ภาพเก่า…เล่าตำนาน : พันเอก พุ่มสกี้…ชีวิตแบบนี้…มีคนเดียว

นายพุ่ม เกิดประมาณ พ.ศ.2426 บ้านอยู่แถวคลองบางหลวง ตลาดพลู เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ ซึ่งเรียกกันว่า สวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย โดยใช้ตึกแม้นนฤมิตรของโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นสถานที่ศึกษา

บิดาชื่อ นายซุ้ย คนไทยเชื้อสายจีนพ่อค้าตลาดพลูที่ค่อนข้างมีฐานะดี แม่ชื่อนางชื่น ได้รับการคัดเลือก ได้รับพระบรมราชานุญาต พระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.5 ให้ร่วมเดินทางไปศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กรัสเซียพร้อมกับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ใช้ชีวิตหวาดเสียวสุดขอบฟ้า…กลายเป็นพันเอก ทหารม้าในกองทัพรัสเซีย….

อาจนับได้ว่า นายพุ่มเป็นนักเรียนทุนคิงสกอลาชิปคนแรกของสยามก็ได้ …เรียนเก่ง บุคลิกดี ตลอดจนมีกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัยดี กล้าหาญ

ย้อนอดีตไปใน พ.ศ.2434… ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ของจักรวรรดิรัสเซีย ได้เสด็จมาประเทศไทย ก่อเกิดพระราชไมตรีแนบแน่น มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียทรงขอให้ในหลวง ร.5 ส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาเล่าเรียน ที่ประเทศรัสเซียบ้าง

Advertisement

ในหลวง ร.5 ทรงมีพระวิสัยทัศน์เรื่องการศึกษามานานแล้วว่าจะต้องส่งพระราชโอรส บุตรขุนนาง สามัญชน ไปศึกษาในต่างประเทศโดยเฉพาะอังกฤษ เพื่อกลับมาวางรากฐานสยามประเทศ

ในเวลานั้น มหาอำนาจอังกฤษ ฝรั่งเศส กำลังหิวโหย กระหายล่าอาณานิคม…ชาติที่ไม่เคยออกอาการจะล่าสยามเป็นเมืองขึ้น คือ รัสเซีย

พ.ศ.2440 ในหลวง ร.5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงดำริว่าจะให้นักเรียนจากสยามไปศึกษาในประเทศต่างๆ ในยุโรป จำนวน 19 คน เป็นพระราชวงศ์ 5 พระองค์ อีก 13 คนเป็นลูกหลานขุนนาง

Advertisement

ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซ็นต์เยมส์แห่งอังกฤษ คัดเลือกจากนักเรียนสยาม ที่กำลังศึกษาอยู่ในอังกฤษ เพียง 1 คน เพื่อจะให้ไปศึกษาในรัสเซียพร้อมกับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

ในเวลานั้นนักเรียนชาวสยามในอังกฤษ ล้วนแล้วแต่เป็นบุตรขุนนางในราชสำนัก มีชาติตระกูลสูง เช่น นายเตี้ยม นายมานิต นายนกยูง ฯลฯ มีเพียงนายพุ่ม คนเดียว คนธรรมดา เป็นลูกพ่อค้าจากตลาดพลู เพิ่งมาถึงลอนดอนได้ไม่นานนัก

พันโท ซี.วี.ฮยูม และ ดร. เอ็ม.เอฟ.ยาร์ พระอภิบาลและแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวง ร.6 รวมทั้ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือก …กรรมการทุกคนเลือกนายพุ่ม

หลังการพิจารณา… ท่านทูตได้มีจดหมายกราบบังคมทูลไปยังพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.5 ความว่า….

