ดุลยภาพดุลยพินิจ : หมอกควันพิษ มาอีกแล้ว : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ปีนี้หมอกควันพิษได้แผ่เข้าไปปกคลุมถึงในรัฐสภาไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาทำให้นายกรัฐมนตรีโกรธควันออกหูเลยทีเดียว เพราะฝ่ายค้านกล่าวหาว่าท่านนายกฯ ไม่สนใจแก้ปัญหาหมอกควันพิษ

ที่จริงหากย้อนไปดูข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ติดอันดับหนึ่งของโลกในฐานะเมืองที่มีค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดซึ่งมีค่า AQI อยู่ที่ 162 นอกจากนี้ ยังได้พบปริมาณฝุ่น PM 2.5 เริ่มเกินกว่ามาตรฐานในอีก 16 จังหวัดทั่วประเทศ ฝุ่นควันจึงไม่ใช่ปัญหาประจำถิ่นในจังหวัดรอบนอกอีกต่อไป เรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ทราบปัญหาเป็นอย่างดีและมีบัญชาให้เตรียมรับมือ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ หน่วยงานของรัฐยังคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการเตรียมรับมือแบบเผชิญเหตุเป็นรายปี แทนที่จะเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถึงแม้การแก้ที่ต้นเหตุจะใช้เวลา แต่ก็ควรต้องเริ่มทำแล้ว

ควันพิษอันตรายเพราะมีผลกระทบต่อเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาไปจนถึงผู้ใหญ่ และมีผลกระทบสูงสุดสำหรับกลุ่มที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยจะส่งผล
อย่างรุนแรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบการหายใจและปอด แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคหอบหืดจะส่งผลกระทบในระยะเวลาสั้น

ฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM 2.5 สามารถแทรกซึมเข้าไปในปอดและเส้นเลือดฝอยแล้วยังกระจายไปทั่วร่างได้ เมื่อฝุ่นจิ๋วเหล่านี้เข้าไปในร่างกายแล้วจะฝังตัวอยู่ในผนังเส้นเลือดทำให้เกิดการอักเสบ เส้นเลือดอุดตัน การศึกษาแบบระบาดวิทยามาตรฐาน ของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แจ้งผลการศึกษาที่เชียงใหม่ และพบว่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก.ต่อลบ.ม. ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2-8.9 เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกระแสเลือดหรือโลหิตเป็นพิษเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7-6.0 นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางที่ต้องเสียเวลาที่จะทำกิจกรรมประจำวัน ต้องไปหาหมอ ใช้ยาเพิ่มและมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงอีกมาก ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ที่เชียงใหม่พบผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิดกว่า 40,000 ราย โรคหัวใจและหลอดเลือดอีกเกือบ 30,000 รายและเป็นโรคผิวหนังและตาอักเสบรวมกันประมาณ 5,000 ราย แล้วยังส่งผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว การคมนาคมทางอากาศที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินและเครื่องบินล่าช้าในช่วงวิกฤต ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมารุนแรงจนกระทั่งชาวเชียงใหม่ในเมืองเห็นว่า ไม่ควรยอมจำนนและตกเป็นเหยื่อควันพิษอีกต่อไปเพราะได้ทนมากว่า 10 ปีแล้ว

Advertisement

World Economic Forum ให้สมญานามมลพิษทางอากาศว่า ฆาตกรอันดับหนึ่ง ในขณะที่องค์กรอนามัยโลกเรียกฝุ่นพิษนี้ว่า ฆาตกรเงียบ เพราะเป็นปัจจัยที่คร่าชีวิตมนุษย์กว่า 7,000,000 คนต่อปี มากยิ่งกว่าภัยสงคราม อุบัติเหตุ หรือโรคร้ายแรงใดๆ

ในประเทศไทยมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และเกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคใต้ส่วนใหญ่เกิดจากหมอกควันพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเกิดจากการเผาในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นการเผาจากเกษตรกรรมหรือการเผาป่า ส่วนในกรุงเทพฯ สาเหตุใหญ่มาจากโรงงานและการคมนาคม แต่แทนที่เราจะแก้ปัญหาโดยปิดโรงงานที่สร้างมลพิษ แต่เราเลือกแก้ปัญหาด้วยการปิดโรงเรียนแทน

ในภาคเหนือของประเทศไทย ปัญหามลพิษทางอากาศจากควันพิษมีต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปีแล้ว ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี นักวิชาการที่ติดตามสาเหตุของฝุ่นควันในภาคเหนือมายาวนานได้สรุปปัญหาไว้อย่างชัดเจนและนำเสนอในเอกสารเรื่อง ประเทศไทยไร้หมอกควัน : เหลียวมองนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นผลงานภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันถูกกำหนดโดยภาครัฐจากหน่วยงานส่วนกลางทั้งหมด เป็นการสั่งการจากบนลงล่าง กำหนดแนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเป็นการทำงานที่เน้นระยะก่อนเกิดปัญหาเพียงไม่กี่เดือนในลักษณะเผชิญเหตุเฉพาะหน้า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการเผาป่าและทำการเกษตรโดยใช้วิธีเผายังไม่ชัดเจนนัก และยังมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภออยู่ตลอดเวลาทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังขาดการบูรณาการในแนวราบระหว่างหน่วยงานในระดับพื้นที่ เกิดปัญหาพื้นที่ซ้อนทับและพื้นที่สุญญากาศที่ไม่มีใครรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น พื้นที่เกษตรในเขตป่าที่หน่วยงานด้านเกษตรแจ้งว่าไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ส่วนหน่วยงานด้านป่าไม้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่เกษตรเหล่านี้เพราะไม่ใช่ภารกิจตามกฎหมายของตน ส่วนพื้นที่ตามแนวชายแดนและในประเทศไทยเพื่อนบ้านก็ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ การถอดบทเรียนก็เป็นการถอดบทเรียนระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเองและใช้ตัวชี้วัดแบบกว้าง เช่น ค่าฝุ่นละออง จุดความร้อน และค่าตัวชี้วัดด้านคุณภาพชีวิต แต่ขาดการประเมินประสิทธิภาพของวิธีการที่ใช้เพื่อนำไปปรับแผนสำหรับปีถัดไป ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ชนบทหรือกึ่งเมืองกึ่งชนบท แม้จะรู้จักภูมิประเทศ และมีภูมิปัญญาในการควบคุมไฟป่าก็ขาดโอกาสเสนอแนวทางแก้ไข กลายเป็นผู้รับคำสั่งอีกทั้งขาดแคลนงบประมาณและเครื่องมือที่จะไปจัดการปัญหา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานของรัฐจะเริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแทนที่จะไปแก้ที่ปลายเหตุเช่นการไปดูงานเพื่อซื้อเครื่องจักร ทำหอดูดฝุ่นควันให้กับเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องเป็นแบบองค์รวมโดยบูรณาการจัดการควันพิษไปพร้อมกับสิทธิในการใช้ที่ดินในเขตป่า การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินบนที่สูง รวมทั้งกำหนดการปรับเปลี่ยนการใช้ไฟในการเกษตรจากการเผาทั่วไปมาเป็นการเผาแบบควบคุม ในเบื้องต้น ควรหาพื้นที่นำร่องที่จะสามารถหาโมเดลทางเลือกอาชีพใหม่เพื่อลดการเผาในระยะยาว มีแผนความร่วมมือระหว่างเมืองกับชนบท เพื่อให้ชนบทสามารถสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าปลอดการเผาในเมือง

มิฉะนั้น การปล่อยให้คนไทยตาดำๆ สูดมลพิษทางอากาศก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทีเดียวนะคะ!! (ดาวน์โหลดรายงานของ ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี และบทความอื่นๆ ได้ที่ http://www.khonthai4-0.net/)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image