ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อบาทหลวงฝรั่ง มาตั้งโรงเรียน…ในสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผู้เขียน…ขอเรียกบรรดาชาวตะวันตก (ฝรั่ง ) ทั้งหลายที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยามตั้งแต่ราว 400 ปีที่แล้วในทุกนิกาย ทุกชาติ แบบง่ายๆ ว่า “บาทหลวง”

บาทหลวง แยกกันเสี่ยงตาย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลก รอนแรมไปดินแดนไกลโพ้น รวมทั้งมาถึงสยาม ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญ บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย เพื่อขอไปเผยแผ่คริสต์ศาสนา..บาทหลวงศิษย์พระเยซู โดนจับ โดนสังหารโดยชาวพื้นเมืองบางแห่ง ที่ไม่ขอเป็นมิตรด้วย…ก็มีจำนวนไม่น้อย

การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา โดยกลุ่มที่เข้ามาในช่วงแรกนั้นเป็นบาทหลวงชาวโปรตุเกสและต่อมา คือ บรรดาบาทหลวงจากฝรั่งเศสซึ่งนับถือศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อยุธยาจะรุ่งเรืองเฟื่องฟู หรือจะทำศึกสงคราม บาทหลวงเหล่านี้ ก็ตั้งใจทำงาน ขอสร้างโรงเรียน สร้างโบสถ์ ชักชวนเด็กๆ ในสยามให้มาเข้าเรียนหนังสือ เด็กสยามบางส่วนเลยโชคดีที่อ่านออก เขียนได้ โดยไม่เสียเงิน

บาทหลวงจากหลายชาติในยุโรป มิได้ตั้งใจจะทำงานเฉพาะในสังคมเมืองเท่านั้น บุคคลเหล่านี้มีความปีติ กล้าหาญ มีศรัทธาต่อพระคริสต์ผู้เป็นศาสดา ที่จะได้ออกไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อ “เข้าถึง” ประชากรทุกหมู่เหล่า สูง ต่ำ ดำ เตี้ย นำคำสอนของพระคริสต์ไปสู่เพื่อนมนุษย์ เน้นการสร้างโรงเรียนและสถานพยาบาล ที่มนุษย์ต้องการและ “จับต้องได้”

Advertisement

ยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องของโรงเรียนสอนหนังสือ สอนวิชาการทางโลก วิชาเลขคณิต ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ หนังสือ หนังหา ฯลฯ เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้จัก การศึกษาเล่าเรียนมีเฉพาะในรั้ว ในวัง และเด็กสยามบางส่วนได้เรียนภาษาบาลีบ้าง ภาษาไทยบ้าง สวดมนต์ในวัด

บาทหลวง มิชชันนารี จะสอนวิชาการทางโลก คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เทววิทยา สอนภาษาให้มนุษย์ในป่าดง อ่านออกเขียนได้ สอนศาสนาให้เป็นหลักยึด ..บางชุมชนก็รับ บางชุมชนก็เฉยเมย บางชุมชนก็ปฏิเสธถึงขนาดขับไล่ย่ำยีบาทหลวงทั้งปวง

ศาสนาคริสต์ ไม่เน้นพิธีกรรม หากแต่เน้นเรื่องของจริยธรรมและศีลธรรม มีพระเจ้าองค์เดียว คือ พระคริสต์

Advertisement

การเดินทางไปทั่วโลกของบาทหลวง เป็นไปตามพระบัญชาของพระคริสต์ ที่กล่าวไว้ว่า …“เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลกประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน..”

พระสันตะปาปาที่เสด็จมาเยือนไทย เมื่อ 20-23 พฤศจิกายน 2562 นี้ คือ เหตุการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใคร่คุ้นชิน หากแต่คนไทยชื่นชมปีติยินดี สังคมไทยมิได้เห็นท่านเป็น “คนแปลกหน้า” แต่ประการใด เราเคยเห็นท่านโป๊ปจากสื่อ เพราะประมุขนครวาติกัน ท่านต้องไปปรากฏตัว มีภารกิจต้องพบปะกับคริสต์ศาส
นิกชนในฐานะประมุขของศาสนจักรที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก…

ศาสนาคริสต์ เป็นหนึ่งใน 5 ศาสนาในประเทศไทยที่กรมการศาสนารับรอง สถิติในปี 2558 มีผู้นับถือคริสต์ในไทยราว 8 แสนคน

