‘ชินโสะ อาเบะ’ ครองตำแหน่งนายกฯ ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

“ชินโสะ อาเบะ” ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ “ชินโสะ อาเบะ” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2019 รวมเป็นจำนวน 2887 วัน ทำลายสถิติอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

หาก “ชินโสะ อาเบะ” ปราศจากอุปสรรค
ใดๆ และสามารถบริหารประเทศจนครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2021 ก็จะรวมเป็นจำนวน 3567 วัน

ถือเป็นที่สุดของที่สุด

Advertisement

กรณีนี้ย่อมต้องถือว่าการบริหารบ้านเมืองของ “ชินโสะ อาเบะ” สอดคล้องกับสภาพของประเทศและไม่ย้อนแย้งกับเสียงเพรียกเรียกร้องของประชาชน จึงสามารถอยู่ยาวราวปาฏิหาริย์

ส่วนผลงานและความสามารถ ต้องให้คนญี่ปุ่นพินิจพิเคราะห์พฤติกรรมพฤติเหตุเอาเอง

ทว่า แนวทางการเป็นข้าราชการการเมืองนั้น สมควรให้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ของนักการเมืองอื่นยึดถือเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้ รวมทั้งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงด้วย

Advertisement

ตั้งแต่กาลอดีตสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่นมีความสับสนวุ่นวาย อำนาจทางการเมืองถูกพรรคเสรีประชาธิปไตยครอบงำ (Liberal Demacratic Party)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคแอลดีพีผูกขาดเวทีการเมืองเกือบทั้งหมด ในบรรดานายกรัฐมนตรี 52 คน ตกเป็นของพรรคแอล
ดีพีถึง 41 คน

เพราะเกิดจากความละอ่อนทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน เมื่อเป็นรัฐบาลก็มีอายุสั้น

“ชินโสะ อาเบะ” เป็นนายกรัฐมนตรีที่โชคอำนวย กล่าวคือ ฝ่ายค้านเกิดการแตกแยกภายในพรรค ส่วนพรรคแอลดีพีก็หาคู่แข่งที่จะมาวัดรอยเท้าได้ไม่

สองพฤติเหตุเจือสมกัน จนเกิดสถานการณ์ใหม่

1 สถานการณ์สร้างวีรบุรุษชื่อ “ชินโสะ อาเบะ”
1 สถานการณ์ทางการเมืองนิ่งปราศจากคลื่นลม

ปี 2011 เป็นปีมหันตภัยญี่ปุ่น เกิดเหตุสึนามิ
และแผ่นดินไหว มีผู้คนตายเจ็บจำนวนมาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสะสมตลอดปี ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า

ช่วงระยะเวลา 7 ปี มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 6 คน

กรณีไม่ต่างไปจากการเปลี่ยน “โคมไฟ”

“ชินโสะ อาเบะ” เป็นนักการเมืองที่เล่นการเมืองเก่ง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนต้องการความเสถียรในแผ่นดิน เขาและทีมงานพร้อมอยู่แล้ว สถานการณ์ก็พร้อมที่จะให้เขาทำงาน

ดังนั้น โอกาสจึงเกิดขึ้นหลังจากวิกฤต
ต่อมาปี 2012 เขาได้ผลักดันนโยบายที่เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์อาเบะ”
เป้าหมายคือ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
แม้ว่าสามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่อัตราการเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7 ถึง 2 เท่านั้น และหมุนเวียนไปมาไม่นิ่ง
จึงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีความสำเร็จ
ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ

1 ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซียไม่มีความก้าวหน้า
1 ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่นตกต่ำถึงที่สุด
1 โครงการเขตการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ล้มเหลวสิ้นเชิง
1 นโยบายแก้ปัญหาผู้สูงวัย ยังไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ได้รับการต่อต้านที่ร้อนแรง ทว่า “อาเบะ” ยังไม่ตายใจ และจะด้นดั้นใช้เวลาที่เหลืออยู่เล่น “Melody” เดิม

จึงนำมาซึ่งการวิพากษ์ในวงกว้าง..

อย่างไรก็ตาม “อาเบะ” เป็นนักการเมืองที่มีไหวพริบ รู้หลบรู้หลีก คงไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า

การอันเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์อาเบะ” นั้น ก็คือการพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะเงินเฟ้อเงินตึง

กรณีเป็นการเลียนแบบสหรัฐเมื่อปี 2010 ศัพท์วิชาการเรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) โดยสหรัฐได้ใช้มาตรการ QE1, QE2 ตามลำดับ

การที่ “อาเบะ” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ยาวที่สุด ย่อมมีการเตรียมการไว้แล้ว เตรียมโดยแก้ไขข้อบังคับของพรรค โดยให้หัวหน้าพรรคสามารถอยู่ได้ 3 สมัยต่อเนื่องกันได้รวมเป็น 9 ปี ซึ่งเป็นการสร้างระบบมาสนับสนุนตำแหน่งให้อยู่ยาว และก็ได้อยู่ยาวสมดังใจ

ไม่ว่าผลงานเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจ “อาเบะ” ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ได้ รู้จักช่วงชิงโอกาส และเป็นนักการเมืองที่ชอบทำงานท้าทาย

“อาเบะ” สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างดียิ่ง สอดคล้องกับอมตะวลีของ “ชาลส์ ดาวินส์” ที่ว่า

“มนุษย์หรือสรรพสิ่งทั้งหลายที่จะอยู่รอด มิใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุด หรือมีความฉลาดที่สุด หากเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้”

แม้ผลงานของ “อาเบะ” ยังไม่ถือว่าได้สำเร็จเป็นรูปธรรม

แต่ “อาเบะ” สามารถปรับตัวได้ จึงอยู่รอด รอดถึง 2887 วัน

และมีความมุ่งมั่นที่จะอยู่ต่อจนครบวาระรวม 3567 วัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2021

ความตั้งใจของ “ชินโสะ อาเบะ” ก็มิใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image