มโนกรรม

ในโลกของความเป็นจริง ชีวิตของคนไม่เหมือนโลกของนิยาย หรือหนังการ์ตูน ที่ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขชีวิตนิรันดร์ หนีไม่พ้นไปจากความจริงที่ว่า ชีวิตนี้มีแต่ความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์แบบและไม่น่าพอใจ เพราะ “ความทุกข์” มีอยู่จริง

พระพุทธเจ้าท่านทรงพบว่า “ความทุกข์” ของคนเรานั้นไม่ได้เกิดได้โดยบังเอิญ แต่มีสาเหตุอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย แล้วแต่มีเหตุอันเป็นที่มาทั้งสิ้น

ถ้าจริงดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะตัดเสียแต่ต้นลม เพื่อจะได้ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุก็จนปัญญาที่เราจะไปหาทางบังคับควบคุม ถ้าเป็นเช่นนั้นเราคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากล้มเลิกความพยายามที่จะหาทางดับทุกข์นั้นเสีย หรือหากความทุกข์นั้นเกิดจากแรงบันดาล ของสิ่งศักดิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้ เราก็จะไปเซ่นไหว้ บวงสรวงให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอใจ เพื่อท่านจะได้ไม่ทำให้เป็นทุกข์อีกต่อไป

ในทางพระพุทธศาสนา ทุกข์และสุข เป็นปรากฏการณ์ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุอันเป็นที่มาของเหตุทั้งสิ้นจึงเกิดผล…

Advertisement

“กรรม” คือ กฎของเหตุและผลนี้เป็นกฎสากลและเป็นกฎพื้นฐานของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราเสียทีเดียว

“กรรม” เมื่อเอ่ยถึงกรรมมักจะเข้าใจผิดๆ ว่า หมายถึง “โชคชะตา” ซึ่งเป็นความหมายที่เพี้ยนไปจากคำว่า “กรรม” ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้โดยสิ้นเชิง “โชคชะตา” เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เป็นพรหมลิขิตของแต่ละคนที่ถูกกำหนดมาล่วงหน้า ส่วน “กรรม” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “การกระทำ” การกระทำของเราเองต่างหากที่เป็นเหตุให้เราได้รับของกรรมนั้นดังพุทธพจน์ ที่ว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้” ทุกสิ่งที่เราประสบในชีวิต ล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของตัวเราเองทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถกำหนด “อนาคต” ด้วยการควบคุม “การกระทำของตนเอง” แต่ละคนต้องรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นเหตุให้ตนต้องเป็นทุกข์ และต่างก็สามารถเข้าถึงวิธีดับทุกข์ได้เช่นกันดังพุทธพจน์ ที่ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนแลเป็นทางไปของตน”

เราแต่ละคนเปรียบเหมือนคนที่ถูกปิดตา แล้วต้องมาขึ้นรถที่แล่นไปบนถนนทางหลวงด้วยความเร็วสูง มีรถวิ่งขวักไขว่ทั้งๆ ที่ขับรถไม่เป็นจึงไม่มีทางที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ เราอาจคิดว่าตัวเองกำลังขับรถ แต่แท้จริงแล้วรถต่างหากที่กำลังขับเราอยู่ ดังนั้น หากไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงการไปให้ถึงที่หมาย เราก็ควรเอาผ้าปิดตาออกแล้วเรียนรู้วิธีการบังคับรถ เพื่อขับรถออกไปให้พ้นจากอันตรายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

Advertisement

นั่นคือ เราต้องฝึกให้มี “สติ” รู้ในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ทุกขณะ และฝึกทำแต่สิ่งที่จะนำเราไปยังจุดหมายที่ต้องการ

ว่าด้วย “กรรม” หรือ “การกระทำ” มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.กายกรรม คือ การกระทำทางกาย 2.วจีกรรม คือ การ กระทำทางวาจาด้วย…“คำพูด” 3.มโนกรรม คือ การกระทำทางใจ ด้วย…“ความคิด” ตามปกติคนทั่วไปให้ความสำคัญกับการกระทำทางกายรองลงมา คือ การกระทำทางวาจา และให้ความสำคัญน้อยที่สุดกับการ กระทำทางใจ

โดยทั่วไปสำหรับเราหรือเขา…การทุบตีใครสักคนดูจะเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าการพูดดูถูกขา และการกระทำทั้งสองอย่างนั้นดูรุนแรงมากกว่าการมุ่งร้ายแค่อยู่ในใจ แน่นอนว่านี่เป็นมุมมองในเชิงกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติกันขึ้นมาในแต่ละประเทศ

