น.2 ทิศทาง‘ธนาธร-อนค.’ 64ส.ส.ถือหุ้นสื่อสะดุ้ง

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

คําตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักค่อนข้างมากและมีความเป็นไปได้สูงที่นายธนาธรจะถูกดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 151 เพียงแต่ผิดหรือถูกเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันต่อในชั้นศาล เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กกต.เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ ฉะนั้น กกต.อาจจะไม่มีทางอื่น นอกจากมีเหตุในเรื่องที่ศาลได้วินิจฉัยว่ามีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 151

ทั้งนี้ มาตรา 151 กกต.จะต้องดำเนินการไปสู่ศาลอาญา ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพราะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายเขียนไว้เป็นการเฉพาะ และเนื่องด้วยมาตรา 151 เป็นกฎหมายอาญาซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น การจะลงโทษต้องปราศจากข้อสงสัย จึงต้องมีการพิสูจน์เจตนาให้มีความชัดเจน โดยจะต้องดูว่านายธนาธรรู้หรือไม่ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการสมัคร ส.ส. ถ้าไม่รู้ก็ไม่ผิดเพราะถือว่าเจตนาไม่ชัดเจน และไม่สามารถดำเนินการทางอาญาได้ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ถ้ารู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติต้องห้ามจะมีความผิดอย่างแน่นอน โดยโทษตาม บทบัญญัติ มาตรา 151 ถือว่าค่อนข้างรุนแรง จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังลงโทษตัดสิทธิในทางการเมืองอีกถึง 20 ปี ถ้าเป็น ส.ส.ได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือค่าตอบแทนแล้ว ก็ต้องคืนทั้งหมด

นอกจากนี้ สำหรับคดีของคุณธนาธรมีโอกาสไปสู่มาตรา 132 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอาจจะต้องมีการวินิจฉัยอย่างตีความค่อนข้างสูง เพราะมาตรา 132 เขียนไว้ว่า ถ้ามีเหตุให้การเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคได้รู้อยู่ อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย แต่คราวนี้ในมาตรา 132 อาจจะต้องตีความไกลมากกว่ามาตรา 151 ซึ่งค่อนข้างชัดเจนกว่าในการดำเนินคดีอาญากับตัวบุคคล ดังนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้อนาคตใหม่ถูกยุบพรรค แต่ยังไกล เพราะต้องวินิจฉัยว่าอะไรคือความไม่สุจริตเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง การที่นายธนาธรลงสมัครแล้วถูกวินิจฉัยว่าถือครองหุ้นสื่อ ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเสมอภาคหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องคุยอีกมาก

Advertisement

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ 64 ส.ส. ที่มีคดีค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ฝ่ายค้าน 32 คน และรัฐบาล 32 คน ในบางกรณีอาจจะมีความใกล้เคียงกับนายธนาธร แต่ในบางกรณีก็ไม่เหมือน เช่น บริษัทที่ดำเนินกิจการ ไม่ได้ดำเนินกิจการเรื่องสื่อ เพียงแต่ได้เขียนอุปสงค์ของบริษัทในการทำเรื่องสื่อ ซึ่งต่างจากนายธนาธรที่ดำเนินการเรื่องสื่อจริง แต่ไม่ได้จดแจ้งเลิกการพิมพ์เท่านั้น ซึ่งอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็มีความใกล้เคียง จึงอาจเป็นบรรทัดฐานไปวินิจฉัยได้

นอกจากนี้ มาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ ในอดีตไม่เคยมี บทบัญญัติมาตรานี้มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ช่วงปี 2548-2549 มีนายกรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาเรื่องการถือหุ้นสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง และการซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ จนสุดท้ายนำมาสู่การชุมนุมประท้วง จนเกิดการรัฐประหารปี 2549 พอปี 2550 จึงมีการเขียนขึ้น แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพของสื่อ และมีสภาพบังคับในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดไว้เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งในอดีตหากพบคนที่มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติทั้งก่อนหรือหลังเลือกตั้งจะหมดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. แต่สำหรับกฎหมายเลือกตั้งปัจจุบัน ไม่เพียงแค่นั้น แต่ยังนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ได้ด้วย

