สถานีคิดเลขที่ 12 : จบเห่

แม้ว่าโบลิเวียเป็นประเทศที่อยู่ไกลจากไทยมาก และมีปฏิสัมพันธ์กันน้อย แต่เมื่อประธานาธิบดีประกาศลาออกไปเมื่อวันอาทิตย์ เพราะถูกประชาชนประท้วงหนัก ว่าสืบทอดอำนาจอย่างน่ารังเกียจผ่านการเลือกตั้งที่มี กกต.จัดการบล็อกผลให้ ข่าวนี้ได้รับความสนใจมากพอสมควรในโลกออนไลน์ของไทย

ความเห็นส่วนใหญ่เป็นอย่างไรคงเดาได้ไม่ยาก และเปรียบเทียบกับใครบ้าง ก็หาอ่านกันได้

โบลิเวีย มีประชากรเพียง 11.4 ล้านคน เป็นประเทศหนึ่งในแดนลาตินอเมริกาที่ตอนนี้เกิดปัญหาการประท้วง ต่อจากเวเนซุเอลานั้นลากยาวข้ามมาหลายปีแล้ว และชิลีที่ดุเดือดจนยกเลิกจัดประชุมเอเปค

ปัญหาเกือบทั้งหมดของอเมริกาใต้มาจากเรื่องปากท้อง คนจนอยู่ยาก และชนชั้นกลางก็อยู่ยากขึ้น

Advertisement

นายอิโว โมราเลส ประธานาธิบดีของโบลิเวียแกก็เคยเป็นคนจนมาก่อนและยังเป็นชนพื้นเมืองด้วย วางตัวเป็นมหามิตรฝ่ายซ้ายกับคิวบาและเวเนซุเอลา ตั้งแต่สมัยพลเอกฟิเดล คาสโตร และนายฮูโก ชาเวซ ยังมีชีวิตอยู่

โมราเลสอยู่ในอำนาจผู้นำประเทศมาถึง 13 ปี 9 เดือน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้ว 3 ครั้ง ปี 2548 2552 2557 ความจริงก็น่าจะพอได้แล้ว กลับดันไปแก้รัฐธรรมนูญลงสมัครอีกเป็นสมัยที่ 4

การอยู่นานๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีขึ้น ย่อมปลุกกระแสให้ประชาชนต่อต้านมากขึ้น แทนที่จะจบสวยก็เลยจบเห่

Advertisement

การลงเลือกตั้งรอบที่ 4 วันที่ 20 ต.ค.ปีนี้ กกต.ของโบลิเวียจัดล็อกชัยชนะไว้ให้แบบไม่เกรงใจชาวบ้าน เพราะทันทีที่หมดเวลาลงคะแนน เอ็กซิตโพลชี้ว่านายโมราเลสนำคู่แข่งอยู่เล็กน้อย แต่ กกต.กลับหยุดนับคะแนนไป 24 ชั่วโมงโดยไม่บอกสาเหตุ พอเปิดมานับใหม่ ปรากฏว่าคะแนนแกพุ่งพรวด ชนะขาดลอยขึ้นมาซะเฉยๆ (ชวนให้นึกถึงเหตุไฟดับขณะนับคะแนนเลือกตั้งของกัมพูชาเมื่อปี 2556 แล้วผลพลิกคล้ายๆ กัน)

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าท่านประธานาธิบดีชนะถล่มทลาย ความอดทนของประชาชนโบลิเวียก็เลยขาดผึง เกิดการประท้วงขึ้นวุ่นวาย

แต่เหตุการณ์ของโบลิเวียไม่ยืดเยื้อเหมือนกับเวเนซุเอลา เพราะกองทัพไม่เอาด้วย นายโมลาเรสจึงยอมแถลงว่าจะให้เลือกตั้งใหม่ แต่เท่านั้นไม่พอ จากนั้นแถลงลาออก ตามด้วยตอบรับข้อเสนอลี้ภัยทางการเมืองไปเม็กซิโก

นายโมลาเรสบอกว่าตนเองถูกบีบให้ออก เหมือนการรัฐประหารกลายๆ แต่ฝ่ายค้านของโบลิเวียปฏิเสธข้อหานี้ และยืนยันว่าต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตย

สถานการณ์จากนี้ไปจึงขึ้นอยู่กับว่า โบลิเวียจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างโปร่งใสเสรีหรือไม่ ถ้าได้ ประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ

แม้ว่ากองทัพมีอิทธิพล แต่หากไม่ล้ำเส้น ปล่อยให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาต่อสู้สลับกันเป็นรัฐบาล ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ความเสี่ยงปะทะกันรุนแรงก็จะลดลง ไม่ต้องรัฐประหารฉุดรั้งประเทศ

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ โบลิเวียจะเป็นอีกตัวอย่างที่แม้จะอยู่ไกล แต่เป็นบทเรียนใกล้ๆ แถวนี้ได้

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image