แต่ตามหลักของ “ธรรมะ” ซึ่งเป็น “กฎของธรรมชาติ” แล้ว “มโนกรรม” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนกายกรรม หรือวจีกรรม จะพิจารณารุนแรงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ในการกระทำนั้น

เปรียบดังกรณีที่ “หมอผ่าตัด” ใช้มีดผ่าตัดท้องคนไข้เพื่อช่วยชีวิต แต่โชคร้ายคนไข้รายนี้ตาย กับกรณีคนร้ายใช้มีดแทงไปที่ท้องของเหยื่อจนถึงแก่ความตาย ทั้งหมอและคนร้ายต่างกระทำกายกรรมอย่างเดียวกัน โดยผลการกระทำเหมือนกัน คือ “ทำให้คนไข้ตาย” แต่ “เจตนา” ของหมอและคนร้ายต่างกันคนละขั้ว

กล่าวคือ หมอกระทำด้วยเจตนาที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี ส่วนคนร้ายมีเจตนามุ่งร้ายต่อเหยื่อ ดังนั้นผลของกรรมของคนทั้งสองย่อมแตกต่างกัน ทั้งนี้สำคัญอยู่ที่…“เจตนา”

ผลของ “วจีกรรม” ก็ขึ้นอยู่กับ “มโนกรรม” หรือ “เจตนา” เช่นเดียวกัน เช่น ชายคนหนึ่งมีปากเสียงกับเพื่อร่วมงาน แล้วบันดาลโทสะด่าเพื่อนคนนั้นว่า “ไอ้โง่” ชายคนเดียวกันนั้นเมื่อเห็นลูกของตนออกไปเล่นโคลนจนเลอะเทอะทั้งตัว กลับเรียกลูกด้วยความเอ็นดูว่า “ไอ้โง่” ในสองกรณี ชายผู้นี้ใช้คำพูดเดียวกัน แต่ด้วยความตั้งใจที่ตรงกันข้าม “เจตนา” ในการกล่าววาจานั้นเป็นตัวกำหนดของการกระทำ การกระทำทางกายและการ กระทำทางวาจาเป็นเพียงการแสดงออกของการกระทำทางใจเท่านั้น “มโนกรรม” จึงเป็นกรรมที่แท้จริง เป็นเหตุที่ส่งผลให้เกิดผลในอนาคตด้วยความเข้าใจใน “สัจธรรม” ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า…

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ หากบุคคลกระทำการใดไม่ว่าจะโดยทางกายหรือวาจาด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์ ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขาเหมือน “ล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค”

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ หากบุคคลกระทำการใดไม่ว่าจะโดยทางกายหรือวาจาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ความสุขย่อมตามสนองเขาเหมือน “เงาติดตามตัว”

สาเหตุของความทุกข์ : “มโนกรรม” ใดเล่าที่กำหนด “ชะตากรรมของเรา” ถ้าจิตประกอบด้วย นามขันธ์ 4 คือ… “วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร” แล้วส่วนใดของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์? แท้จริงแต่ละส่วนของจิตต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดทุกข์ในระดับหนึ่ง