“…นายพุ่ม เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจา เป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย ฉลาดในการเล่าเรียน อายุ 15 ปี และทูลกระหม่อมเล็ก ทรงเลือกนายพุ่มเป็นที่ 1 …”

ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า

“…นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูล แต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป ข้อสำคัญก็เพียงแต่ให้เป็นที่พึงพอใจกันกับลูกชายเล็กได้จริงๆ…”

ลูกชายเล็ก คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ทรงวางแผนจะส่ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ให้ไปทรงศึกษาโรงเรียนนายร้อย ณ จักรวรรดิรัสเซียมาก่อนแล้ว และยังได้ทรงขออนุญาตจากองค์ซาร์นิโคลัส เพื่อให้นายพุ่มได้ศึกษาเล่าเรียนทุกอย่าง ให้เหมือนกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

พระราชประสงค์ คือ เพื่อให้นายพุ่มเป็นเพื่อนเรียนและมิตรแท้ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในต่างแดนและเพื่อให้เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงมีขัตติยะมานะเพียรในการเรียนมากยิ่งขึ้น

พ.ศ.2441 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่งกำลังทรงศึกษาเบื้องต้นอยู่ในประเทศอังกฤษ ทรงเร่งศึกษาภาษารัสเซีย ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการฯ ให้เดินทางไปกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก รัสเซียเพื่อเข้าโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กหลวง โดยมีนายพุ่มติดตาม

ชะตาชีวิตของนายพุ่ม ดุจฟ้าลิขิต ลูกชาวบ้านไม่มีเส้นสายใดๆ ที่กำลังศึกษาในอังกฤษ…ได้รับการคัดเลือกเพียง 1 เดียว ให้ติดตามสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ไปเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยที่รัสเซียด้วย …

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสด็จไปถึงประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ.2441 ซึ่งทางจักรพรรดิรัสเซียได้จัดขบวนนายทหารและคณะมารับที่ชายแดนโดยหัวหน้าเป็นนายพลนายทหารองครักษ์ของพระเจ้าซาร์ จากนั้นได้นำเสด็จไปประทับยังวังฤดูหนาวของพระองค์

ในสมัยนั้น จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 มีกองทัพที่เกรียงไกรมาก อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (ดูแผนที่)

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่ม ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก (Corps des Pages) ณ เซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก สถาบันทหารที่ใกล้ชิดกับราชสำนักที่สุด

ในการเรียนและฝึก จะต้องมีความมานะพยายามในการเล่าเรียน และฝึกอย่างหนัก เพราะจะต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกัน…โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหิบาล (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบอร์ก

ผลการสอบไล่ปี พ.ศ.2443 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ 2 และนายพุ่ม สาคร ได้เป็นอันดับที่ 4

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่ม ใช้เวลาไม่นานนัก สามารถใช้ภาษารัสเซียได้คล่องแคล่ว มีวินัยเยี่ยม มีการเข้าสังคมได้อย่างกลมกลืน ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ระหว่างการศึกษา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่ม ใช้เวลาศึกษาอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบอร์กนานถึง 8 ปี ผลการสอบครั้งสุดท้ายก่อนจะจบจากโรงเรียน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ สอบได้เป็นที่ 1 และ นายพุ่มสอบได้เป็นที่ 2 และเป็นนายร้อยตรีแห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์

กรมทหารม้าฮุสซาร์ (Hussars) เป็นกองทัพพิเศษของจักรวรรดิรัสเซียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทหารฮุสซาร์ ฝึกฝนหนักหน่วงเหนือทหารทั่วไป กล้าหาญผิดมนุษย์ เข้าสู่สนามรบโดยไม่กลัวตาย แม่ทัพ Comte de Lassale แห่งกองทัพฝรั่งเศสกล่าวว่า “ฮุสซาร์คนใดที่ยังไม่ตายก่อนอายุสามสิบ เป็นพวกไร้เกียรติ”

ผู้เขียนขอนำข้อความตอนหนึ่ง ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงดำรงความอดทนในการเป็นนักเรียนทหารและทรงเขียนลายพระหัตถ์ถวายถึงในหลวง ร.5 ดังนี้ ครับ…

