เจ้าชายไซรัส เรซา ปาห์ลาวี มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

อิหร่านหรือเปอร์เซีย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตก มีพื้นที่ 1,648,195 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับที่สองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากซาอุดิอาระเบียเท่านั้น มีประชากร 78.4 ล้านคน อิหร่านเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีชายฝั่งประชิดกับทะเลสาบแคสเปียนซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมหาสมุทรอินเดีย ประเทศอิหร่านมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มาช้านานเนื่องจากที่ตั้งอยู่ในใจกลางยูเรเชียและเอเชียตะวันตก และอยู่ติดกับช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้อันเป็นเส้นทางส่งออกน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิดปกครองประเทศอิหร่านตั้งแต่ พ.ศ.2044-2293 ได้ส่งเสริมศาสนาอิสลามนิกายอิสนาอะชะรียะห์ (สาขาหนึ่งของนิกายชีอะห์) เป็นศาสนาประจำชาติอันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์อิหร่านและมุสลิม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2293 อิหร่านเสียดินแดนหลายส่วนในคอเคซัสให้แก่จักรวรรดิรัสเซียเพื่อนบ้าน จนเกิดการปฏิวัติรัฐธรรมนูญเปอร์เซีย พ.ศ.2449 ซึ่งสถาปนาราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีรัฐประหารที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาปลุกปั่นใน พ.ศ.2496 อิหร่านจึงค่อยๆ กลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกโดยแปรเปลี่ยนเป็นรัฐฆราวาส แต่เป็นเผด็จการภายใต้การนำของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์องค์ที่สองของราชวงศ์ปาห์ลาวี ที่ทำการกดขี่ทางการเมืองภายในประเทศและปล่อยให้อิทธิพลของต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์จากน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของชาติจนทำให้เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2522 ซึ่งทำให้มีการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2522

โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อย่างเป็นทางการ มีภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาราชการและเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมโดยปิดมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อชำระนโยบายทางวัฒนธรรมและระบบการศึกษาทั้งระบบเพื่อให้เหมาะสมกับเป็นรัฐศาสนา (theocracy) ซึ่งปกครองอิหร่านมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 40 ปีแล้ว

การเมืองการปกครองของอิหร่านที่เป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติ ซึ่งนำโดยนักบวชชื่อรูฮุลลอฮ์ โคไมนี ทำให้อิหร่านมีรัฐบาล 2 ระดับ คือระดับปกติที่ปกครองประชาชนในชีวิตประจำวันมีประมุขคือประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนและคณะรัฐมนตรีที่บริหารงานกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งต้องได้ความเห็นชอบจากรัฐสภาและผู้นำสูงสุดแต่มีรัฐบาลระดับพิเศษขึ้นไปอีกระดับหนึ่งแบบโปลิตบูโร ที่ควบคุมรัฐบาลระดับปกติอีกทีโดยมีผู้นำสูงสุดเป็นนักบวชที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็มสามารถปลดประธานาธิบดีและรัฐมนตรีทุกคนได้ พูดง่ายๆ คือรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีก็มีหน้าที่ทำตามคำสั่งผู้นำสูงสุด ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้เพียงสองคนเท่านั้น คือ อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2522 จนถึงแก่กรรมในตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.2532 และอายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อมาถึงปัจจุบัน รวมเวลาถึง 29 ปีแล้วซึ่งตำแหน่งผู้นำสูงสุดและบรรดานักบวชที่แวดล้อมผู้นำสูงสุดนั้นถือว่าทำอะไรไม่ผิดเลย อันเป็นผลจากระบบการศึกษาที่ปลูกฝังความเชื่อนี้ในบรรดาประชาชน

Advertisement

ได้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมาเริ่มต้นในกรุงเตหะราน นครหลวงของอิหร่าน โดยนักศึกษาและคนชั้นกลางในเมืองเป็นแนวหน้าเท่านั้น แต่การจลาจลครั้งใหญ่ทั้ง 4 ครั้ง ก็ถูกกำลังทหารของผู้นำสูงสุดเข้าปราบปรามจนราบคาบ หลังจากนั้นก็ลามเป็นการจลาจลทั่วประเทศ และหลายครั้งเริ่มจากหัวเมืองก่อนเนื่องจากประชาชนอดอยากและค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ทางรัฐบาลอิหร่านได้ขึ้นราคาน้ำมันภายในประเทศถึง 300% รวดเดียวขณะที่อิหร่านส่งทหารออกไปรบนอกประเทศต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากทำให้เกิดการจลาจลใหญ่ทั่วประเทศมีคนตายกว่า 200 คน และบาดเจ็บกว่า 3,000 คน ทำให้รัฐบาลอิหร่านปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อหวังสกัดผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจนโยบายการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาล ซึ่งจัดว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ขณะนี้การจลาจลก็ยังคงไม่สิ้นสุด

ครับ ! แม้ว่าจะมีขบวนการที่จะนำเอาเจ้าชายแห่งอิหร่านที่อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อิหร่านตั้งแต่ พ.ศ.2529 กลับมาเป็นผู้นำในการล้มล้างรัฐบาลแบบรัฐศาสนาของอิหร่านในปัจจุบันเนื่องจากเจ้าชายไซรัส เรซา ปาห์ลาวี ได้ประกาศตนเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์อิหร่านตามสิทธิเมื่อ พ.ศ.2523 แม้ว่าความเป็นไปได้จะน้อยมากก็ตามเนื่องจากพระองค์แทบจะไม่มีฐานเสียงสนับสนุนภายในประเทศอิหร่านเลย แต่สำหรับชาวอิหร่านที่อยู่นอกประเทศแล้วพระองค์ก็เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะพวกชาวอิหร่านที่ลี้ภัยจากการปกครองแบบรัฐศาสนาของอิหร่านเหมือนพระองค์

เจ้าชายไซรัส เรซา ปาห์ลาวี มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2503 ปัจจุบันอายุ 59 ปี เป็นโอรสของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กับพระราชินีฟาราห์ ปาห์ลาวี พระองค์ได้ลี้ภัยมายังสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2533 หลังการเกิดปฏิวัติอิสลาม และอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน พระองค์จบรัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ทรงสมรสเมื่อ พ.ศ.2528 มีพระธิดา 3 พระองค์

Advertisement

ก็ต้องคอยดูกันต่อไปละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image