ข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ระบุว่า…

โปรตุเกส เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกในย่านตะวันออก และทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2060 จากนั้นก็เดินทางเข้า-ออก ทำมาค้าขายอยู่ในสยาม

ชาวโปรตุเกสนำปืนไฟมาเป็นทหารอาสา ในสงครามไทย-พม่าครั้งแรกที่เมืองเชียงกรานใน พ.ศ.2081 ในครั้งนั้นมีทหารโปรตุเกสถือปืนไฟ ออกรบไปกับทหารของอยุธยา.. ยิงพม่าแตกพ่ายไป

สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ดิน ต.บ้านดิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองตะเคียนให้พวกโปรตุเกสตั้งบ้านเรือนอาศัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สร้างโบสถ์เพื่อประกอบศาสนกิจได้ ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า “หมู่บ้านโปรตุเกส” ในปัจจุบัน

โบสถ์โปรตุเกสแห่งนี้ เป็นหมุดหมายตัวที่ 1 ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ลงหลักปักฐานในเมืองไทย

หลังจากนั้น ชาวโปรตุเกสก็ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา…มิชชันนารีคณะแรกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2110 จากช่วงเวลาดังกล่าว ชาวโปรตุเกสเพิ่มจำนวนขึ้น บาทหลวงตาชาร์ด (Tachard) บันทึกไว้ว่า ที่กรุงศรีอยุธยามีชาวโปรตุเกสอยู่กันมากกว่า 2,000 คน

ต่อมา บรรดามิชชันนารีจากยุโรปก็ทยอยกันเข้ามาในสยาม มีความสับสนอลหม่านพอสมควรสำหรับบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่เป็น “เกาเหลา” กันในยุโรปมาก่อนแล้ว…

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอยุธยาในด้านบวก คือ การตั้งโรงเรียน สถานศึกษาใหญ่น้อยเพื่อทำหน้าที่สอนศาสนา สอนหนังสือ

นักบวช บาทหลวง ต่างชาติทุกสำนักที่เข้ามาในสยาม ล้วนปลื้มใจกับการต้อนรับ.. ชาวสยามเป็นมิตรกับบาทหลวงชาวต่างชาติ เออออห่อหมก ท่าทีของชาวสยามแตกต่างจากแผ่นดินจีน และดินแดนอื่นๆ ที่ปฏิเสธคริสต์ศาสนาถึงขนาดทำสงครามขับไล่ และสังหารชาวต่างชาติ

หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ บันทึกไว้ว่า พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ (Mgr. Lambert de la Motte) เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2205 ..การทำงานเริ่มแน่นแฟ้น

ในเวลานั้น..กรุงศรีอยุธยามีชนชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข พระมหากษัตริย์ฯ ทรงอนุญาตให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าปฏิบัติศาสนกิจและลัทธิของตนได้อย่างอิสระ

ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราว พ.ศ.2141 ฮอลันดาได้เข้ามา และในราว พ.ศ.2155 อังกฤษก็มาถึง ทั้งฮอลันดาและอังกฤษนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่ตั้งขึ้นใหม่ และเป็นคนละแนวทางกับนิกายคาทอลิกในยุโรป ฮอลันดาและอังกฤษจึงร่วมกันลดทอน ห้ำหั่น อำนาจของโปรตุเกสในภูมิภาคนี้ รวมทั้งในสยาม

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระสันตะปาปาได้ออกคำสั่งไปยังพระสังฆราชในฝรั่งเศส ให้มาเผยแผ่ศาสนาในตะวันออก และกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2205 ซึ่งบาทหลวงปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ หนึ่งในกลุ่มนี้ได้เขียนรายงานไปยังพระสังฆราชแบบปรีดาปราโมทย์ว่า…