“ข้าพระพุทธเจ้า ยืนยามตั้งแต่บ่าย 3 โมง จนถึง 2 โมง ครั้งแรก ในเวลายืนยามจะกระดิกไปจากที่ หรือจะลงนั่งไม่ได้เป็นอันขาด ใครจะมีคำสั่งก็ทำไม่ได้ นอกจากพระราชโองการของเอมเปรอ หรือคำสั่งของนายร้อยผู้คุม แลนายสิบเอกผู้ช่วย ในระหว่างบ่าย 3 โมงกับ 2 โมงนี้ แกรนด์ดุ๊กคอนสตันติน ผู้บัญชาการกรมยุทธศึกษาได้เสด็จมาตรวจทั่วทุกแห่ง ทรงตรัสซักนักเรียนถึงหน้าที่ของผู้ยืนยามโดยละเอียดมาก ข้าพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงซักเหมือนกัน แลที่พระพุทธเจ้าได้กราบทูลโดยเรียบร้อยดี”

8 ปีผ่านไป สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ฯ และนายพุ่ม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กรัสเซีย

นายร้อยตรีพุ่ม ได้ตามเสด็จ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กลับมาสยามครั้งแรก เมื่อกลางปี พ.ศ.2446 มีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับ 2 นายทหารหนุ่มจากโรงเรียนนายร้อยรัสเซีย…

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายทหารไทย เข้าประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ส่วนนายพุ่มก็ได้รับสัญญาบัตรร้อยตรีประจำกรมทหารม้า

ผู้เขียนขอยืนยันความทุกข์ทรมานของสภาพอากาศในเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบอร์ก ในยามหน้าหนาวว่า…แสนโหดโคตรทรมาน…

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และนายพุ่มใช้เวลาอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่นาน ก็จะต้องกลับไปศึกษาต่อในวิชาการทหารขั้นสูงในรัสเซีย

แนวทางการรับราชการของนายทหาร จะต้องศึกษาตลอดชีวิต รวมถึงกองทัพไทย ก็มีแนวทางปฏิบัติเช่นนี้…

เข้าใจกันง่ายๆ ว่าไปศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก… เพื่อเรียนรู้การทำหน้าที่ของ “ฝ่ายเสนาธิการ” ที่ต้องวางแผน เขียนแผน อย่างละเอียด จะวางแผนให้ทหารของฝ่ายเรา ทุกหน่วยเข้าทำการรบอย่างสอดประสาน และมีชัยชนะในการศึกสงคราม…

ร้อยตรีพุ่ม ได้ตามเสด็จ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กลับไปศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงอีก 2 ปี และสำเร็จการศึกษาในพฤศจิกายน พ.ศ.2448

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้รับพระราชทานยศ เป็นนายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของเอมเปอเรอ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ไม่โปรดไปงานสังคมต่างๆ ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กเท่าใดนัก….

วันหนึ่ง ณ บ้านของนางคราโปรวิซกี มีงานเลี้ยง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงได้พบกับสาวงามรัสเซียนามว่า “เอกาเทรีนา เดนิตสกายา” ที่คนทั่วไปคุ้นเคยในชื่อ “แคทยา” และในเวลาต่อมาทรงเข้าพิธีสมรสกับหม่อมแคทยา หรือ “หม่อมคัทริน” ที่กรุงคอนแสตนติโนเปิล (Constantinople) และพาหม่อมแคทยาเสด็จกลับมาสยาม….

การสมรสที่ต่อมากลายเป็นประวัติศาสตร์ก้องฟ้าเมืองสยาม ..สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มิได้กราบบังคมทูลต่อในหลวง ร.5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสแต่อย่างใด

พ.ศ.2450 หม่อมคัทรินให้กำเนิดพระราชโอรสในวังปารุสกวัน ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ส่วนพันเอกพุ่มไม่ขอตามเสด็จกลับสยาม …ขออนุญาตกระทรวงกลาโหมสยาม รับราชการเป็นทหารที่รัสเซียและเรียนภาษาฝรั่งเศส เกิดการขัดขืน… กระทรวงกลาโหมสยาม สั่งให้สถานทูตขังตัวร้อยเอกพุ่ม ไว้ในสถานทูต…

เมื่อเกิดเหตุถูกคุมตัว นายทหารในกรมทหารม้าโกรธเคือง ย้อนแย้งว่า นายทหารม้าฮุสซาร์ ไม่สมควรจะถูกขัง จึงจัดกำลังมาพาตัวผู้กองพุ่มไปเสียจากสถานทูต

