เกียรติของพระรามหรือรามเกียรติ์ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มัสยิดบาบรีสร้างเมื่อ พ.ศ.2071 แต่ถูกม็อบฮินดูเข้าทำลายเมื่อ พ.ศ.2535

ปัจจุบันอินเดียมีความขัดแย้งทางศาสนาสูงมาก เนื่องจากนักการเมืองคนสำคัญของประเทศจำนวนมากส่งเสริมวาทกรรมชาตินิยม และมุ่งให้อภิสิทธิ์ต่อประชาชนที่นับถือฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพิเศษ เนื่องจากในประวัติศาสตร์ก่อนที่อินเดียจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น อินเดียส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเหล่าชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่งเมื่ออินเดียได้เอกราชเมื่อ พ.ศ.2490 ก็ต้องมีการแยกประเทศออกเป็นประเทศคือ อินเดียที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู กับปากีสถานที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีการกระทบกระทั่งฆ่าฟันกันโดยอ้างความแตกต่างระหว่างศาสนากันเรื่อยมา ทั้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานและภายในประเทศทั้งสองเองตั้ง 70 กว่าปีมาแล้ว

กรณีพิพาทระหว่างศาสนาฮินดูกับศาสนาอิสลามที่ร้อนแรงที่สุดของอินเดียในปัจจุบันคือ มัสยิดบาบรี เมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่นับถือพระราม แม้จะเคยมีการตั้งมัสยิดในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน โดยข้อขัดแย้งนี้เป็นหนึ่งในข้อขัดแย้งทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียพื้นที่มัสยิดบาบรีในเมืองอโยธยานี้สถานที่ซึ่งชาวฮินดูบางส่วนเชื่อว่าเป็นสถานที่เกิดของพระรามตามตำนานรามายณะและมีการสร้างเทวสถานบูชาพระรามไว้ในเมืองอโยธยา แต่ถูกอ้างว่าจักรพรรดิบาบูร์ผู้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์โมกุลให้สร้างมัสยิดสร้างทับเทวสถานของฮินดูที่อ้างว่าเป็นสถานที่เกิดของพระราม (ในเรื่องรามเกียรติ์นั่นแหละ) ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างสองศาสนามาตั้งแต่ พ.ศ.2071 ที่เริ่มสร้างมัสยิดบาบรีแล้ว

จักรพรรดิบาบูร์ผู้สร้างมัสยิด
ไวษณพอาจสร้างเทวสถานใหม่แบบนี้

ตั้งแต่อินเดียได้เอกราชแล้วก็มีคนเอารูปปั้นพระรามแอบไปตั้งไว้ในมัสยิดบาบรี (ศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้บูชารูปเคารพ) ใน พ.ศ.2492 ทำให้คนเริ่มเชื่อว่านี่เป็นสถานที่กำเนิดของพระราม จนมีการเรียกร้องให้รื้อมัสยิดแล้วสร้างเทวสถานของฮินดูขึ้นแทน จนเกิดข้อถกเถียงเรื่องศาสนาในพื้นที่นี้ก่อความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ.2535 ม็อบชาวฮินดูบุกเข้าทำลายมัสยิดบาบรีทำให้เกิดมีการจลาจลจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน เทวสถานและมัสยิดหลายพันหลังถูกทำลายโดยม็อบฮินดูและมุสลิม

ใน พ.ศ.2545 ศาลสูงสุดเมืองอัลลาฮาบัต ประจำอุตตรประเทศ ได้พิพากษายืนยันว่าพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเป็นสถานที่เกิดของพระรามจริงๆ โดยมัสยิดบาบรีสร้างขึ้นทับเทวสถานของชาวฮินดู และไม่ได้สร้างขึ้นตามหลักศาสนาอิสลาม จึงมีคำสั่งศาลให้แบ่งพื้นที่ขัดแย้งนี้ออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่แรกมีเนื้อที่ 7 ไร่เศษ คือประมาณสองในสามของพื้นที่ทั้งหมดให้อยู่ในความดูแลของพวกนับถือฮินดูนิกายไวษณพ (คือพวกฮินดูที่นับถือพระนารายณ์) ส่วนอีกหนึ่งในสามของพื้นที่ให้ชาวมุสลิมซุนหนี่ดูแล แต่คำตัดสินนี้ถูกอุทธรณ์และส่งมายังศาลฎีกาของอินเดีย

Advertisement

ครับ ! ก่อนการพิพากษาของศาลฎีกาอินเดียเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลอินเดียได้เตรียมการรับการตัดสินนี้โดยร้องขอให้ประชาชนรับฟังด้วยความสงบ มีการวางกำลังตำรวจทหารจำนวนมากไว้เพื่อรับมือกับความเคียดแค้นของประชาชนด้านใดด้านหนึ่ง และมีการกักประชาชนบางส่วนไว้เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรง มีการปิดโรงเรียนและปิดถนนรอบมัสยิดบาบรี

ผลการพิพากษาของศาลฎีกาอินเดียคือเมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายนนี้ เป็นเอกฉันท์ว่า ชาวฮินดูสามารถสร้างเทวสถานบูชาพระราม ณ สถานที่พิพาทคือที่มัสยิดบาบรี ในเมืองอโยธยา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศได้ ขณะที่มอบที่ดินอีกผืนหนึ่งขนาด 12.65 ไร่ ในเมืองอโยธยาให้ชาวมุสลิมใช้สร้างมัสยิดใหม่ขึ้นแทน โดยผู้พิพากษาทั้ง 5 คน มีคำตัดสินหลังจากพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งบันทึกอายุกว่า 500 ปี ซึ่งเขียนโดยจักรพรรดิโมกุล บันทึกของพ่อค้าในยุคกลาง การสำรวจยุคอาณานิคม และบันทึกทางโบราณคดีต่างๆ แล้วจึงเชื่อว่ามัสยิดบาบรีสร้างทับเทวสถานที่อ้างว่าเป็นสถานที่กำเนิดของพระรามจริง

คงต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่าจะเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในอินเดียอีกหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image