สามส่วนแรก คือ วิญญาณ สัญญา เวทนา ทำงานในเชิงรับ เช่น วิญญาณ ทำหน้าที่เพียงรับรู้ข้อมูลขั้นต้นที่เข้ามา สัญญา เป็นส่วนที่จำได้ หมายรู้ จัดข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เวทนา เป็นส่วนรับรู้ความรู้สึก แล้วส่งปัญญาญาณ ว่าวิญญาณ สัญญา เกิดขึ้นแล้ว จิตทั้งสามส่วนแรกจึงทำหน้าที่เพียงย่อยข้อมูลที่รับเข้ามานั้น ต่อเมื่อจิตเริ่มปรุงแต่งตอบโต้ จากนิ่งเฉยกลายเป็นชอบหรือชัง อยากได้หรือผลักไส ปฏิกิริยาปรุงแต่งนี้ก่อให้เกิดกระบวนการต่างๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ โดยมี “สังขาร” นี้เองเป็นจุดเริ่มต้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า ทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย เมื่อสังขารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือทุกข์จึงไม่เกิด “กรรม” ที่แท้จริงหรือสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ คือ ปฏิกิริยาปรุงแต่งของจิต ด้วยการตอบโต้ด้วยความชอบหรือชังเพียงแวบเดียว อาจไม่รุนแรงหรือส่งผลมากนั้น แต่ก็ทำให้เกิดการสะสมของสังขารซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอาจเพิ่มความเข้มข้นในแต่ละครั้งจนกลายเป็นความอยากหรือความไม่อยาก พระพุทธเจ้าทรงเรียกสิ่งนี้ว่า “ตัณหา” มีความหมายตามตามตัวอักษรว่า “ความกระหาย” อันเป็นนิสัยของจิตที่มีความอยากไม่สิ้นสุด ในสิ่งที่ตนไม่มี ไม่เป็น ซึ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจในสิ่งที่มี ยิ่งความอยากนี้รุนแรงมากเท่าใดก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อ “ความคิด คำพูด และการกระทำทางกาย” ของเรามากเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้มีทุกข์มากขึ้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สังขารมีอยู่ 3 ชนิด 1) ชนิดแรก เสมือนขีดเส้นลงบนผิวน้ำเมื่อขีดแล้วก็จะจางหายไปในทันที 2) ชนิดสอง เสมือนการขีดลงบนทรายเราขีดมันไปตอนเช้า ตอนตกเย็นก็จะเลือนหาย เพราะถูกกลบด้วยคลื่นหรือลม 3) ชนิดสาม เปรียบเสมือนการใช้สิ่วและค้อนสลักลงไปบนแผ่นหิน ซึ่งกว่าจะลบรอยได้ต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก จนกว่าหินก้อนนั้นจะผุกร่อนไปเอง

ในแต่ละวันจิตต้องสร้าง “สังขาร” ขึ้นมานับไม่ถ้วน ถ้าจะลองทบทวนก่อนเข้านอนว่า วันนี้เราได้สร้างสังขารอะไรบ้าง ก็อาจจะจำได้เพียง 1 หรือ 2 เรื่องเท่านั้นที่เรา “ฝังใจ” มากที่สุด เช่นเดียวกันเมื่อถึงสิ้นปีที่เราอาจพบว่ามีเพียง 1 หรือ 2 เรื่องที่ขีดรอยฝังลึกลงในจิต “สังขาร” ที่ฝังลึกว่านั้นมีอันตรายมากเพราะจะนำไปสู่ “ความทุกข์” อย่างแสนสาหัส

แนวทางการปลดทุกข์ให้หลุดพ้นมีสองก้าว ดังนี้ : ก้าวแรกที่จะนำเราออกไปให้พ้นจากความทุกข์นี้ได้ทำอย่างไร? ประการแรก คือ การยอมรับความจริงเกี่ยวกับความทุกข์มิใช่เพิ่มการยอมรับในปรัชญาหรือยอมรับในศรัทธา แต่ต้องยอมรับว่า “ความทุกข์” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมีผลกระทบต่อเราทุกคน การยอมรับและเข้าใจว่า ความทุกข์คืออะไร เหตุใดเราจึงมีความทุกข์

ก้าวที่ 2 จะเปลี่ยน “เรา” จากผู้ถูกขับเคลื่อนให้กลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเสียเอง การฝึกสังเกตความจริงภายในตนเอง คือ สิ่งที่จะช่วยให้เราก้าวเดินไปบนหนทางแห่งความหลุดพ้น

อุปมาอุปไมย ในผืนแผ่นดินเดียวกันชาวไร่หว่านเมล็ดพันธุ์ 2 ชนิดลงไป ชนิดหนึ่งเป็นเมล็ดของอ้อยซึ่งมีรสหวาน อีกชนิดหนึ่งเป็นเมล็ดสะเดาซึ่งมีรสขม เมล็ดสองชนิดปลูกอยู่ในดินผืนเดียวกัน ได้รับน้ำ แสงแดด อากาศเหมือนกัน ธรรมชาติให้สิ่งหล่อเลี้ยงอย่างเดียวกันแก่เมล็ดทั้งสอง เมื่อต้นกล้างอกออกมาและเติบโต “ต้นสะเดา” จะเป็นอย่างไร ทุกๆ เส้นใยของมันจะมีแต่รสขม ขณะที่ทุกๆ เส้นใยของต้นอ้อยก็จะมีแต่รสหวาน ทำไมธรรมชาติ (หรือพระเจ้า) จึงเมตตาต่อต้นอ้อยและโหดร้ายต่อสะเดา