การที่ผู้กองพุ่มยอมหนีไปด้วย ก็ถือว่าเป็นการร่วมมือ และมีความผิดฐานขัดคำสั่งกลาโหมสยาม…มีความผิดร้ายแรงแน่นอน

ผู้กองพุ่ม… ตกลงใจไม่กลับสยามเด็ดขาด และได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย เปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์นิกายรัสเชียนออร์โธดอกซ์ พระเจ้าซาร์นิโคลัส ทรงรับเป็นบิดาทูนหัว

ผู้กองพุ่ม ชาวรัสเซีย เปลี่ยนชื่อเป็น นิโคไล พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) รับราชการอยู่ในกองทัพบกรัสเซียจนได้เลื่อนยศตามลำดับเป็นถึง “พันเอก”

พันเอกพุ่ม นำหน่วยทหารรัสเซียรบกับทหารเยอรมัน ปรากฏว่าได้แสดงความสามารถและกล้าหาญในสนามรบ

ชีวิตของพันเอกพุ่ม…ยังดุเดือด โลดโผนเหมือนรถไฟเหาะตีลังกา…

เมื่อถึงสมัยปฏิวัติรัสเซีย พลทหารรัสเซียได้ลุกขึ้นโค่นอำนาจนายทหารและขอเลือก “ผู้บังคับหน่วย” ของตน… พันเอกพุ่มมีลูกน้องรักมากจนได้รับเลือก… หากแต่พันเอกพุ่ม มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเอมเปอเรอมาก ไม่ยอมรับการแต่งตั้งเป็นนายทหารของฝ่ายปฏิวัติ และในที่สุดก็หลบหนีออกไปจากประเทศรัสเซีย

เหตุที่ประชาชนลุกขึ้นปฏิวัติในรัสเซีย เพราะรัสเซียไปติดหล่มจมปลักในสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบถอนตัวไม่ขึ้น พระเจ้าซาร์ทรงไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง ใช้จ่ายเงินทั้งหมดไปกับการทำสงคราม ทหารรัสเซียพ่ายแพ้ในสนามรบ หมดกำลังใจ ประชาชนอดอยากหิวโหย เศรษฐกิจล่มสลาย ประชาชนเริ่มต่อต้าน ลุกฮือ…

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2460 เกิดการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียเพื่อโค่นพระเจ้าซาร์ ฝ่ายบอลเชวิก หรือคอมมิวนิสต์ที่นำโดย นายเลนิน ปลุกประชาชนรัสเซียที่หิวโหย โค่นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

ผู้การพุ่มและกองทหารฮุสซาร์รักษาพระองค์แสดงความจงรักภักดี ขอนำหน่วยทหารม้าปกป้องพระเจ้าซาร์ เพื่อสนองคุณและตอบแทนทุนเล่าเรียนหลวง

พระเจ้าซาร์นิโคลัส พระองค์นี้แหละ ที่ช่วยป้องกันสยามจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส

ทหารม้าฮุสซาร์รักษาพระองค์มีความศรัทธาในตัวผู้การพุ่มที่จงรักภักดี ผู้การพุ่มนำกำลังต่อต้านการโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ

เวลาต่อมาพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดนจับคุมขัง นางสนองพระโอษฐ์ชื่อ แอนนา ไวรูโบวา แอบมาบอกให้พันเอกพุ่มถอนตัวออกไปจากสงครามกลางเมืองเพราะ “มันเรื่องของคนรัสเซีย”

17 กรกฎาคม 2460 ซาร์นิโคลัส ที่ 2 และพระราชวงศ์ถูกสังหาร ภารกิจของ พันเอก พุ่มสกี้ คือ พานางสนองพระโอษฐ์ผู้ซึ่งเขาเคารพรัก หนีภัยการปฏิวัติไปอยู่ในฝรั่งเศส… เมื่อถึงฝรั่งเศส พันเอก พุ่มสกี้ ไปสมัครงานเป็นเสมียนธนาคาร เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

เดือนพฤศจิกายน 2460 แผ่นดินรัสเซียเปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ

