สถานีคิดเลขที่ 12 : ซึมเศร้า โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ความตายจากอาการซึมเศร้าในวงการบันเทิงเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งของไทยและเกาหลีใต้

กรณีของไทย ข่าวการจบชีวิตตนเองของนักแสดงชายและนักร้องชาย 2 คนในปีนี้ เน้นไปที่เรื่องสุขภาพจิต ความบอบช้ำทางจิตใจของตัวบุคคล มากกว่าการมองภาพรวมทางสังคมแบบเกาหลี

อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาจากนักแสดงของไทยที่เป็นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มีทั้งผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการให้คนอื่นเห็น หรืออาจพยายามจบชีวิตตนเองมาแล้วหลายครั้ง

คล้ายกับข่าวผู้ป่วยซึมเศร้าอื่นๆ ที่น่าสังเกตว่ามีมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม จนทำใจให้เข้มแข็งต่อไปไม่ได้

Advertisement

กรณีเกาหลี เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ของวงการและแตกหัวข้อการถกเถียงหลายเรื่อง เนื่องจากนักร้องสาวเคป๊อป 2 คนที่จบชีวิตตนเอง มีชื่อเสียงมาก เคยตกเป็นข่าวหรือเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้าโศกนาฏกรรม

ส่วนดาราดาวรุ่งชายถูกพบเสียชีวิตในลักษณะเดียวกัน คาดว่าเป็นอีกหนึ่งรายที่มีต้นตอมาจากโรคซึมเศร้า ตอกย้ำแรงกดดันทางสังคมและวัฒนธรรมของเกาหลีเอง เคป๊อปเกาหลีเป็นวัฒนธรรมและการส่งออกความบันเทิงใหญ่ของเกาหลีใต้ ชื่อเสียงของนักร้องเกาหลีไม่เพียงกระจายในเอเชีย แต่ยังขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก รวมถึงอเมริกาเหนือและยุโรป

เมื่อดังมากๆ ก็ยิ่งกดดันมาก การจะปั้นใครมาเป็นดารานักร้องจึงเป็นการลงทุนใหญ่ทั้งของตัวบุคคลและของบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่

Advertisement

ชีวิตของคนคนนั้นจึงถูกกำหนดด้วยตารางการซ้อมเต้น ซ้อมแสดง อาหารการกิน ศัลยกรรมความงาม การฝึกบุคลิก ฯลฯ ให้ดูเป๊ะ สมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง

บางคนต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ทำให้เวลาพักผ่อนและสำรวจจิตใจตัวเองมีไม่มาก

ซีเอ็นเอ็น สื่อดังของอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีกดดันให้ดารานักร้องเหล่านี้ต้องแสดงออกเฉพาะด้านที่มีความสุขเท่านั้น
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

กรณีของ คู ฮารา และ ซอลลี มีลักษณะคล้ายกันตรงที่เป็นผู้หญิงกล้าพูด ในที่นี้คือพูดตามที่คิด พูดถึงปัญหาสังคม และพูดสิ่งที่ทำผิดพลาดในชีวิต

อย่างซอลลีพูดสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ส่วนคู ฮารา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับแฟนเก่าที่ขู่จะเอาคลิปสวาทของเธอมาเผยแพร่ รวมถึงกล้าบอกว่าตนเองป่วยโรคซึมเศร้าด้วย

การแสดงออกของสาวทั้งสองมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ชอบใจ และวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองเสียๆ หายๆ เกิดเป็นประเด็นที่ทั้งสองถูกบูลลี่ หรือรุมรังแกด้วยถ้อยคำหยามเหยียดเกลียดชังทางโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าเป็นสาเหตุซ้ำเติมอาการซึมเศร้า

ความตายของทั้งสอง จึงเหมือนการเปิดแผลวงการบันเทิงของเกาหลีอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ทำนองนี้ซาไปพักหนึ่ง

และยังทำให้เกาหลีหวนกลับมาพูดถึงปมที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ ทั้งด้านวัตถุทางเพศ และสถานะที่ด้อยกว่า ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

เมื่อเทียบกับสังคมไทยแล้ว แรงกดดันนี้มีน้อยกว่า แต่คงต้องช่วยกันระมัดระวัง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ของไทยที่เป็นสนามการแสดงความคิดเห็นที่ดุเดือด

ไม่ให้กลายเป็นด้านมืดจนเกินไป

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image