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าในโลกนี้ จะหาเมืองไหนที่จะมีศาสนามากอย่าง และที่อนุญาตให้ปฏิบัติตามศาสนานั้นๆ ได้ เท่ากับเมืองไทยเห็นจะหาไม่ได้แล้ว พวกที่ไม่ได้ถือศาสนาคริสเตียนก็ดี พวกเข้ารีตก็ดี พวกมหะหมัดก็ดี ซึ่งแยกกันออกเป็นคณะเป็นหมู่ ก็ปฏิบัติการศาสนาตามลัทธิของตัวเองได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อห้ามปรามกีดขวางอย่างใดเลย พวกชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น มอญ เขมร แขกมะละกา ญวน จาม และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ ก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทย พวกเข้ารีตลัทธิคาทอลิกมีอยู่ประมาณ 2,000 คน คนเหล่านี้โดยมากเป็นชาวโปรตุเกสซึ่งได้ถูกไล่มาจากอินเดีย จึงได้หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่บ้านหนึ่งต่างหาก พวกโปรตุเกสเข้ารีตเหล่านี้ มีวัดเข้ารีตอยู่ 2 วัด 1 วัดนั้นอยู่ในความปกครองของบาทหลวงคณะเยซุอิต อีกวัด 1 นั้นอยู่ในความดูแลของบาทหลวงคณะเซนต์โดมินิก บาทหลวงทั้ง 2 คณะนี้ และพวกเข้ารีตทั้งหลาย ก็ปฏิบัติการศาสนาได้ทุกอย่างดุจอยู่ในเมืองโกอาเหมือนกัน”
ขอชวนท่านผู้อ่าน พูดคุยเรื่องการตั้งโรงเรียนครับ…

การจัดการศึกษาคาทอลิกในสมัยอยุธยาแบบเป็นระบบ เริ่มต้นใน พ.ศ.2208 เมื่อพระสังฆราช ปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลามอตต์ (Pierre Lambert De La Motte) ตั้งโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกขึ้นในประเทศสยามมีชื่อว่า วิทยาลัยทั่วไป (General College) หรือสามเณราลัย เพื่อให้การฝึกอบรมเยาวชนให้เป็นบาทหลวง เพื่องานเผยแผ่ศาสนา อย่างไรก็ตาม โรงเรียนดังกล่าวก็รับเด็กจากชนชาติอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่อายุ 10 ขวบเศษขึ้นไป เพื่อเรียนวิชาที่เหมือนกับหลักสูตรในประเทศฝรั่งเศส ทั้งทางวิชาการทางโลกและทางศาสนา

เยาวชนทั้งหลายได้เรียน วิทยาศาสตร์ ปรัชญาและเทววิทยา หลังจากนั้นบรรดามิชชันนารีที่ได้ออกไปประกาศศาสนาในจังหวัดต่างๆ ได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่ง ดังต่อไปนี้ ที่ภูเก็ต ใน พ.ศ.2214 ที่ลพบุรี ใน พ.ศ.2216 ที่บางกอก ใน พ.ศ.2217 ที่พิษณุโลก ใน พ.ศ.2218 ที่จันทบุรี ใน พ.ศ.2250

โรงเรียนที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเป็นเอกเทศ อยู่นอกวัดและนอกวัง ให้บริการในด้านการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นโรงเรียนตามความหมายทั่วไปและเป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิก

บาทหลวงฝรั่งเศสเข้ามาจัดระบบการศึกษา เรียกว่า วิทยาลัยการศึกษา จัดการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.โรงเรียนเทววิทยา จัดสอนปรัชญาและศาสนา

2.โรงเรียนมนุษยศาสตร์ จัดสอนเกี่ยวกับความรู้ด้านมานุษยวิทยา สังคม ประวัติศาสตร์ และความรู้วิทยาการทั่วไป

3.โรงเรียนขั้นปฐม จัดสอนเด็กที่ยังไม่มีพื้นฐานมาก่อน โดยใช้ภาษาละตินและฝรั่งเศสเป็นหลัก

เยาวชนในสยามได้เรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้ มีการสอบแข่งขัน มีเยาวชนจากสยามชนะเลิศ เดินทางไปนครวาติกัน และได้รับทุนไปเรียนต่อในฝรั่งเศสถึงระดับปริญญา

หลังจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อมา…ในช่วงที่สมเด็จพระเพทราชาและพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ …ไม่โปรดชาวต่างชาติจากตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส ถูกขับไล่ออกนอกราชอาณาจักร โรงเรียนต่างๆ ของชาวต่างชาติเป็นอันเลิกรา ปิดกิจการ…

การเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 นั้นทำให้กลุ่มบาทหลวงกระจัดกระจาย ส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งชุมชนที่บางกอก บางส่วนหนีไปปักหลักที่จันทบุรี..เชื่อมต่อกับคริสต์ศาสนิกชนใน กัมพูชา เวียดนาม

