ไทยพบพม่า : เจ้าโสบไซซะนะ กับอรุณรุ่งแห่งการค้าเฮโรอีน แห่งสามเหลี่ยมทองคำ : โดยลลิตา หาญวงษ์

วันนี้ขอพาผู้อ่านออกจากพม่ามาเยือนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อดีตพื้นที่ปลูกฝิ่นและแหล่งผลิตเฮโรอีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ผู้อ่านคงคุ้นเคยเป็นอย่างดีว่าดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ หรือ Golden Triangle นี้คือเขตเทือกเขากินพื้นที่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ เขตรัฐฉานในพม่า เขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และแขวงบ่อแก้วในลาว มีแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกไหลผ่าน การปลูกฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำบูมขึ้นในทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าการค้ายาเสพติดอยู่คู่กับสงครามเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะยังมีอยู่ต่อไปแม้นเมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี 1975 สามเหลี่ยมทองคำเข้ามาแทนที่แหล่งปลูกฝิ่นในตุรกี และโรงงานสังเคราะห์เฮโรอีนที่มาร์กเซย ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผลิตเพื่อป้อนตลาดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอเมริกาใต้ มาช้านาน

การขึ้นมามีบทบาทของสามเหลี่ยมทองคำเป็นผลโดยตรงจากสงครามเย็นและการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาเพื่อทำสงครามในอินโดจีน และการติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีนในกลุ่มทหารจีไอในเวียดนาม ที่มีจำนวนนับหมื่นคน ก่อให้เกิดอุปสงค์ของเฮโรอีนคุณภาพดี ในช่วงแรก การผลิตเฮโรอีนในสามเหลี่ยมทองคำยังทำแบบ “บ้านๆ” คือปลูกและเก็บเกี่ยวดอกฝิ่น แล้วนำมาแปรรูปในโรงงานผลิตยาเสพติด เพื่อผลิตเป็นเฮโรอีนและมอร์ฟีน แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในโรงงานผลิตยาเสพติดในแถบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลาว ยังจำกัด ทำให้เฮโรอีนที่ผลิตได้เป็นเพียงเฮโรอีนเบอร์ 3 ที่มีปริมาณเฮโรอีนบริสุทธิ์อยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ความต้องการของทหารอเมริกัน และตลาดในยุโรปกับอเมริกาคือเฮโรอีนเบอร์ 4 ที่มีความเข้มข้นของเฮโรอีนสูงถึงร้อยละ 85-90 แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์เคมีจากฮ่องกงเดินทางถึงสามเหลี่ยมทองคำ อุตสาหกรรมยาเสพติดในพื้นที่แถบนี้จึงเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด สามเหลี่ยมทองคำกลายเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนเกรดดีที่สุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ระหว่างทศวรรษ 1960-1970 สามเหลี่ยมทองคำผลิตฝิ่นดิบได้ราว 1,000 ตันต่อไป คิดเป็นปริมาณฝิ่นถึงร้อยละ 70 ของทั้งโลก ฝิ่นที่ผลิตได้ในช่วงแรกถูกส่งไปสกัดที่ฮ่องกงก่อน ก่อนจะถูกลำเลียงไปทั่วโลก กระแสการปลูกฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำยังเกิดขึ้นจากราคาฝิ่นในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเริ่มตั้งแต่ปี 1968 ก่อนหน้านี้ฝิ่นดิบ 1 กิโลกรัมมีราคา 24 เหรียญ ก่อนจะถีบตัวเป็น 45 เหรียญในอีกไม่กี่ปีต่อมา

อุตสาหกรรมการปลูกฝิ่นและผลิตเฮโรอีนในเขตสามเหลี่ยมทองคำมีมาตลอดทศวรรษ 1960 แต่ประชาคมโลกก็ยังไม่ค่อยรู้จักพื้นที่นี้ในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกเฮโรอีนที่สำคัญที่สุดในโลก คนส่วนใหญ่ยังมองว่ายาเสพติดเป็นเพียงปัญหาทางสังคม เป็นปัญหาของคนขายและคนซื้อเสพ แต่ในความเป็นจริง ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่น่าจะสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดยุคสงครามเย็น เพราะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด

Advertisement

และหากใครเคยดูภาพยนตร์สายนักเลง-มาเฟียคุมบ่อน ก็คงคุ้นเคยกับภาพยนตร์ของผู้กำกับมากความสามารถ ริดลี่ สก๊อต (Ridley Scott) เรื่อง American Gangster ที่กล่าวถึงแฟรงค์ ลูคัส (Frank Lucas) พ่อค้ายาที่ขนเฮโรอีนปริมาณมหาศาลจากเวียดนามเข้าไปยังสหรัฐ โดยใช้เครื่องบินของกองทัพสหรัฐที่เข้าไปปฏิบัติการในเวียดนาม

