เมื่อทหารแทรกแซงการเมือง : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ท่ามกลางภาวะการชุมนุมประท้วงหลายภูมิภาคทั่วโลก ประเทศโบลิเวียในแอฟริกาใต้ได้กลายเป็นประเทศแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครอง เมื่อทหารแทรกแซงการเมืองโดยกดดันให้ประธานาธิบดีโมราเลส ลาออกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

การอยู่ในตำแหน่งถึง 14 ปีของ “โมราเลส” ต้องสิ้นสุดลงโดยพลัน

ในที่สุด ต้องขอลี้ภัยการเมืองที่ประเทศเม็กซิโก

“โมราเลส” เป็นคนพื้นเมืองคนแรกของแอฟริกาใต้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

Advertisement

เป็นประธานาธิบดีซ้ายจัดคนแรกของโบลิเวีย

และเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด

ก็เพราะเขาเป็นคนพื้นเมือง อีกประการ 1 ก็เปี่ยมด้วยคตินิยมต่อต้านสหรัฐ

Advertisement

การที่ “โมราเลส” ถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งครั้งนี้ กรณีไม่ต่างไปจากกาลอดีต อันเกิดจาก “ทหารแทรกแซงการเมือง” อาทิ

ปี 1973 ประธานาธิบดีซัลบาดอร์ อาเยนเด ประเทศชิลี ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายจัด ถูกโค่นอำนาจโดยนายพลเอากุสโต ปิโนเช ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด

ปี 2002 ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายจัด ถูกโค่นอำนาจโดยทหาร 3 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด ในที่สุด “ฮูโก ชาเวซ” ถูกทหารจับกุม

การแทรกแซงการเมืองของทหารในบรรดาประเทศละตินอเมริกานั้น

ได้กลายเป็นประเพณีไปแล้ว

และเบื้องหลังการแทรกแซงการเมืองของทหาร ย่อมมีเงาของสหรัฐอยู่เบื้องหลัง

“โมราเลส” ก็ได้กล่าวว่า การที่ถูกโค่นอำนาจครั้งนี้

เป็นอุบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐ

แม้ไม่มีหลักฐานนำสืบ แต่ในสายตาของสหรัฐปรากฏว่า “โมราเลส” และประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ประเทศเวเนซุเอลา เป็นที่จงเกลียดจงชัง จักต้องถูกกำจัด มิอาจสงสัย

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โบลิเวียครั้งนี้ว่า

“นาทีสำคัญแห่งประชาธิปไตยในซีกโลกตะวันตก”

“โบลิเวีย” เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกาใต้ มีคนจนทั่วประเทศประมาณร้อยละ 90

“โมราเลส” อยู่ในตำแหน่ง 13 ปี แม้จำนวนคนจนลดลงมาก แรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว

แต่งบการเงินขาดดุลมหาศาล มีการเรี่ยไรเงินจากคนจนไปช่วยเหลือคนที่จนกว่า เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในสังคม เป็นการแก้ปัญหาที่ปราศจากหลักของตรรกะ

ที่สำคัญที่สุดคือ “โมราเวส” เป็นประธานาธิบดีที่หลงใหลคลั่งไคล้กับตำแหน่ง

หากตามบทบัญญัติใหม่แห่งรัฐธรรมนูญ 2009 ของโบลิเวีย ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งต่อได้เพียง 1 สมัย ในขณะที่เขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งถือเป็นสมัยที่ 1

แต่เมื่อครบกำหนด 2009 เขาสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2

ส่วนการสมัครรับเลือกตั้ง 2014 ถือเป็นสมัยที่ 3

แต่เมื่อเขายื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ วาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของ “โมราเลส” ยังไม่สัมบูรณ์ การดำรงตำแหน่งจึงยังไม่อยู่ในนัยยะแห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ศาลจึงอนุญาตให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง

ปี 2016 “โมราเลส” เปิดทำประชามติอันเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3

ผลปรากฏว่า แพ้โหวตด้วยคะแนนร้อยละ 51.3

ก็เพราะ “โมราเลส” ไม่ฟังความเห็นของประชาชน โดยใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ตนได้รับเลือกเป็น “ประธานาธิบดี” อย่างเป็นนิรันดร์และแบบวิปริต

จึงมากด้วยปัญหา เป็นปัญหาที่นำมาซึ่งการประท้วง มีประชาชนจำนวนเกินกว่าร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยกับการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 3

แม้การเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม “โมราเลส” ชนะคู่แข่งเกินกว่าร้อยละ 10 แต่ถูกกล่าวหาว่า “ทุจริต” และแม้ว่าถ้าเขายินดีให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ประชาชนก็ไม่ให้โอกาสอีกต่อไป

และแม้ “โมราเลส” ถูกโค่นแล้ว แต่ในคณะรัฐบาลใหม่ยังไม่พบสักคนว่าเป็น “คนพื้นเมือง” จึงเป็นที่กังวลของลูกหาบของ “โมราเลส” กังวลว่าจะต้องถูกเช็ก
บิลในรูปแบบ “ชนบทล้อมเมือง” สถานการณ์วุ่นวายยังไม่จบง่าย และจะยุ่งถึงตอนไหนเมื่อใดยังไม่ทราบได้

การเมืองเปลี่ยนสีของ “โบลิเวีย” เป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับประชาคมโลก บทเรียนนั้นคือ ไม่ว่าซ้ายจัดหรือขวาจัด ไม่ว่ารัฐบาลทหาร ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือน ต้องฟังเสียงของประชาชน รับรู้ความประสงค์ของประชาชน ถ้าประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ต่อให้ลัทธิประชานิยม “ชิมช้อปใช้” ก็อยู่ไม่ได้ ต้องไม่ลืม

บทเรียนล้ำค่าของโบลิเวีย

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image