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี มิชชันนารีได้เดินทางกลับเข้ามาในเมืองสยามอีกครั้ง ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระเจ้าตากสิน หลังจากนั้น มิชชันนารีได้ตั้งต้นทำงานใหม่ คือ การเปิดโรงเรียนสอนเยาวชนไทยให้รู้หนังสือควบคู่ไปกับการสอนศาสนาแก่ผู้สนใจ

มิชชันนารีทั้งปวงจัดการศึกษาแบบ “มืออาชีพ” เรียนรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉาน เรียบเรียง จัดพิมพ์หนังสือ สอนภาษาไทยผสมกับอ่านด้วยอักษรโรมัน ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อเป็นเอกสารสำหรับการเรียนการสอน

ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์ที่เข้ามาในสยาม มีหลักฐานปรากฏชัดการเข้ามาในยุคในหลวง ร.3 โดยคณะมิชชันนารีของฮอลันดา ได้ส่งศาสนาจารย์ เฟร ดริค ออกัสตัส กุตสลาฟ ชาวเยอรมัน กับคณะมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ เข้ามาในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2371

โรงเรียนของชาวต่างชาติเพื่อนำคำสอนของพระคริสต์มาเผยแผ่ และสร้างสถานพยาบาล เป็นไปอย่างคึกคัก เป็นที่ชื่นชมของชาวสยาม ที่สำคัญคือ ได้รับการต้อนรับจากชาวสยามด้วยความอบอุ่น

18 กรกฎาคม พ.ศ.2378 ศาสนาจารย์ คนสำคัญ จบการศึกษาแพทย์ศาสตรบัณฑิตจากอเมริกา ขออาสาพระคริสต์เข้ามาทำงานในสยาม คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) หรือที่คนไทยยุคนั้นเรียกกันว่า หมอปลัดเล ที่ได้สร้างคุณูปการให้แผ่นดินสยามอย่างใหญ่หลวง

หมอปลัดเลอุทิศกายใจด้วยศรัทธาต่อพระคริสต์ ท่านรักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษและอหิวาตกโรคในสยาม นำการผ่าตัดเข้ามาครั้งแรก การทดลองปลูกฝีดาษในสยาม ริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์ภาษาไทย เริ่มจากจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่น และจัดพิมพ์หนังสือ “บางกอกกาลันเดอร์” ซึ่งเป็นจดหมายเหตุรายวัน

ข้อมูลจาก หนังสือศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม 2554 ระบุว่า… ใน พ.ศ.2378 หมอบรัดเลย์ได้เดินทางเข้ามา และได้เข้าร่วมกลุ่มกับมิชชันนารีที่เข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว .. 2 ปีต่อมา หมอบรัดเลย์ใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านพักเป็นสถานที่เผยแผ่ศาสนา ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ ทั้งนี้ การเรียนการสอนก็เริ่มขึ้นโดยภรรยา ได้สอนหนังสือให้กับเด็กหญิงในละแวกใกล้เคียง แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ใน พ.ศ.2390 คณะมิชชันนารีซึ่งประกอบด้วยนายสตีเฟน แมตตูน หรือที่คนไทยเรียกว่า หมอมะตูน และนายแพทย์ ซามูเอล เรย์โนลด์ส เฮ้าส์ …คนไทยเรียกว่า “หมอเหา” ก็ได้เดินทางเข้ามาเสริมการทำงานของศาสนจักรของพระคริสต์

กลุ่มมิชชันนารีกลุ่มนี้กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีเอกชนหญิงและชายแห่งแรกขึ้นในสยาม กล่าวคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

พ.ศ.2395 โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้นที่บริเวณย่านวัดอรุณฯ ต่อมาหมอเหาก็ได้เดินทางกลับไปอเมริกา แต่งงาน และพาภรรยากลับเข้ามายังสยามด้วยกัน

ในปี พ.ศ.2400 โรงเรียนชายที่ตั้งขึ้นที่ย่านวัดอรุณฯ ก็ย้ายไปอยู่ยัง ต.สำเหร่ ภรรยาของหมอเหา ก็ได้ไปช่วยสอน ณ โรงเรียนแห่งนี้ และจากการทุ่มเทของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbiterian) ในสมัยในหลวง ร.4 ในที่สุด โรงเรียนแห่งนี้ถูกพัฒนาขึ้นเป็น โรงเรียน “กรุงเทพคริสเตียน” ในปัจจุบัน

