ลัทธิเอกภาคีนิยม : หลี่ เค่อเฉียง : โดย เฉลิมพล พลมุข

 

ความเป็นมนุษย์หรือคนที่มีชีวิตลมหายใจอยู่ในโลกนี้ทุกกลุ่มเผ่าชน เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ประเทศ สาธารณรัฐต่างๆ มิได้มีความเป็นอยู่ที่โดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ ที่ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยธรรมชาติแห่งความเป็นคนทั้งการติดต่อค้าขาย การไปมาหาสู่กันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ผ่านมาหลายพันปีหมื่นปีที่เกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์

สาธารณรัฐหรือประเทศที่เชื่อว่ามีทั้งพื้นที่อาณาเขตที่กว้างใหญ่รวมถึงจำนวนประชากรของรัฐนั้นๆ ในโลกของเราก็เชื่อว่า สหรัฐอเมริกา โซเวียตหรือรัสเซีย อินเดียและจีน รวมถึงบางประเทศที่อยู่ในตัวเลขของประเทศแห่งความเป็นผู้นำในแต่ละบริบท ข้อเท็จจริงหนึ่งในอดีตกาลที่ผ่านมาการเป็นผู้นำของรัฐหนึ่ง ก็คือความสามารถแข็งแกร่งของกองทัพในการออกศึกสงครามทั้งในการปกป้องประเทศรวมถึงการล่าอาณานิคมดินแดนประเทศอื่นมาไว้ในการปกครองของตนเอง เมื่อวันเวลาผ่านไปมาถึงยุคปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านในการไปมีบทบาทหรือครอบครองทั้งระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม เทคโนโลยีนวัตกรรม เกษตรกรรม ธุรกิจการค้าได้เปลี่ยนผ่านจากศึกสงครามในการแก่งแย่งดินแดนไปอย่างมีนัยสำคัญ

นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน หลี่ เค่อเฉียง ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดความร่วมมือเอเชียตะวันออกประจำปี ค.ศ.2019 ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมประชุมด้วยก็มีประเทศกัมพูชา บรูไน เมียนมา มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน เกาเหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย อเมริกา สหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

Advertisement

หลักการของการประชุมดังกล่าวประกอบด้วยกลไกการตัดสินใจในกิจการต่างๆ ทางด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ข้อยุติพิพาทระหว่างสมาชิกด้วยกันรวมถึงการหาทางออกในกรณีดังกล่าวทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

คํากล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง “รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือในเอเชียตะวันออกที่ได้รักษาแนวโน้มในการพัฒนาที่แข็งแกร่งระหว่างจีน-อาเซียนได้แสดงบทบาทนำหน้า อาเซียนได้เป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่อันดับ 2 ของจีน เมื่อปีที่แล้ว 2018 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของ 10 ประเทศอาเซียนบวก จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คิดเป็น 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลก มูลค่าการค้าใน 13 ประเทศคิดเป็น 26% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั่วโลก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 60% เป็นเมืองจีนประเทศเดียวก็มากกว่า 30% รวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจขาลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากลัทธิกีดกันทางการค้า และลัทธิเอกภาคีนิยมผงาดขึ้น…” (มติชนรายวัน 2 พฤศจิกายน 2562 หน้า 15)

ความหมายหนึ่งของ เอกภาคีนิยม (Unilateralism Country) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็คือ ประเทศที่ปลีกตัวปฏิบัติการทางการเมืองโดยลำพัง ไม่มีประเทศอื่นร่วมหรือรับรู้ด้วย ซึ่งมีความแตกต่างจากไตรภาคีหรือพหุภาคีที่มีหลายฝ่ายร่วมพิจารณาลงความเห็นรวมถึงการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นัยความหมายหนึ่งเป็นลักษณะหนึ่งในนโยบายที่ต้องการแยกตัวอยู่แบบโดดเดี่ยวแบบใหม่ อาทิ การตัดสินใจไม่เข้าร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจักเข้าร่วมบ้างแต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ

Advertisement

รวมถึงดำเนินนโยบายที่เป็นกลางอาจจะรวมในความหมายของการเลือก ปฏิเสธเข้าร่วมทางการทหารในกิจการระหว่างประเทศ รัฐที่เป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร อาวุธกองทัพก็จักได้เปรียบในบริบทดังกล่าวหรืออีกความหมายหนึ่งที่เราท่านมักจะได้ยินก็คือ ลัทธินโยบายพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นแบบแผนแห่งอำนาจนิยมหนึ่งในอดีตที่ผ่านมาทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

