เดินหน้าชน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 : โรคเลื่อน : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

เดินหน้าชน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 : โรคเลื่อน : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

เดินหน้าชน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 : โรคเลื่อน : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องของรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562

โดยเรื่องที่ 12 คือ การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ซึ่งแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

Advertisement

พรรคประชาธิปัตย์ก็ยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 ของเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

จึงดูเหมือนว่า พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขัดข้องและพร้อม

ที่จะร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อสภา เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ซึ่ง “ญัตติด่วน” นี้ ดูเหมือนว่า จะไปได้สวย เพราะจะมีเสียงตอบรับเป็นส่วนใหญ่

พรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่อยากตกขบวน โดยส่งสัญญาณว่า พร้อมที่จะร่วมขบวนการ

มีการหารือกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน จนได้โควต้าของ กมธ.วิสามัญฯ ว่ามีจำนวน 49 คน แบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน และฝ่ายค้าน 19 คน

นอกจากนี้ บางพรรคยังมีการเปิดชื่อของบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็น กมธ.แล้ว

แต่ที่มีปัญหาคือ การแย่งชิงเก้าอี้ประธาน กมธ. โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน กมธ. ซึ่งแกนนำพรรคฝ่ายค้านหลายคนก็ไม่ขัดข้อง

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วย โดยมีแกนนำพรรคบางคนออกมาระบุถึงความเหมาะสมและถามหามารยาททางการเมือง ว่าประธาน กมธ.ควรเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ และมีการเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นคู่แข่งกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ล่าสุดก็ข่าวว่า จะดัน ไพบูลย์ นิติตะวัน มาสู้กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการชิงการนำทางการเมืองหรือไม่ หรือหวังสร้างผลงานให้พรรค หรือต้องการคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่า เป็นเกมการเมืองเพื่อยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้าออกไปหรือไม่

ขณะที่ญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องเจอโรคเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอที่ประชุมสภาขอเลื่อนญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา แต่ถูก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐคัดค้าน

สุดท้ายที่ประชุมสภาก็มีมติ 241 เสียงต่อ 229 เสียง ไม่ให้เลื่อนญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา

ทำให้ไม่มีคำตอบว่า สภาจะพิจารณาญัตติด่วนนี้ในวันไหน

และเชื่อกันว่า จะมีการยื้อญัตติด่วนนี้ให้นานที่สุด

เพราะมองกันว่า พรรคพลังประชารัฐเกรงว่า จะพลาดท่าให้กับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ถ้าตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยยังกอดคอกันทำงานทางการเมือง

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีโอกาสสูงกว่าที่จะได้นั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.วิสามัญฯ

ทรงพร ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image