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร สิ้นสุดลงกรณีมีการถือครองหุ้นสื่อ สิ่งที่ตามมาคือการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 151 ประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) กกต.จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีการเมืองภายใน 1 เดือน เพื่อให้พิจารณาว่านายธนาธรทำผิดตาม พ.ร.ป.หรือไม่ ซึ่งศาลอาจเปิดโอกาสให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม และถ้าเปิดโอกาสให้แสดงหลักฐานเพิ่ม นายธนาธรก็ต้องเตรียมพยานหลักฐาน และแนวทางการต่อสู้ที่ควรมีความชัดเจนไปหักล้าง

แต่ถ้าประเมินในสถานการณ์ขณะนี้ความได้เปรียบของนายธนาธร จะมีน้อยกว่า กกต.ที่มีคำวินิจฉัยศาลเป็นหลักอิงไว้ ถือเป็นโจทย์ที่หนักและเหนื่อยสำหรับนายธนาธร ขณะที่การต่อสู้ในศาลอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ระยะเวลาดังกล่าวนายธนาธรไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในฐานะหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ หรือหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระดับใด ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินนายธนาธรสามารถลงสมัครได้ แต่ถ้าศาลตัดสินแล้วถ้าเป็นคุณคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นโทษก็จะทำให้นายธนาธรถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้งหมด และสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะมีการตัดสินโทษทางอาญา ก็ทำให้นายนายธนาธรเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองนานพอสมควร

ในส่วนของโทษจำคุกเชื่อว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่นายธนาธรหวั่นวิตก เพราะเท่าที่ดูจากการสัมภาษณ์แล้ว นายธนาธรเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการต่อสู้ อาจทำให้มีความแกร่งมากขึ้นและได้ใจจากมวลชนที่ให้การสนับสนุนมากขึ้น มีโอกาสได้ใจจากคนชั้นกลาง หากในอนาคตนายธนาธรถูกจำคุก แต่หลังจากออกมาจากคุกแล้ว แม้ว่าจะไม่มีสิทธิทางการเมือง แต่การเคลื่อนไหวของนายธนาธร ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออก หรือเคลื่อนไหวนอกสภาด้วยรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ถ้าหากว่านายธนาธรยังเดินหน้าในการเคลื่อนไหว เชื่อว่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองในเชิงความคิดที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายธนาธร คนในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่า ความเคลื่อนไหวในอนาคตจะเป็นสิ่งที่มีความคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าเป็นคนอื่นอาจถอยไปแล้วหรือขอ
ถอนตัว เพราะกลัวเปลืองตัว อยู่เฉยๆ น่าจะสบายกว่า ที่สำคัญนายธนาธรไม่มีปัญหาเรื่องฐานะ

เมื่อมองถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ จะมีความสุ่มเสี่ยงพอสมควร จากข้อร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้าสู่ระบบการพิจารณาขององค์กรต่างๆ ประเมินว่ามีโอกาสถึงการยุบพรรค แต่ถ้าสมาชิกพรรคมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน การยุบพรรคไม่มีปัญหายุบแล้วตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ หรือ ส.ส.เดิมไปอยู่พรรคอื่น ในพรรคอนาคตใหม่จะมีคน 2 กลุ่มที่อาจมีความแตกต่าง กลุ่มแรก คือ คนที่ร่วมกันก่อตั้งมีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างมั่นคง กลุ่มนี้คงไม่ไปไหน อีกกลุ่มอาจจะเข้ามาแล้วบังเอิญพรรคประสบผลสำเร็จในจังหวะที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ กลุ่มนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจถูกดึงไปพรรคอื่นที่มีข้อเสนอหรือทางเลือกดีกว่า

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

หากดูจากเกณฑ์การเมืองตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ กกต.จะยื่นไปสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป เพราะจะต้องปิดเกมนายธนาธรให้ได้ แต่ส่วนตัวมองว่ากระแสสังคมตอนนี้มีความเห็นที่แตกต่างจากการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก ซึ่งไปเข้าเกมที่ทางอนาคตใหม่ (อนค.) วางเอาไว้ นั่นคือสภาวะความอยู่ไม่เป็น ส่งผลให้ธนาธรมีความชอบธรรมมากขึ้นในการทำกิจกรรมทางการเมืองนอกสภา ประเด็นนี้เชื่อว่าทางอนาคตใหม่เตรียมการเอาไว้พอสมควร และเชื่อว่าอนาคตใหม่ก็รู้ว่าจะโดนพิพากษาในลักษณะนี้