ช่วงเวลาที่พันเอก พุ่มสกี้ อยู่ที่ฝรั่งเศส สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ที่เสด็จกลับมาสยามนานแล้ว… ท่านเสด็จไปราชการที่ประเทศสิงคโปร์และท่านเสด็จทิวงคตที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2463 ด้วยพระชนม์เพียง 37 พรรษา จากโรคปอดบวม

พระโอรสของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงชักชวนพันเอก พุ่มสกี้ ไปเป็นเลขานุการประจำตัวหม่อมคัทริน ทำงานในฝรั่งเศส

วันหนึ่ง…พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงจัดการพานายพุ่มกลับเมืองไทย โดยสารเรือ Rajputana ของบริษัทอังกฤษ พี แอนด์ โอ ออกจากท่าเรือเมืองมาร์เซยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2480 เรือมาถึงเกาะปีนังเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2480 แล้วโดยสารรถไฟเข้าสู่สยาม

จากแผ่นดินแม่ไปนาน 33 ปี น้ำตาไหลเมื่อได้กลับมาอีกครั้ง…

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์เล่ม 2 หน้า 366 ว่า “เมื่อข้ามเขตแดนไทยนั้น ข้าพเจ้าสังเกตดูพุ่มเห็นยืนอยู่นิ่งและน้ำตาไหลคลอตื้นตันพูดไม่ออก แล้วเขาก็หันมาจับมือข้าพเจ้า แล้วก็เอามือของข้าพเจ้านั้นขึ้นไปทูลอยู่บนศีรษะหลายครั้ง เป็นการที่เขาแสดงความขอบใจที่ข้าพเจ้าพาเขากลับไปเมืองไทยอีก แต่ไม่สามารถจะขอบใจด้วยวาจาได้”

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงทำเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้พันเอก พุ่มสกี้ เป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่ง พันเอก นิโคไล พุ่มสกี้ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากในหลวง ร.6 ว่า “สาคร” ตามชื่อบิดาที่ชื่อนายซุ้ย ที่แปลว่า “น้ำ”

พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม เสนอรับพันเอกพุ่ม เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งอาจารย์วิชาทหารในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พันเอกพุ่ม สาคร ปฏิเสธการรับราชการในสยาม และในกลางเดือนธันวาคม 2480 เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ เสด็จกลับประเทศอังกฤษ นายพุ่ม สาคร จึงตามเสด็จกลับไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา

นายพุ่มในวัย 60 เศษ มีอาการป่วยโรคหัวใจ

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” เล่ม 3 ว่า… “…ขณะที่จะเดินทางไปอเมริกานั้น คิดห่วงนายพุ่มว่าจะตาย ถึงกับต้องปรึกษากันว่าถ้านายพุ่มตายแล้วจะจัดพิธีพุทธหรือคริสต์ เพราะทรงไม่แน่ใจว่านายพุ่มนับถือศาสนาอะไร…”

นายพุ่มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เมื่ออายุ 64 ปี ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ เสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกา… ศพของนายพุ่ม สาคร ยังคงฝังอยู่ ณ สุสานใกล้บ้านของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ

ตลอดระยะเวลา 8 ปี มีพระราชหัตถเลขา จดหมายลายพระหัตถ์ ไปมาระหว่างในหลวง ร.5 และพระราชโอรสกว่า 300 ฉบับ ซึ่งถูกนำมาพิมพ์เป็นหนังสือ ถึงลูกชายเล็ก พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ หนังสือ 452 หน้า พร้อมภาพเก่า 400 ภาพที่ทรงคุณค่าสุดบรรยาย….

ผู้เขียนพยายามค้นหาประวัติครอบครัว ทายาทของ พันเอก พุ่มสกี้ สาคร แต่ไม่ปรากฏ ณ ที่ใด หากท่านผู้อ่านมี ขอความเมตตานำมาบอกกล่าวให้สาธารณชนรับทราบกันบ้างนะครับ…ชีวิตของท่านมีค่า…ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ลางเลือน….

ลูกพ่อค้าตลาดพลู…ชะตาชีวิตโดดเด่นแบบนี้…มีคนเดียว…

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
————————————————
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือ เจ้าชีวิต พระนิพนธ์ ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image