แท้จริงแล้วไม่มีใครเมตตาหรือโหดร้ายต่อใคร “กฎธรรมชาติ” หรือ “ธรรมะ” เป็นเช่นนี้เอง ธรรมชาติเพียงแต่สนับสนุนและหล่อเลี้ยงให้พันธุ์พืชได้แสดงคุณภาพที่มีอยู่ในตัวมันออกมาเท่านั้นเอง “คุณภาพ” ที่มีอยู่ในตัวอ้อย คือ รสหวาน อ้อยจึงหวาน ส่วนคุณภาพในเมล็ดสะเดา คือ รสขมสะเดา จึงมีรสขม เพราะเมล็ดเป็นอย่างนี้…ดอก ผลจึงเป็นอย่างนี้

ถึงแม้ชาวไร่จะเดินวนที่ต้นสะเดา 1,000 รอบ ก้มกราบ 3-10 ครั้ง พร้อมเซ่นไหว้ด้วยดอกไม้ธูปเทียนและของหวานอ้อนวอนด้วยน้ำตา ภาวนาขอให้ดลบันดาลต้นสะเดานี้ ออกเป็นมะม่วงหวานให้ข้าฯ ด้วยเถิด ต่อให้อ้อนวอนจนตลอดชีวิตต้นสะเดาก็ยังเป็นต้นสะเดาไม่ออกเป็นมะม่วงหวานให้ได้หรอก ถ้าต้องการมะม่วงรสหวานจริงๆ เขาก็ต้องปลูกด้วยเมล็ดของมะม่วงหวานเท่านั้น… ทั้งนี้ ปัญหาและความโง่เขลาหรือ “อวิชชา” ของเราก็คือ ขณะที่เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ เราละเลยที่จะใส่ใจว่ากำลังปลูกเมล็ดพันธุ์อะไร เมื่อเราเอาแต่ปลูกเมล็ดพันธุ์ของสะเดา เมื่อเวลาให้ผลกลับอยากได้มะม่วงรสหวาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าจะร้องคร่ำครวญอ้อนวอนอย่างไร!…

อนึ่ง…ท้ายสุดนี้ผู้ที่ยังไม่ได้เคยเข้าหรือผ่านการอบรมฝึกปฏิบัติ…“วิปัสสนากรรมฐาน” ใดๆ เลย ผู้เขียนขอแนะนำว่า…หากผู้ที่ได้เรียนรู้วิธีฝึกจิตให้สามารถ…“เฝ้าระวังดูตัวเอง” ในทุกขณะจิตประหนึ่งที่เรียกว่า “ระลึกรู้ลมหายใจ” เข้า-ออก ในชีวิตประจำวันได้ทุกเวลาที่ต้องการซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติด้วยการหลับตาทั้งวันตลอดชีวิต แต่จะเป็นเสมือนการออกกำลังที่ช่วย… “สร้างเสริมสุขภาพร่างกาย” ให้แข็งแรง การฝึกจิตก็จะช่วยให้มีจิตที่เข้มแข็งเช่นเดียวกัน สิ่งที่ท่านเรียกว่า…การกระทำอย่างเป็นอิสระหรือเป็นธรรมชาตินั้น แท้จริงแล้วเป็นการตอบโต้แบบมืดบอดมีแต่อันตราย เมื่อได้เรียนรู้แล้วจะสังเกตตนเอง ทุกท่านที่ผ่านการฝึกปฏิบัติทางจิตที่เข้มแข็งมี “สติ” ตลอดเวลาเสมอ จะสามารถประคองจิตได้สมดุลได้รู้เท่าทันทำให้สามารถเลือกที่จะปฏิบัติอย่างเป็น “อิสระ” และถูกต้องเป็นการปฏิบัติจริงๆ ที่จะดำเนินไปในทางที่ดี ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชน สังคมและประเทศชาติเราในที่สุดนะครับ

หากทุกๆ ท่านสนใจและใฝ่หาเข้าสู่ “ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา สติ สมาธิ ปัญญา” นั่นคือ “ไตรสิกขา” ในปีใหม่ เป็นบัตรอวยพรความสุข 2563 ส่งให้ตัวเรา โดยการสร้างชีวิตที่ดีให้ตัวเราด้วยการเข้าฝึก “วิปัสสนากรรมฐาน” ด้วยตัวเราเองเพื่อตัวเราเองเดี๋ยวนี้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image