ส่วนภรรยาหมอเหา อยากให้เด็กผู้หญิงในสยามได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เธอชวนเด็กหญิงจำนวนหนึ่งให้มาเรียนหนังสือที่บ้านพักของเธอ แล้วยังได้สอนให้เย็บเสื้อผ้า โดยจักรเย็บผ้าที่เธอนำมาด้วยจากอเมริกา เธอได้สอนให้เด็กๆ ตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อเอาไปให้แก่เด็กนักเรียนชายที่สำเหร่

ขณะเดียวกันนั้น เธอพยายามสร้างรายได้ให้กับเด็กหญิงดังกล่าวด้วยการขายผลิตภัณฑ์ หากแต่เด็กหญิงที่เรียนเริ่มหายไป..ลดน้อยลง

ในที่สุด…แหม่มอเมริกันท่านนี้ จึง “ขอจ่ายค่าจ้าง” ให้กับเด็กหญิงที่มาเรียนหนังสือกับเธอ เท่ากับรายได้ที่เด็กเหล่านี้จะได้รับจากการทำสวน…ปรากฏว่ามีเด็กหญิงกลับมาเรียนจำนวนเพิ่มมากขึ้น
แปลว่า…จ้างให้มาเรียนหนังสือครับ

พ.ศ.2414 ผ่านไปราว 10 ปี เธอเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงเดินทางกลับไปอเมริกา ได้ไปรายงานภารกิจการเรียนการสอนในสยาม ..เธอได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรและได้รับการบริจาคเงินทุนเพื่อนำมาสนับสนุนงาน
ของเธอสำหรับการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงในสยาม

แหม่มเฮ้าส์ ผู้ใจบุญที่ทุ่มเทให้กับพระคริสต์ เดินทางกลับมาสยาม พร้อมกับเงินจำนวน 3,000 ดอลลาร์ เงินจำนวนนี้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก ของโรงเรียน “มิชชันนารี สำหรับนักเรียนหญิง” แห่งแรกในสยาม เริ่มเปิดทำการสอนในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2417 โดยคนทั่วไปเรียกโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนวังหลัง”

ปีแรก.. โรงเรียนวังหลังมีนักเรียนถึง 15 คน โดยนอกจากเด็กหญิงชาวบ้านแล้ว แหม่มเฮ้าส์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เจ้านาย และข้าราชบริพารได้รับความไว้วางใจจนข้าราชบริพารหลายท่านส่งธิดามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ อาทิ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (ต้นตระกูลแสง-ชูโต) ซึ่งได้ส่งธิดามาเรียนถึง 4 คน

พ.ศ.2464 โรงเรียนวังหลัง หรือโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง เมื่อย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

ยังมีฝรั่งใจดี มีน้ำใจอีก 1 ท่าน คือ พระอาจวิทยาคม หรือ นายเอส จี แม็คฟาร์แลนด์ ผู้ศรัทธาในพระคริสต์ที่ทำมาหากินในสยาม ได้มอบที่ดิน 1 ผืน ให้โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ในนามภรรยาของท่านจำนวน 17 ไร่ 2 งาน ท่านผู้นี้เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยให้เติบโตมาเช่นทุกวันนี้

ยังมีโรงเรียน โรงพยาบาล ในต่างจังหวัดทั่วประเทศไทยอีกมหาศาลที่ศรัทธาแห่งพระคริสต์มาก่อมาสร้างไว้.. ขออภัยที่มิได้กล่าวถึง..

ราว 70 ปีที่แล้ว (ราว พ.ศ.2490) คุณแม่ของผู้เขียน ก็ได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนของคริสต์ศาสนาในจังหวัดฉะเชิงเทรา อ่าน ท่องคำสวดพระคัมภีร์ได้ เด็กๆ ในเมืองแปดริ้วที่เรียนที่นี่ อ่าน เขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้… แต่เด็กๆ ก็มิได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์แต่อย่างใด

ขอคารวะในแนวทาง คำสอนและศรัทธาของพระคริสต์และบรรดาท่านบาทหลวงทั้งหลายที่วางรากฐาน ทุ่มเทให้การศึกษา การรักษาพยาบาล ความรักแก่เพื่อนมนุษย์ในแผ่นดินไทย…จิตใจท่านประเสริฐยิ่งนัก

การลงทุนให้มนุษย์ได้รับการศึกษา..จะไม่มีคำว่า “ขาดทุน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image