ที่สำคัญคือ อนาคตใหม่รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามต้องคิดการต่อ เพราะคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการถือหุ้นสื่อของบรรดานักการเมืองคนอื่นๆ ซึ่งมีทั้ง ส.ส.จากซีกรัฐบาล และฝ่ายค้าน ประมาณ 60-70 คน ซึ่งหากใช้บรรทัดฐานเดียวกันอาจจะหลุดออกจากตำแหน่งได้ แปลความว่า หาก ส.ส.หลุดจากตำแหน่งในสถานการณ์ที่กระแสนิยมของอนาคตใหม่เพิ่มขึ้น ถ้ามีการจัดการเลือกตั้งซ่อม พื้นที่เหล่านี้อาจจะตกเป็นของอนาคตใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนขั้วได้ จากประเด็นนี้จึงคิดว่าการเมืองอีกฟากจำเป็นจะต้องปิดเกมนายธนาธรให้ไวที่สุด อย่างน้อยที่สุดจะต้องให้นายธนาธรยุติบทบาททางการเมืองให้ได้อย่างน้อย 20 ปี ถ้าไม่จัดการธนาธรตอนนี้และศาลรัฐธรรมนูญใช้บรรทัดฐานเดียวกันในการพิพากษาตัดสิน ส.ส.อีก 60-70 คน นั่นหมายความว่านายธนาธรอาจเป็นนายกฯคนต่อไปได้ จึงต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ไวที่สุด เพื่อให้ไปต่อไม่ได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องประเมินให้มาก คือการมีหรือไม่มีอยู่ของธนาธรซึ่งตอนนี้จะเป็นประโยชน์ทางการเมือง แต่ความรู้สึกของประชาชนได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มที่เห็นตรงกันข้ามกับอนาคตใหม่ได้ด้วย การตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี เป็นบทลงโทษที่ส่วนตัวมองว่ารุนแรงเกินไป เพราะคือการทำลายสภาวะความเป็นพลเมือง เหมือนประชาชนที่สูญเสียสภาวะความเป็นพลเมือง ซึ่งหากฝ่ายตรงข้ามเล่นเกมเช่นนี้ ก็ยากที่นายธนาธรจะต่อสู้และอาจจะต้องยอม อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ทำให้ความนิยมชมชอบในตัวนาย
ธนาธรเพิ่มขึ้นอย่างเท่าทวี ทำให้สามารถควบคุมวาทกรรมและความชอบธรรมทางการเมืองในการสร้างแนวร่วมได้ เพื่อไปเติมในจุดที่เขาสร้างขึ้นมา คือ ยุทธศาสตร์ “อยู่ไม่เป็น” ให้มีแรงกระเพื่อมมากขึ้น เหมือนวาทกรรมก่อนหน้านี้ที่เรียกว่า “ไพร่-อำมาตย์” หรือ “2 มาตรฐาน”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

นายธนาธรมีโอกาสต่อสู้คดีเหมือนคดีทั่วไป ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่นำมาหักล้างข้อกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่ามีเจตนากระทำผิดกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาหรือไม่ ตามปกติกระบวนการพิจารณาศาลฎีกา จะใช้พยานหลักฐานเป็นสำคัญว่ามีน้ำหนักและหนักแน่นเพียงพอต่อการพิจารณาลงโทษหรือไม่

ส่วนตัวคิดว่าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าส่งผลต่อการพิจารณาของศาลฎีกาฯ เพราะมีความเป็นอิสระ ไม่สามารถชี้นำได้ แต่ผลการตัดสินของศาลฎีกาฯ อาจสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้ายึดคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคดีนายธนาธร เป็นบรรทัดฐาน อาจมีปัญหาเพราะเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่สามารถใช้ตัดสินคดี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน กว่า 60 คน ที่ถือหุ้นกิจการสื่อได้ เพราะพฤติกรรมเจตนาและวัตถุประสงค์ถือหุ้นอาจแตกต่างกันไป จึงต้องพิจารณาเป็นรายไป ไม่สามารถเหมารวมได้

อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่ถือหุ้นกิจการสื่อ เมื่อเทียบเคียงคดีนายธนาธรนั้น ต้องดูพฤติกรรมและเจตนาถือหุ้นดังกล่าวเป็นหลัก ว่าขัดหรือผิดต่อกฎหมายหรือไม่ หากดูคดีนายธนาธรเห็นได้ว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเชื่อว่าโอกาสที่ ส.ส.ดังกล่าวจะถูกตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส.เหมือนนายธนาธร มีเพียงบางรายเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขึ้นอยู่ว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image