ย้อนรอยสภาร่างรัฐธรรมนูญ : โดย ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์

 

ภายหลังการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เสร็จสิ้น พลันก็ปรากฏกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เรียกร้องให้แก้ไขเพียงบางมาตราตามที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มตน และกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการอันดูเสมือนเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกคำรบ

เมื่อดูจากวัตถุประสงค์ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) จะพบว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการรวมกลุ่มบุคคลเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่กระบวนการรัฐสภาโดยปกติไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในยุคหลังเป็นผลพวงมาจากแนวคิดในเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ที่ให้คุณค่าแก่การมีกฎหมายสูงสุดอันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นเอง

ที่ผ่านมาในอดีต สภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดคงได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Constitutional Convention) ที่ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2330 และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จวบจนปัจจุบัน

Advertisement

สำหรับประเทศฝรั่งเศส ได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Assemble Nationale Constituante) ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ.2332-2334 โดยสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ให้สัตยาบันว่า พวกตนจะไม่ย้ายออกไปจากสถานที่ร่างรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม สัตยาบันสนามเทนนิส (Tennis Court Oath) วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2334 ในขณะที่สภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ภายหลังการเจรจาเรียกร้องอิสรภาพ ซึ่งนอกเหนือไปจากการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สภาดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นรัฐสภาชุดแรกของประเทศอีกด้วย ส่วนในประเทศอิตาลี สภาร่างรัฐธรรมนูญได้กำเนิดขึ้นภายหลังความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของรัฐบาลฟาสซิสต์

ส่วนประเทศรัสเซีย ก็มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการปฏิวัติในเดือนตุลาคม พ.ศ.2514 (October Revolution)

ในกรณีของประเทศไทย เรามีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมดสี่ชุด โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2491 ที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ในเวลาต่อมา สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2502 ซึ่งถือเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สองถูกจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งที่น่าสนใจคือ สภาดังกล่าวมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้นอีกด้วย โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ถึง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511)

Advertisement

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สามได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย สกัดกั้นนักการเมืองที่ซื้อเสียงและหวังเข้ามาประพฤติทุจริต โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 6 พ.ศ.2539 ส่งผลให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ชุดสุดท้ายได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้รับการสรรหามาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ภายหลังเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยผ่านการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วถึงสี่ครั้งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา และในบางครั้ง รัฐธรรมนูญที่ได้มา
กลับกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในสังคม ทั้งในมิติของกระบวนการได้มาและเนื้อหาแห่งรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจากมุมมองและความคาดหวังต่อรัฐธรรมนูญที่มีหลากหลาย โดยการเรียกร้องส่วนใหญ่มักเป็นการเรียกร้องต่อประเด็นกติกาการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง อันปรากฏน้อยมากที่จะพูดถึงมิติของภาคประชาชนซึ่งต่อให้เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปอีกกี่ฉบับก็คงไม่สามารถจะแก้ไขให้ตรงความต้องการได้หากประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ ภาคประชาชนก็ต้องรู้เท่าทันมิให้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นกระแสปลุกปั่นทางการเมืองดังเช่นในอดีตแต่ต้องนำ “รัฐธรรมนูญ” มาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตน

ดังเช่นคำกล่าวของเบนจามิน แฟรงค์กิ้น ที่ว่า “รัฐธรรมนูญเพียงแต่รับประกันให้คน (อเมริกัน) มีสิทธิที่จะแสวงหาความสุข แต่คุณจะต้องเป็นคนฉวยจับมันด้วยตัวคุณเอง” (The Constitution only guarantees the American people the right to pursue happiness. You have to catch it yourself.)

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์
คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image