแนน แต่อันดับพุ่งพรวดจากที่ 92 มาอยู่ที่ 84 ส่วนด้านขนาดของตลาด คะแนนสูงขึ้นจาก 74.9 คะแนน เป็น 75.5 คะแนน แต่อันดับเท่าเดิมคือที่ 18

ด้านระบบการเงิน ไทยได้สูงขึ้น จาก 84.2 คะแนน เป็น 85.1 คะแนน แต่อันดับตกจากที่ 14 ไปเป็นที่ 16 ด้านตลาดแรงงาน คะแนนใกล้เคียงปีที่แล้วจาก 63.3 คะแนน เป็น 63.4 คะแนน แต่อันดับลดลงจากที่ 44 ไปอยู่ที่ 46

มิติที่ 4…ระบบนิเวศของนวัตกรรม ไทยได้ 116 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เพิ่มจาก 71 คะแนน เป็น 72 คะแนน อันดับสูงขึ้นจากที่ 23 เป็นที่ 21 ส่วนด้านความสามารถทางนวัตกรรม ก็เพิ่มขึ้น จาก 42.1 คะแนน เป็น 43.9 คะแนน อันดับสูงขึ้นจากที่ 51 มาอยู่ที่ 50

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากรายงานดังกล่าว ไทยมีจุดเด่น 3 ด้าน คือ 1.เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค 2.ระบบการเงิน และ 3.สาธารณสุข โดยคะแนนอยู่ระดับสูงที่ 80 คะแนนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับมิติที่ 1 เรื่องสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยรวม แม้คะแนนของไทยจะลดลง แต่เมื่อลงไปดูรายละเอียดตัวชี้วัด จะพบว่าเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้า ไทยทำคะแนนได้เพิ่มขึ้น โดยอยู่อันดับ 2 ของโลก ร่วมกับอีก 67 ประเทศ

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านคุณภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้า ไทยก็ทำได้ถึง 98.1 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ทำได้ 97.7 คะแนน ทำให้อันดับของไทยขยับขึ้นจากที่ 32 เป็นอยู่อันดับที่ 31

เป็นตัวชี้วัด ที่แสดงถึงศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของไทย ว่ามีประสิทธิภาพ ต้องปรบมือให้ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ช่วยฉุดคะแนนรวมของไทยเพิ่มขึ้น

รายงานดังกล่าว นอกจากจะเป็นข้อมูลให้นักลงทุนได้เห็นศักยภาพในแต่ละด้านของประเทศต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาในการเข้าไปลงทุนแล้ว ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นกระจกสะท้อนให้แต่ละประเทศนำไปปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ด้านไหนที่อ่อนด้อย คะแนนต่ำก็ต้องหามาตรการยกระดับให้ดีขึ้น แต่ใช่ว่าด้านไหนที่ดีแล้วจะปล่อยไปตามมีตามเกิด

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพความสามารถการแข่งขันของประเทศ แม้คะแนนจะดีขึ้น ก็ควรส่งเสริมและพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปอีก

เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้ามากขึ้น ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน

ผลที่ตามมาคือจะฉุดให้คะแนนโดยรวมของประเทศเพิ่ม และจะช่วยขยับอันดับของไทยสูงขึ้นได้อีก

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image