หลี่ เค่อเฉียง ต้องการเห็นความร่วมมือกันในเอเชียตะวันออกทั้งหลักประกันเสถียรภาพในสันติภาพระหว่างประเทศ โดยยึดถึงหลักการความมั่นคงที่ปลอดภัย อำนวยผลประโยชน์แก่กัน พูดคุยเจรจาเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจีนและประเทศอาเซียนได้ร่วมมือในโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงไปสู่กรุงเทพมหานคร ความร่วมมือการสื่อสาร 5จี ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) เมืองอัจฉริยะ รวมถึงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี…

ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเมืองไทยเราและจีนหนึ่งในเร็ววันมานี้ก็คือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าฯถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงเป็นทูตสันถวไมตรียอดเยี่ยมในการพัฒนามิตรสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นมีคนจีนและธุรกิจการบินระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนสัปดาห์ละกว่า 4,500 เที่ยวบิน มีประชากรทั้งสองฝ่ายไปมาหาสู่กันกว่า 57 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2561 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยกว่า 10 ล้านคน โดยจีนยึดมั่นในสำนวนภาษาหนึ่งก็คือ “เกื้อกูลผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน แน่นแฟ้นกว่าญาติที่อยู่ไกลกัน” จีนและไทยเป็นพี่น้องกันมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกันมีปัญหาอะไรก็ใช้วิธีการแก้ไขพูดคุยกัน…

ข้อเท็จจริงหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเราหรือเมืองไทยเรากับประเทศจีนได้มีความสัมพันธ์กันมาในหลายร้อยศตวรรษที่ผ่านมา โดยผ่านเรื่องราวของการค้า สงคราม การย้ายถิ่น ภาษา วัฒนธรรมความเชื่อในลัทธิ ทั้งขงจื๊อ เล่าจื๊อ ลัทธิเต๋า พุทธศาสนามหายาน วัดจีนในเมืองไทย เจ้าสัวที่มีสถานภาพเป็นเศรษฐีระดับต้นๆ ของเมืองไทยเรา บรรพบุรุษหลายคนก็ได้อพยพหลีกหนีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ด้วยการขยันทำมาหากิน เก็บออม ดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อนิสัยใจคอของคนไทยเรา

แม้ทุกวันนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศก็อยู่ในมือของเจ้าสัว นักธุรกิจที่เป็นคนจีนที่มีสัญชาติ เชื้อชาติจีนอยู่ในเมืองไทยเราเป็นจำนวนมาก

ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของจีนที่ผ่านนับพันปี ซึ่งเราท่านได้พบเห็นถึงมรดกของชาติทั้งกองทัพดินเผาทหารจีนที่ถูกฝังไว้ในสุสานของจีน กำแพงเมืองจีน เทคโนโลยีเครื่องใช้ไม้สอยในสมัยนั้น วันเวลาและโอกาสหนึ่งสำหรับคนไทยเราที่ไม่มีโอกาสไปท่องเที่ยวประเทศจีน ในช่วงนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2562 ได้มีนิทรรศการพิเศษ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ความยิ่งใหญ่ของคนจีนและประเทศจีนคงจะใช่เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่ภาวะดังกล่าวได้ส่งผ่านจากอดีตมาปัจจุบันและอนาคตของประเทศเขา รวมถึงพลเมืองของเขาอย่างมิต้องสงสัยถึงกลยุทธ์ การมองการณ์ไกลอย่างแยบยล…

คนไทยเราในวันนี้หลายคนได้ส่งผ่านกรรมพันธุ์จากเชื้อชาติจีน สัญชาติจีนในหลายๆ คนที่อยู่ในการทำงานของรัฐสภาไทยในวันนี้ทั้งสามสถาบันสำคัญของชาติไทย ทั้งตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักธุรกิจทางการเมือง ทุนนิยมที่สนับสนุนทางการเมือง มิอาจจักรวมถึงนักการเมืองรุ่นใหม่ พรรคการเมืองที่เปิดกิจการใหม่บางพรรคที่เขาเหล่านั้นมีความเป็น “จีน” อย่างมิได้ทิ้งบรรพบุรุษถึงการต่อสู้แห่งความมีเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ โดยคาดหวังว่าความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมจักเกิดมีแก่ทุกๆ คนในแผ่นดิน

เอกภาคีนิยม เป็นคำความหมายหนึ่งที่เราท่านไม่ค่อยได้ยินบ่อยครั้งนัก ความหมายในคำหรือประโยคดังกล่าว ผู้รู้ นักคิด นักปราชญ์ นักการบริหารประเทศจักต้องนำมาขบคิดและตีโจทย์ดังกล่าวให้แตกกระจายเพื่อแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองไทยเราที่ดูเสมือนถูกรุมเร้าอย่างรอบด้าน เราท่านจักเห็นในหลักการดังกล่าวเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้หรือไม่

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image