เรื่องจริงยิ่งกว่านิยายของพ่อค้ายาเสพติดที่เห็นช่องทางระหว่างสงครามยังมีอีกหลายกรณี แต่กรณีหนึ่งที่น่าสนใจ และไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนักเป็นเรื่องของเจ้าโสบไซซะนะ (Prince Sopsaisana) เจ้าสายราชวงศ์พวน (เชียงขวาง) อดีตรองประธานสภาแห่งชาติ (National Assembly) ของลาว และยังเป็นประธานเนติบัณฑิตยสภาลาว และประธานสมาคมสื่อของลาว และประธานสมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francaise) ในฤดูร้อนของปี 1971 เจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงแต่งตั้งให้เจ้าโสบไซเป็นเอกอัครราชทูตลาวประจำฝรั่งเศสคนใหม่ นับเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ เหมาะกับเจ้าโสบไซที่มีโปรไฟล์ดีไร้ที่ติ

เจ้าโสบไซเดินทางถึงสนามบินออร์ลีในปารีสในปลายเดือนเมษายน ท่านยืนยันว่าจะรอรับสัมภาระ และจะถือสัมภาระนับสิบใบไปที่รถเอง คณะจากลาวรอกระเป๋าอยู่นานจนผิดสังเกต เมื่อกระเป๋ามาถึง ทางสนามบินไม่ได้อธิบายให้เจ้าสบไซฟังแต่อย่างใดว่าเหตุใดเจ้าจึงได้กระเป๋าช้า…และมีกระเป๋าใบหนึ่งที่หายไป เจ้าหน้าที่สนามบินสัญญาว่าหากตามกระเป๋าที่หายไปได้เมื่อใด จะรีบให้รถนำไปส่งถึงสถานทูตลาว บนถนนเรมงต์ ปวงกาเร่ ในทันที รถของทางการฝรั่งเศสไปถึงสถานทูตลาวจริง แต่ไปเพื่อแจ้งข่าวให้ทางการลาวรับทราบว่าตำรวจฝรั่งเศสได้จับกุมเฮโรอีนน้ำหนักรวม 60 กิโลกรัมจากกระเป๋าเดินทางของเจ้าโสบไซซะนะ มูลค่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 13.5 ล้านเหรียญ เจ้าโสบไซไม่ยอมรับว่ากระเป๋านั้นเป็นของตน รัฐบาลฝรั่งเศสหารือกับทางการลาวเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ ใจหนึ่งไม่ต้องการให้เจ้าโสบไซพ้นผิด แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลาวไว้

Advertisement

สองเดือนต่อมา เจ้าโสบไซถูกส่งตัวกลับไปลาว และด้วยอิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐในลาวในขณะนั้น ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในลาว ท่ามกลางสงครามเวียดนามที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด เรื่องของเจ้าสบไซซะนะไม่เป็นที่กล่าวถึงกันนัก ทั้งในลาวและที่อื่น ๆ อัลเฟรด แมคคอย(Alfred McCoy) ผู้เขียนหนังสือคลาสสิก “การเมืองเรื่องเฮโรอีน : การสมรู้ร่วมคิดของซีไอเอในการค้ายาเสพติดโลก” (The Politics of Heroin: CIA Complicity in the Global Drug Trade) เป็นผู้รวบรวมบันทึกเกี่ยวกับเจ้าโสบไซไว้ การจับกุมยาเสพติดปริมาณมหาศาลได้จากสัมภาระของเจ้าโสบไซนั้นเป็นการจับยาเสพติดที่มาจากสามเหลี่ยมทองคำได้แบบ “คาหนังคาเขา” ได้เป็นครั้งแรก และทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่นี้เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึง และกรณีเจ้าโสบไซยังชี้ให้เห็นว่าการค้ายาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำไม่ได้เป็นเพียงเครือข่ายเล็กๆ ในหมู่ชนกลุ่มน้อย เช่น ม้งในลาว และฉานในพม่า แต่ยังเป็นการสมรู้ร่วมคิดของสหรัฐอเมริกากับบุคคลระดับสูงในรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และยังมีเชื้อพระวงศ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างในลาว กลายเป็นการเมืองสีเทาๆ ที่หลอกหลอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดยุคสงครามเย็น…และอาจจะยังหลอกหลอนอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image